xs
xsm
sm
md
lg

การจารกรรมของฝ่ายจีนทวีจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: บิล เกอร์ตส์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Chinese espionage and intelligence activities at all time high, experts say
By Bill Gertz
14/06/2016

ปฏิบัติการข่าวกรองของจีนที่ดำเนินงานทั่วโลก ถูกสหรัฐอเมริกาเล่นงานอย่างต่อเนื่อง และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมาธิการคณะหนึ่งของสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกา ได้เชิญบรรดาผู้เชียวชาญเข้าให้ปากคำ การรายงานข่าวหลังจากนั้นได้มีการอ้างคำพูดของผู้เชี่ยวชาญเพื่อโจมตีปฏิบัติการข่าวกรองของจีน ว่ามีการขโมยข้อมูลสำคัญทั้งในรูปแบบที่ใช้เทคนิคฝีมือของสายลับ และรูปแบบการโจมตีในโลกไซเบอร์ พร้อมกันนี้ ยังมีการลงความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นภัยคุกคามที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ปฏิบัติการข่าวกรองของจีนที่ดำเนินงานทั่วโลก เพื่อโจรกรรมข้อมูลข่าวสารสำคัญๆ ทั้งด้วยวิธีการใช้สายลับที่เป็นมนุษย์ และด้วยการโจมตีทางไซเบอร์นั้น กำลังเป็นภัยคุกคามที่เพิ่มสูงขึ้นทุกที

ทั้งนี้ มีการให้ข้อมูลว่า สายลับของปักกิ่งซึ่งปฏิบัติการผ่านเครือข่ายของกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐบาลจีน และสำนักข่าวกรองแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน หรือ IB เล่นงานสหรัฐฯ ในเรื่องสำคัญๆ หลายสิบเรื่อง โดยที่ว่าในส่วนของการจารกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การขโมยความลับทางการค้าและเทคโนโลยีระดับสูงนั้น อยู่ในระดับที่สูงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาเมื่อก่อนหน้านี้

ดราม่าว่าด้วยการจารกรรมเทคโนโลยีดังกล่าวหวนกลับมาเป็นหัวข้อโจษจันกันหนักหนาในสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อนาง Wenxia Man สตรีอเมริกันเชื้อสายจีนชาวเมืองซานดิเอโก ถูกพิพากษาว่ามีความผิดจากการสมคบคิดที่จะส่งเครื่องยนต์เจ็ตไอพ่นเพื่อการรบ และอากาศยานโดรน ไปยังประเทศจีน

หลักฐานจากการไต่สวนคดีดังกล่าวนี้ถูกนำมาอธิบายว่า นางม่านได้สมคบคิดกับนาย Xinsheng Zhang ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศจีน ในอันที่จะซื้อหาครอบครอง เครื่องยนต์เจ็ตไอพ่นและอากาศยานโดรนด้วยวิธีที่ผิดกฎหมายเพื่อจัดส่งไปยังประเทศจีน ทั้งนี้ สินค้ามีทั้งสิ้น 3 รายการ ได้แก่ เครื่องยนต์เจ็ตไอพ่น F135-PW-100 ซึ่งผลิตโดยบริษัทแพรทท์แอนด์วิทนีย์ อันเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้ในเครื่องบินขับไล่โจมตีร่วม F-35 Joint Strike Fighter กับเครื่องยนต์ F110-GE-132 ซึ่งผลิตโดยบริษัทเจนเนอรัล อิเล็คทริค (จีอี) โดยเครื่องยนต์ดังกล่าวนี้ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับเครื่องบินขับไล่ไอพ่น F-16 fighter jet นอกจากนั้น รายการที่สามที่เตรียมจะส่งไปยังประเทศจีน คือ อากาศยานไร้คนขับ General Atomics MQ-9 Reaper/Predator B ซึ่งสามารถติดเขี้ยวเล็บคือขีปนาวุธ Hellfire ได้

