เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศสมาคมอาเซียนออกคำแถลงเมื่อคืนวันอังคาร (14 มิ.ย.) วิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมจีนในทะเลจีนใต้ด้วยถ้อยคำรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนแม้ไม่ได้เอ่ยชื่อตรงๆ ก็ตาม ทว่าอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาก็ขอถอนคำแถลงฉบับนั้นอย่างเร่งด่วน ท่าทีชักเข้าชักออกเช่นนี้ตอกย้ำว่าชาติอาเซียนยังแตกความเห็นกันหนักในประเด็นอ่อนไหวยิ่งนี้
ในอีกด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่อเมริกันระบุว่า กองทัพเรือที่ 3 ของสหรัฐฯ เตรียมส่งเรือรบประจำการเพิ่มในเอเชียตะวันออก เพื่อรับมือสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและความกังวลในภูมิภาคดังกล่าว ซึ่งเห็นได้ชัดว่าหมายถึงความประพฤติของจีน
บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของ 10 ชาติอาเซียน ซึ่งเดินทางมาร่วมการประชุมครั้งพิเศษกับรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ณ เมืองอี้ว์ซี มณฑลหยุนหนัน (ยูนนาน) ของแดนมังกร ได้ออกคำแถลงในนามของอาเซียนว่า “อาเซียนไม่สามารถเพิกเฉยต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ เนื่องจากเป็นประเด็นสำคัญต่อความสัมพันธ์และการร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน
“เราขอแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้และยังคงดำเนินอยู่ ซึ่งบ่อนทำลายความไว้ใจและความเชื่อมั่น ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นและอาจบ่อนทำลายสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพในทะเลจีนใต้” คำแถลงอาเซียนที่นำออกเผยแพร่โดยกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียระบุ
ตามการตรวจสอบของ MGR ออนไลน์ ปรากฏว่าคำแถลงนี้มีสำนักข่าวเอเอฟพีนำไปรายงาน ขณะที่สื่ออื่นๆ ยังไม่ได้มีการพูดถึง
อย่างไรก็ดี เพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อมาโฆษกหญิงของกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียก็ประกาศถอนคำแถลงดังกล่าว และสำทับว่า รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกำลังเร่งแก้ไขคำแถลง
โฆษกหญิงคนเดิมเพิ่มเติมว่า สำนักเลขาธิการอาเซียนอนุมัติการออกคำแถลงแล้ว ก่อนแจ้งในเวลาต่อมาให้ถอนคำแถลง
ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศจีนแสดงความงุนงงกับเรื่องนี้ โดย ลู่ คัง โฆษกกระทรวงบอกว่า ตรวจสอบกับทางอาเซียนแล้ว และย้ำว่า คำแถลงที่สำนักข่าวเอเอฟพีนำออกเผยแพร่ไม่ใช่คำแถลงอย่างเป็นทางการของอาเซียน
จนกระทั่งถึงวันพุธ (15) ยังไม่มีการออกคำแถลงฉบับแก้ไขเพิ่มเติมจากอาเซียนแต่อย่างใด จะมีก็แต่สมาชิกบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ที่ออกคำแถลงของตัวเองแสดงความกังวลเรื่องทะเลจีนใต้
นอกจากนั้น แม้คำแถลงฉบับแรกไม่ได้กล่าวหาจีนโดยตรง แต่การระบุถึงการถมทะเลก็มีนัยถึงการสร้างเกาะเทียมและการสร้างสนามบิน รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของจีนในทะเลจีนใต้อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้ถูกมองว่าเป็นความพยายามของพญามังกรในการสนับสนุนการอ้างสิทธิ์ของตนเหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด ด้วยการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แท้จริงและการเตรียมการนำทหารไปประจำการ
“เราย้ำความสำคัญของการงดการสร้างแสนยานุภาพทางทหาร และการควบคุมตนเองในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ซึ่งรวมถึงการถมทะเล ที่อาจทำให้สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ตึงเครียดยิ่งขึ้น” คำแถลงระบุ
คำแถลงฉบับนี้ดูเหมือนเป็นการแหวกธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมของอาเซียน ซึ่งงดใช้ถ้อยคำรุนแรงเกี่ยวกับประเด็นภายในภูมิภาคที่ชาติสมาชิกทั้ง 10 ยังมีความเห็นไม่ลงรอยกัน
