เอเอฟพี - วีร์จิเนีย รัจจี (Virginia Raggi) ผู้สมัครสาวสวยจากพรรคขบวนการ 5 ดาว (M5S) ชนะการเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของกรุงโรมเมื่อวานนี้ (19 มิ.ย.) นับเป็นสัญญาณความปราชัยครั้งใหญ่สำหรับฝ่ายรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี มัตเตโอ เรนซี
รัจจี ได้รับคะแนนโหวตถึง 2 ใน 3 ให้เข้ามาเป็น “แม่เมือง” คนใหม่ของเมืองหลวงอิตาลี โดยแข่งขันกับ โรแบร์โต จิอาเก็ตตี ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปไตยเอียงซ้าย (PD) ของ เรนซี
พรรค M5S ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มอำนาจเก่า ยังสามารถคว้าชัยในศึกเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองตูริน (Turin) ทางภาคเหนือ โดย เคียรา อัปเปนดิโน ผู้สมัครหญิงวัย 31 ปีของพรรค สามารถช่วงชิงเก้าอี้มาจากนายกเทศมนตรีคนเก่าจากพรรค PD ได้สำเร็จ โดยได้รับการสนับสนุนจากพรรคขวาขจัด นอร์เทิร์น ลีก (Northern League)
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเรนซียังพออุ่นใจได้บ้าง เมื่อ จิอูเซปเป ซาลา ผู้สมัครของพรรค PD และอดีตผู้อำนวยการเวิลด์เอ็กซ์โป ยังสามารถรั้งอำนาจบริหารที่เมืองมิลานด้วยคะแนนโหวต 51% ขณะที่เมืองใหญ่อย่างโบโลญญาและเนเปิลส์ก็ยังคงอยู่ในมือของพรรค PD เช่นกัน
“นี่เป็นครั้งแรกที่กรุงโรมจะมีนายกเทศมนตรีเป็นผู้หญิง ในยุคซึ่งความเท่าเทียมและโอกาสยังเป็นเพียงภาพลวงตา” รัจจี ออกมาประกาศชัยชนะด้วยท่าทีสุขุมตามสไตล์ของเธอ
“ดิฉันจะเป็นนายกเทศมนตรีสำหรับชาวโรมทุกคน จะนำความชอบด้วยกฎหมายและความโปร่งใสกลับคืนสู่สถาบันต่างๆ หลังจากที่โรมตกอยู่ภายใต้การบริหารจัดการที่ย่ำแย่มานานถึง 20 ปี ยุคใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้วจากตัวของพวกเราเอง”
รัจจี วัย 37 ปี ซึ่งเป็นทั้งทนายความและที่ปรึกษาท้องถิ่น เรียกได้ว่าเป็นบุคคล “โนเนม” ที่แทบไม่มีใครรู้จักเมื่อหลายเดือนก่อน แต่เธอก็สามารถตีตื้นจนกลายเป็นผู้สมัครที่ถูกคาดหมายอย่างกว้างขวางว่าจะคว้ากุญแจสู่ความเป็นผู้บริหารสูงสุดของกรุงโรม
คะแนนโหวตที่ รัจจี ได้รับยังท่วมท้นเหนือความคาดหมายของพรรค M5S ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่เพิ่งจะก่อตั้งขึ้นเมื่อ 7 ปีที่แล้วโดยนักแสดงตลก เบปเป กริลโล
M5S ได้ประกาศตัวเป็นปรปักษ์กับกลุ่มอำนาจเก่าอย่างแข็งขัน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ชัยชนะของ รัจจี ที่กรุงโรมจะเป็นบันไดหนุนพรรคของเธอให้ก้าวขึ้นไปจนสามารถท้าทาย เรนซี ได้ในศึกเลือกตั้งทั่วไปปี 2018
รัจจี เสนอนโยบายที่เข้าถึงจิตใจของชาวโรม ซึ่งต่างเอือมระอากับความย่ำแย่ของระบบขนส่งสาธารณะและบริการด้านอื่นๆ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นผลจากการทุจริตคอร์รัปชันของฝ่ายบริหารตลอดหลายปีที่ผ่านมา
กรุงโรมได้ฉายาว่าเป็น “เมืองหลวงมาเฟีย” (Mafia Capitale) โดยมีนักธุรกิจท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ และนักการเมืองหลายสิบคนถูกดำเนินคดีฐานพัวพันกับเครือข่ายอาชญากรที่ปล้นงบประมาณไปจากเมืองหลวงแห่งนี้เป็นสิบๆ หรืออาจจะหลายร้อนล้านยูโร
รัจจี ยืนยันว่า เธอจะเข้ามาอุดช่องโหว่เพื่อให้การทุจริตลักษณะนี้เกิดขึ้นไม่ได้อีก โดยจะปฏิรูปโครงสร้างการบริหารส่วนท้องถิ่นทั้งระบบ และปรับปรุงบริการสาธารณะให้กลับมามีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจว่า รัจจี จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้แค่ไหน ทั้งด้วยความเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ที่อ่อนประสบการณ์ และปัญหาเชิงโครงสร้างของกรุงโรมที่สลับซับซ้อน รวมถึงภาระหนี้ที่สูงถึง 13,000 ล้านยูโร