รายงานข่าวให้รายละเอียดว่านางม่านแจ้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบว่า นาย Zhang เป็นสปายสายลับด้านเทคโนโลยีซึ่งทำงานให้ทหารจีน โดยมีภารกิจที่จะลอกแบบวัตถุอุปกรณ์ทางการทหารต่างชาติที่ได้รับมาจากภายนอกประเทศ

ระบุตัวสายลับจีนได้แล้ว 160 คน

ศูนย์ต่อต้านข่าวกรอง หรือ CI Center อันเป็นแหล่งรวมทีมนักคิดนักวางแผนของสหรัฐฯ เปิดเผยว่าในช่วงระหว่างปี 2002 ถึง 2016 ศูนย์สามารถระบุตัวสายลับจอมจารชนจีนที่แฝงตัวปฏิบัติการลับอยู่ในสหรัฐฯ ได้แล้ว 160 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยกว่ากลุ่มสายลับจอมจารชนรัสเซียเพียง 1 คน ในจำนวนนี้ มีเยอะเลยที่เกี่ยวข้องอยู่กับการขโมยความลับทางอุตสาหกรรมและการค้าที่เป็นประโยชน์แก่กองทัพจีน

ศูนย์ CI ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับในไต้หวัน ได้มีการค้นพบจารชนจีนแผ่นดินใหญ่แล้วทั้งสิ้น 56 นายภายในช่วงเดียวกัน โดยในหลายปีที่ผ่านมา ทางการไต้หวันสืบพบเปิดโปงสปายที่ปฏิบัติการระดับสูงในด้านการต่อต้านรัฐบาลไต้หวันได้เป็นจำนวนมาก

ในการนี้ ผู้อำนวยการศูนย์ CI นายเดวิด เมเจอร์ อดีตสายลับเอฟบีไอ กล่าวว่า “ปัจจุบันนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นภัยคุกคามด้านข่าวกรองที่ร้ายแรงที่สุดที่สหรัฐฯ เผชิญอยู่”

ทั้งนี้ นายเมเจอร์เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่เข้าให้ปากคำต่อกรรมาธิการพิจารณาทบทวนด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างสหรัฐ-จีน แห่งรัฐสภาอเมริกัน และเขาเป็นผู้ที่ฟันธงชัดเจนว่า สาเหตุที่ถือว่าจีนเป็นภัยคุกคามด้านการจารกรรมอย่างร้ายแรงเป็นเพราะรัฐบาลปักกิ่งได้ผนวกรวมทั้งวิธีที่ใช้เทคนิคฝีมือของสายลับ และวิธีโจมตีในโลกไซเบอร์เข้าด้วยกัน เพื่อความสำเร็จในการขโมยความลับและข้อมูลข่าวสารอื่นๆ

“การสืบสวนสอบสวนโดยเอฟบีไอ และตลอดจนการที่เอฟบีไอเข้าไปจับกุมปราบปรามการจารกรรมด้านอุตสาหกรรมและการละเมิดกฎหมายควบคุมการส่งออกสิ่งต้องห้าม ที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้นับว่ามีจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยที่ว่าส่วนใหญ่นั้นเป็นกรณีที่เชื่อมโยงไปถึงรัฐบาลจีน” กล่าวโดยนายมิเชล แวน คลีฟ อดีตผู้อำนวยการการต่อต้านข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งเป็นตำแหน่งงานระดับอาวุโสของรัฐบาลสหรัฐฯ ในด้านการปราบปรามสายลับ

มีข้อมูลสถิติสนับสนุนเรื่องนี้อยู่ว่า ในช่วงจากปี 2014 ถึงปี 2015 คดีการจารกรรมทางเศรษฐกิจในการสืบสวนสอบสวนของเอฟบีไอพุ่งขึ้น 53% ขณะที่จำนวนเคสที่อยู่ระหว่างดำเนินการนั้นมีนับเป็นหลายร้อยเคส

ด้านนักวิเคราะห์จีนศึกษาแห่งมูลนิธิเจมส์ทาวน์ นามปีเตอร์ แมททิส กล่าวเตือนว่าสายลับของจีนมักที่จะเลือกเป้าหมายเป็นคนหนุ่มสาวที่เดินทางไปเยือนจีน