ทั้งนี้ 4 ชาติอาเซียน อันได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม บรูไน และฟิลิปปินส์ อ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะและน่านน้ำในทะเลจีนใต้ทับซ้อนกับจีน จึงเป็นกรณีพิพาทกันอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟิลิปปินส์และเวียดนามมีความพยายามที่จะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นของอาเซียนทั้งหมด ทว่า สมาชิกอย่างอื่นๆ รวมถึงกัมพูชาและลาว ที่จีนพยายามใช้อิทธิพลครอบงำ ยืนกรานว่าข้อพิพาทเหล่านี้เป็นกรณีทวิภาคีซึ่งเฉพาะชาติที่เกี่ยวข้องควรหารือแก้ไขกันไป
นอกจากนั้น ฝ่ายจีนเองยังคัดค้านการนำคนนอกมาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย รวมทั้งประณามฟิลิปปินส์ที่นำกรณีพิพาทไปฟ้องร้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และประกาศว่าจะไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลดังกล่าวซึ่งคาดว่าจะออกมาภายในเดือนนี้
ในวันอังคาร (14) หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน พยายามอย่างหนักในการตอกย้ำว่าจีนกับอาเซียนได้ฉันทามติเรื่องทะเลจีนใต้ ถึงแม้ที่สุดแล้วหวังต้องแถลงข่าวตามลำพัง ทั้งที่คาดว่ารัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์จะไปร่วมแถลงด้วย
ขณะเดียวกัน แม้สื่อจีนที่ถูกทางการควบคุมเคร่งครัดไม่ได้รายงานข่าวคำแถลงอาเซียน แต่โกลบัล ไทมส์ หนังสือพิมพ์ในเครือเหรินหมินรึเป้า ที่เป็นปากเสียงทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ออกบทบรรณาธิการกล่าวหาสื่อตะวันตกว่า พยายามยุแยงว่าอาเซียนตบหน้าจีนด้วยคำแถลงวิจารณ์เรื่องทะเลจีนใต้ดังกล่าว
สหรัฐฯ เพิ่มเรือรบในเอเชียตะวันออก
นอกจากเผชิญแนวโน้มการแข็งข้อจากอาเซียนแล้ว พญามังกรยังมีเรื่องขุ่นเคืองใจจากการที่เจ้าหน้าที่อเมริกันที่ไม่ประสงค์ออกนามสองคนเปิดเผยเมื่อวันอังคาร (14)ว่า กองทัพเรือที่ 3 ของสหรัฐฯ เตรียมส่งเรือรบไปปฏิบัติภารกิจในเอเชียตะวันออกเพิ่มขึ้นอีก เคียงข้างเรือรบจากกองทัพเรือที่ 7 ซึ่งตั้งฐานประจำอยู่ที่ญี่ปุ่น
กองทัพเรือที่ 3 ของสหรัฐฯ ซึ่งมีกองบัญชาการอยู่ที่เมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ปกติแล้วจะปฏิบัติภารกิจในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันออกเท่านั้น ขณะที่กองทัพเรือที่ 7 รับผิดชอบแปซิฟิกด้านตะวันตก
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนเมษายนหมู่เรือปฏิบัติการผิวน้ำแปซิฟิก (Pacific Surface Action Group) ของกองทัพเรือที่ 7 ซึ่งมีเรือยูเอสเอส สปรูแอนซ์ และเรือยูเอสเอส มัมเซน ที่เป็นเรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถีทั้ง 2 ลำรวมอยู่ด้วย ได้ถูกส่งมาประจำการในเอเชียตะวันออก
หนังสือพิมพ์นิกเกอิ เอเชียน รีวิวรายงานโดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของพลเรือเอก สกอตต์ สวิฟต์ ผู้บัญชาการกองทัพเรือภาคแปซิฟิก ที่กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวเช่นนี้มีเป้าหมายเพื่อรับมือสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและความกังวลในเอเชียตะวันออก ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเขากำลังหมายถึงพฤติกรรมของจีน
สวิฟต์บอกว่า กองทัพเรือควรที่จะใช้ประโยชน์จาก “แสนยานุภาพผสมโดยรวม” ของทหารเรือ 140,000 นาย, เรือกว่า 200 ลำ และเครื่องบิน 1,200 ลำ ซึ่งประกอบกันเป็นกองทัพเรือภาคแปซิฟิก
สำหรับกองทัพเรือที่ 7 นั้นประกอบด้วย หมู่เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี 1 หมู่ ซึ่งก็คือมีเรือบรรทุกเครื่องบิน 1 ลำ, เรืออื่นๆ อีก 80 ลำ และเครื่องบิน 140 เครื่อง ขณะที่กองทัพเรือที่ 3 นั้นมีขนาดใหญ่กว่ามาก โดยมีเรือรวมกันมากกว่า 100 ลำ ในจำนวนนี้เป็นเรือบรรทุกเครื่องบิน 4 ลำ
เกร็ก โพลิ่ง ผู้อำนวยการแผนการริเริ่มด้านความโปร่งใสทางทะเลในเอเชีย แห่งศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา ในกรุงวอชิงตัน แสดงความเห็นว่า ความเคลื่อนไหวของกองทัพเรืออเมริกันคราวนี้ดูเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ในการโยกย้ายทรัพยากร 60% ของกองทัพเรือไปยังเอเชีย ตามยุทธศาสตร์การปรับสมดุลทรัพยากรในภูมิภาคเพื่อรับมืออิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีน