รอยเตอร์ - สหรัฐฯ ตัดสินใจถอดไทยพ้นจากบัญชีเฝ้าระวังด้านการค้ามนุษย์ รอยเตอร์อ้างคำกล่าวของเจ้าหน้าที่อเมริกาในวันอังคาร (28 มิ.ย.) ความเคลื่อนไหวที่อาจช่วยให้ความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารของกรุงเทพฯ ราบรื่นขึ้น
การปรับขึ้นอับดับของไทยในรายสถานการณ์ค้ามนุษย์ครั้งนี้ ที่รอยเตอร์ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ในวอชิงตันและเจ้าหน้าที่ขององค์กรระหว่างประเทศแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งรับรู้โดยตรงเกี่ยวกับการจัดอันดับ จะเป็นตัวส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับกรุงเทพฯ ที่ไม่พบเห็นบ่อยนัก ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติไม่ราบรื่นนักนับตั้งแต่กองทัพไทยก่อรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2014 ที่เรียกเสียงประณามอย่างรุนแรงจากวอชิงตัน
ขณะเดียวกัน การปรับขึ้นครั้งนี้ยังมีขึ้นในขณะที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา กำลังพยายามหล่อหลอมแนวร่วมในบรรดาชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อต่อต้านความพยายามอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาเขตในทะเลจีนใต้ของจีน
กรุงเทพฯ ประท้วงวอชิงตันอย่างเปิดเผยว่าพวกเขาควรถูกถอดพ้นจากอันดับต่ำสุดของรายสถานการณ์ค้ามนุษย์ (TIP) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีกำหนดเผยแพร่ในวันพฤหัสบดี (30 มิ.ย.)
รอยเตอร์อ้างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คาดหมายว่า ในรายงานดังกล่าวจะอ้างถึงความพยายามของไทยในการปรับปรุงด้านต่างๆ สำหรับต่อสู้กับการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารทะเลมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์อันสำคัญของประเทศ
การยกระดับครั้งนี้ ไทยจะถูกปรับขึ้นสู่บัญชีจับตามอง “เทียร์ 2” และถอดพ้นจากอันดับประเทศที่มีประวัติการค้ามนุษย์ขั้นเลวร้ายหรือที่เรียกว่า “เทียร์ 3”
ไทยถูกปรับลดสู่ระดับต่ำสุดในเดือนมิถุนายน 2014 ไม่กี่สัปดาห์หลังจากกองทัพยึดอำนาจ แต่เจ้าหน้าที่ของไทยเดือดดาลเมื่อปีที่แล้ว หลังมาเลเซียได้รับการปรับอันดับขึ้นพ้นเทียร์ 3 ผิดกับไทย แม้ว่าองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ เห็นพ้องต้องกันว่ากรุงเทพฯ มีความพยายามควบคุมการค้ามนุษย์มากกว่ากัวลาลัมเปอร์เสียอีก
จอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ปฏิเสธความคิดเห็นต่ออันดับในรายสถานการณ์ค้ามนุษย์ โดยระบุว่า “เราจะไม่แสดงความคิดเห็นต่อเนื้อหาในรายงานของปีนี้จนกว่ารายงานจะถูกเผยแพร่ออกมา” เขากล่าว