สรรหานักศึกษาไว้ทำประโยชน์ในอนาคต

“ตลอดช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา หน่วยงานข่าวกรองของจีนได้แสดงให้เห็นกันครั้งแล้วครั้งเล่าถึงความมุ่งมั่นที่จะสรรหานักศึกษาและใครต่อใครในประเทศจีน ซึ่งน่าจะสามารถเข้าไปอยู่ในหน่วยงานภาครัฐ โดยหวังจะสามารถเข้าถึงจุดสำคัญต่างๆ ได้ในอนาคต” นายแมททิสกล่าว

นายเมเจอร์ นายแวนคลีฟ และนายแมททิสเป็นส่วนหนึ่งของผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวกรองจำนวนมากที่มาให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านข่าวกรองของจีนในช่วงการจัดไต่สวนโดยกรรมาธิการพิจารณาทบทวนด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างสหรัฐ-จีน แห่งสภาคองเกรส เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

นายแวนคลีฟกล่าวว่าคดีของการจารกรรมที่จีนสร้างความเสียหายร้ายแรงที่สุดนั้น เกิดขึ้นมานานกว่า 20 ปี โดยเป็นกรณีที่ผู้แปรพักตร์จากจีนมาเปิดเผยว่าความลับเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ถูกจารชนล้วงออกไป

ทั้งนี้ อาชญากรรมดังกล่าวซึ่งยังเป็นปริศนาดำมืดอยู่จนทุกวันนี้ เริ่มจากการที่ทางการสหรัฐฯ ตั้งข้อกล่าวหาจารกรรมเล่นงานดร. Wen Ho Lee นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายไต้หวัน ซึ่งทำงานในห้องปฏิบัติการแห่งชาติ ลอส อลามอส หรือ Los Alamos National Laboratory

(ดร. Wen Ho Lee เกิดและเติบโตในไต้หวันและได้รับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมเครื่องยนต์ในปี 1963 หลังจากนั้นสองปี จึงไปศึกษาระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม ในสหรัฐฯ จนกระทั่งได้รับปริญญาเอกวิศวกรรมเครื่องยนต์ โดยเป็นผู้ชำนาญด้านกลศาสตร์ของไหล ในปี 1969 และได้รับสัญชาติอเมริกันในปี 1974 ต่อมาในปี 1978 ถึง 1999 ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติงานกับห้องปฏิบัติการแห่งชาติ ลอส อลามอส หรือ Los Alamos National Laboratory ในภารกิจการออกแบบอาวุธ โดยเขาได้สร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์แสดงสถานการณ์จำลองของการระเบิดของนิวเคลียร์เพื่อปรับปรุงความปลอดภัยของคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคม ปี 1999 ดร.ลีถูกจับกุมคุมขังและดำเนินคดีรวม 59 ข้อหา โดยที่คณะลูกขุนใหญ่ของรัฐบาลกลางฟ้องร้องว่าเขาขโมยความลับเกี่ยวกับคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ไปให้แก่จีนแผ่นดินใหญ่ อย่างไรก็ตาม ทางการสหรัฐฯเป็นฝ่ายที่ล้มเหลวในการพิสูจน์ข้อกล่าวหา หลังจากนั้น รัฐบาลได้ดำเนินการไต่สวนแยกส่วนออกมา โดยลงเอยว่าสามารถเล่นงานเขาได้เพียงข้อหาเดียว กล่าวคือข้อหาที่ว่าเขาดูแลข้อมูลหวงห้ามอย่างไม่เหมาะสม อันเป็นข้อหาที่เขายอมลงนามรับว่ามีความผิดเพื่อยุติคดี รายละเอียดของข้อกล่าวหานี้มีอยู่ว่า เขานำข้อมูลการศึกษาวิจัยของเขามาบันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์ที่บ้านซึ่งเขาใช้ทำงานนอกเวลาทำการ เมื่อเขาพ้นจากการถูกจับกุมคุมขังดำเนินคดีแล้ว เขาได้เขียนหนังสือชื่อว่า My Country Against Me เมื่อประเทศของผมดำเนินคดีผม เขาชี้ประเด็นว่าเขาเป็นเหยื่อการใช้ความรุนแรงจากอคติเหยียดผิว นอกจากนั้น เขาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลกลาง และจากสื่อมวลชน 5 เจ้า ที่นำเสนอข่าวเกี่ยวกับเขาพร้อมระบุชื่อของเขาในข่าว โดยที่เขายังไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างเป็นทางการ ในเดือนมิถุนายน 2006 เขาได้รับเงินชดเชยรวม 1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการยอมความในทางแพ่ง นอกจากนั้น ผู้พิพากษาเจมส์ เอ. ปาร์กเกอร์ ยอมขอขมาเขาที่ได้ตัดสิทธิ์มิให้เขาได้รับการประกันตัวและสั่งกุมขังเขาแบบขังเดี่ยว – ข้อมูลจากวิกิพีเดีย โดยผู้แปล)

“(จีน)ขโมยข้อมูลการออกแบบเกี่ยวกับอาวุธเทอร์โมนิวเคลียร์แบบก้าวหน้าทุกอย่างของสหรัฐฯ” นายแวนคลีฟกล่าว พร้อมบอกว่า “รวมทั้งข้อมูลหัวรบเทอร์โมนิวเคลียร์ที่อยู่ในคลังแสงสรรพาวุธซึ่งเก็บรักษาขีปนาวุธของสหรัฐฯ ตลอดจนข้อมูลการออกแบบอาวุธเทอร์โมนิวเคลียร์ประเภทระเบิดชนิดรังสีสูง เรายังคงไม่ทราบว่าพวกนั้นทำได้อย่างไร แต่คำถามที่น่าจะถามมากกว่าคือทำไมพวกนั้นจะทำไม่ได้”

ปัจจุบันนี้ จีนอยู่ระหว่างการพัฒนากองกำลังอาวุธนิวเคลียร์ขนาดมหึมา ซึ่งพวกนักวิเคราะห์ฟันธงว่าจีนได้อานิสงส์จากการขโมยความลับด้านนิวเคลียร์มาจากสหรัฐฯ

ในการนี้ มีการอธิบายว่าเป็นเพราะหน่วยงานต่อต้านข่าวกรองทั้งหลายมีจุดอ่อน จึงเปิดทางให้จีนสามารถดำเนินปฏิบัติการข่าวกรองได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการมีสายลับที่สามารถเข้าถึงความลับต่างๆ ตลอดไปถึงการแหกเข้าสู่คลังความลับที่เก็บอยู่ในโลกไซเบอร์ของรัฐบาลและเครือข่ายต่างๆ ของภาคเอกชน และสามารถล้วงข้อมูลทรงคุณค่ามหาศาลได้

แบลกเมล์พนักงานของรัฐบาลสหรัฐฯ

เมื่อปีที่แล้ว เคยมีมือมืดแฮคเข้าไปเจาะคลังข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ของสำนักงานบริหารบุคลากรของรัฐบาลสหรัฐฯ และขโมยข้อมูลลับ อีกทั้งข้อมูลลับและข้อมูลส่วนตัวสุดๆ ของพนักงานรัฐบาลอเมริกันที่สามารถเข้าถึงความลับสุดยอดต่างๆ ทั้งกลุ่มพนักงานรุ่นปัจจุบัน หรือพนักงานในอดีต รวมกว่า 22 ล้านราย

จารกรรมครั้งนั้นจึงถือกันว่าเป็นการล้วงความลับที่สร้างความเสียหายได้อย่างที่สุด เพราะเป็นการ “เสียลับ” ทั้งข้อมูลเลขบัตรประกันสังคม ทั้งรายชื่องานที่ได้รับมอบหมายระดับการปฏิบัติงาน และทั้งข้อมูลการฝึกฝนอบรมต่างๆ ด้วย

ในการนี้ ทีมสืบสวนของสหรัฐฯ เชื่อว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลจีน โดยเชื่อมโยงประเด็นว่าข้อมูลที่ถูกขโมยไปนั้นย่อมเป็นขุมทองของฝ่ายจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงความมั่นคงของรัฐ และสำนักข่าวกรองแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (IB) ซึ่งสามารถนำไปใช้แบลกเมล์บุคคลในกลุ่มเป้าหมาย ให้มาทำงานรับใช้จีน (ด้านจีนก็ออกมาประท้วงคำกล่าวหาของสหรัฐฯ และชี้ว่าการแฮคข้อมูลแบบข้ามประเทศเป็นอะไรที่ยากจะควานหาตัวผู้กระทำได้ ซึ่งสหรัฐฯไม่ควรจะชี้นิ้วกล่าวหาจีนลอยๆ – วอชิงตันโพสต์ 4 มิถุนายน 2558 - ผู้แปล)

“ตอนนี้ฝ่ายจีนม่บัญชีชื่ออย่างละเอียดเลยในเรื่องของผู้รับเหมางานชาวอเมริกันและพนักงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งล้วนเป็นผู้ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลลับต่างๆ แถมจีนยังได้บัญชีชื่อผู้คนในแวดวงของบุคคลเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนพ้อง หรือคนรู้จักที่ติดต่อประสานดำเนินงาน ไปจนถึงบรรดาผู้ร่วมงาน ซึ่งล้วนเป็นช่องทางอันทรงคุณค่า หรืออาจกระทั่งว่าเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญ” นายแวนคลีฟ กล่าว พร้อมขยายความว่า

“พวกเขาอาจจะมีขุมสมบัติข้อมูลที่มิอาจประมาณค่าที่สามารถนำมาใช้แบลกเมล์ ขู่บังคับ หรือกล่อมเหยื่อของพวกเขาให้ยอมทำงานให้แก่จีน หรือในบางราย ก็อาจจะแค่ใช้เป็นตัวเชื่อมเพื่อจะสามารถไปทำกลลวงผ่านโลกไซเบอร์ต่อไป”

ต้องใช้มาตรการยาแรงต่อต้านข่าวกรอง

แนวทางแก้ปัญหาคือต้องเพิ่มความตื่นตัวต่อปัญหาที่เกิดจากปฏิบัติการข่าวกรองของจีน และต้องจัดใช้มาตรการยาแรงต่อต้านข่าวกรองไปเล่นงานพวกนั้น มาตรการต่อต้านการจารกรรมอาจจะต้องไปบีบให้เจ้าหน้าที่ด้านข่าวกรองของจีนหันมาทำงานรับใช้สหรัฐฯ บ้าง เพื่อเราจะได้ใช้คนพวกนี้ไปเปิดโปงปฏิบัติการงานสปายสายลับสายเหยี่ยวของจีน เพื่อที่จะคว่ำคนพวกนี้ให้หมด

เฉกเช่นเดียวกันพวกเคจีบีของโซเวียต พันธกิจสำคัญที่สุดของหน่วยงานจารกรรมของจีนคือการธำรงไว้ซึ่งการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ดังนั้นมาตรการยาแรงต่อต้านข่าวกรองเพื่อเล่นงานทั้งกระทรวงความมั่นคงของรัฐบาลจีนและสำนักข่าวกรองแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (IB) จะเป็นก้าวสำคัญในอันที่จะช่วยดึงปักกิ่งออกจากระบอบเผด็จการอำนาจนิยม เข้าไปสู่ระบอบที่เป็นประชาธิปไตยที่มากขึ้น

บิล เกอร์ตส์ เป็นนักข่าวและนักเขียนซึ่งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำข่าวสายทหารและกิจการความมั่นคงแห่งชาติ ในอดีตได้เขียนหนังสือด้านความมั่นคงของชาติ 6 เล่ม ผู้อ่านสามารถติดต่อกับเขาได้ทางทวิตเตอร์ ที่ @BillGertz

หมายเหตุผู้แปล

ขณะที่ บิล เกอร์ตส์ นักหนังสือพิมพ์อเมริกันซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีอคติต่อจีน และรายงานข่าวจำนวนมากโดยอาศัยข้อมูลไม่ยืนยันจากเพนตากอน เรียบเรียงข้อเขียนชิ้นนี้จากสายตาอมริกันสายเหยี่ยว

ทางด้าน จอร์จ คู (George Koo) ชาวอเมริกันเชื้อจีนซึ่งเป็นที่ปรึกษาธุรกิจโลก และ แดเนียล ออลมอส (Daniel Olmos) ทนายคดีอาชญากรรม ซึ่งประสบความสำเร็จกับการช่วยให้ผู้ต้องหาคดีด้านความลับทางการค้าได้รับความเป็นธรรม พ้นออกจากข้อกล่าวหาได้เป็นจำนวนมาก ก็ได้ร่วมกันเขียนบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แอลเอไทม์ส เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2516 โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “อคติจากการเหยียดผิวคือต้นเหตุที่คนอเมริกันเชื้อสายเอเชียถูกตั้งข้อหาจารกรรมกันอย่างมหาศาลหรือไม่” (Is racial bias to blame for the high number of Asian Americans charged with espionage? )

บทความของ คู กับ ออลมอส ตั้งข้อสังเกตว่าในหลายปีมานี้ อัยการของรัฐบาลกลางได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีในประเด็นอาชญากรรมเศรษฐกิจ หรือการขโมยความลับทางการค้า เป็นจำนวนคดีรวมแล้วสูงลิ่วอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพื่อจะพบว่าการดำเนินคดีโดยส่วนใหญ่แล้ว ไม่มีหลักฐานเพียงพอ โดยที่ว่าผู้ต้องหาส่วนใหญ่มักเป็นคนอเมริกันเชื้อสายจีน

กระนั้นก็ตาม ในจำนวนคดีความลับทางค้าและจารกรรมทางเศรษฐกิจ 39 คดี ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่กับจีน นับจากปี 1997 นั้น อัยการสามารถชนะคดีได้เพียง 66.7% ขณะที่คดีทำนองนี้ที่เกี่ยวข้องอยู่กับประเทศอื่นๆ นั้น อัยการสามารถชนะคดีได้ประมาณ 87%

ดังนั้น รูปการณ์ที่ปรากฏออกมาจึงกลายเป็นว่ามีคนอเมริกันเชื้อสายจีนจำนวนมากได้รับความเสียหายในหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัว เพราะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาจารกรรม ซึ่งออกผลมาว่าพวกเขาไม่ได้มีความผิดตามข้อกล่าวหา

ทั้งนี้ คู กับ ออลมอส ให้ตัวเลขว่าในจำนวนการดำเนินคดีข้อหาความลับทางการค้าและการจารกรรมทางเศรษฐกิจจำนวน 55 คดีที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศนับจากปี 1997 นั้น มากกว่า 75% เป็นการพุ่งเป้าหมายไปที่จีน

เช่น เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว สายลับเอฟบีไอบุกเข้าจับกุมนาย Xiaoxing Xi อดีตประธานภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลับเทมเปิล โดยเป็นการจู่โจมพร้อมอาวุธครบมือเข้าไปในบ้านพักของเหยื่อ ตลอดจนจับเขาใส่กุญแจมือต่อหน้าบุตรและภรรยา ข้อหาที่ตั้งขึ้นดำเนินคดีเขาคือการเผยข้อมูลระบบของอุปกรณ์ห้องแลปที่เป็นความลับ ซึ่งเมื่อไต่สวนแล้ว จึงพบว่าอุปกรณ์ดังกล่าวมิได้เป็นเรื่องลับแต่อย่างใด และสี่เดือนหลังจากนั้น อัยการก็ยอมถอนฟ้องไป

ในปี 2009 อัยการดำเนินคดีจารกรรมทางเศรษฐกิจกับวิศวกรอเมริกันเชื้อสายจีน 2 รายในข้อหา “เอื้อผลประโยชน์”แก่รัฐบาลจีน ด้วยมูลเหตุเพียงแค่ว่าผู้ต้องหาทั้งสองไปยื่นขอทุนวิจัยจากหน่วยงานของจีนเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ อย่างไรก็ตาม ลงท้ายแล้วคณะลูกขุนลงความเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินการเชิงธุรกิจแบบทั่วไป

ในปี 2014 คดีจารกรรมทางเศรษฐกิจอื้อฉาวอีกรายการหนึ่งคือการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อ Ellen Chen Yeh อดีตวิศวกรบริษัทเท็กซัส อินสตรูเมนท์ส ซึ่งลาออกจากบริษัทเพื่อไปทำงานกับบริษัทแห่งหนึ่งในจีน เธอถูกกล่าวหาว่าได้โหลดงานออกแบบชิปคอมพิวเตอร์อย่างไม่ถูกกฎหมายและนำติดตัวไปจีนด้วยความประสงค์ที่จะขโมย เธอพิสูจน์ต่อคณะลูกขุนว่าเธอเป็นผู้พัฒนางานออกแบบดังกล่าว และเธอเก็บงานนี้ไปด้วยเพราะเธอหวังว่าในกาลข้างหน้าเธอจะกลับไปทำงานกับเท็กซัส อินสตรูเมนท์ส อีกวาระหนึ่ง คณะลูกขุนเชื่อเธอและตัดสินว่าเธอไม่มีความผิด

เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เชอร์รี่ เช็ง นักอุทกวิทยาอเมริกันเชื้อสายจีนวัย 60 ปี ถูกเอฟบีไอจับกุมดำเนินคดีในข้อหาว่าโหลดข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนต่างๆในสหรัฐฯ และส่งมอบข้อมูลให้แก่จีน ในคดีที่เธอเผชิญนี้ หากเธอถูกตัดสินว่ามีความผิด เธอจะต้องถูกจำคุก 25 ปี และถูกปรับ 1 ล้านดอลลาร์ เธอถูกควบคุมตัวนาน 5 เดือน แล้วอัยการก็ถอนฟ้องเพียงไม่กี่วันก่อนที่การพิจารณาคดีจะเริ่มขึ้น โดยอัยการแถลงว่าเพิ่งทราบว่ามีการตีความข้อมูลผิดพลาด

ในการนี้ มีการชี้ประเด็นว่าทางการสหรัฐฯ ซึ่งปักใจสุดโต่งว่าถูกจีนจ้องขโมยองค์ความรู้ตลอดเวลา จึงอยู่ใต้ความกดดันที่จะต้องหยุดยั้งการจารกรรมของจีน อัยการจึงมักจะยื่นฟ้องข้อหาจารกรรมโดยที่ไม่ได้เข้าใจข้อเท็จจริงที่ได้รับอย่างเพียงพอ

ดังนั้น เมื่อปีที่แล้วสมาชิกสภาคองเกรสมากกว่า 40 ท่านได้ยื่นหนังสือถึงนางลอเร็ตต้า ลินช์ อัยการสูงสุดของสหรัฐฯ ว่าเป็นไปได้ไหมว่าการกล่าวหาดำเนินคดีเหล่านี้ถูกผลักดันโดยการประเมินจากเชื้อชาติมากกว่าจากหลักฐานที่แท้จริง

ยิ่งกว่านั้น มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นแนวโน้มว่าอคติต่อเชื้อชายอาจจะส่งผลไปถึงกระบวนการกำหนดโทษที่หนักสาหัสพิเศษต่อผู้กระทำผิดที่เป็นอเมริกันเชื้อสายด้วย โดยการวิเคราะห์จำนวนคดีในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมาพบว่าบุคคลที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีขโมยความลับทางการค้า บทลงโทษเฉลี่ยสำหรับผู้ที่มีนามสกุลเป็นจีน จะหนักกว่าผู้ที่มิได้มีนามสกุลเป็นจีน ประมาณสองเท่า โดยมีตัวเลขเฉลี่ยว่าจะต้องถูกบทลงโทษจำคุกมากกว่ากัน 17 เดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น