xs
xsm
sm
md
lg

“ทรัมป์” และ “คลินตัน” แสดงปฏิกิริยาตรงข้ามกันเลย ต่อ “เหตุกราดยิงคลับเกย์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอพี - สำหรับ โดนัลด์ ทรัมป์ การกราดยิงสังหารหมู่ในรัฐฟลอริดาเมื่อวันอาทิตย์ (12 มิ.ย.) ที่ผ่านมา คือ จังหวะโอกาสสำหรับเร่งเครื่องเพิ่มทวีการเรียกร้องของเขาที่ให้ใช้ปฏิบัติการอย่างเหี้ยมเกรียมเด็ดขาดยิ่งขึ้นในการต่อสู้กับการก่อการร้าย และคือจังหวะโอกาสสำหรับการเรียกรับเครดิตความน่าเชื่อถือจาก “การเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง” ในเรื่องภัยคุกคามของการก่อการร้ายนี้

แต่สำหรับ ฮิลลารี คลินตัน มันเป็นช่วงเวลาที่จะต้องเลือกสรรถ้อยคำด้วยความระมัดระวัง และเน้นย้ำข้อเรียกร้องของเธอที่ต้องการให้นำเอา “อาวุธแห่งสงคราม” ทั้งหลายออกไปจากท้องถนนของอเมริกา

การตอบโต้ของทรัมป์ และ คลินตัน ต่อเหตุการณ์กราดยิงสังหารหมู่ครั้งนองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของสหรัฐฯคราวนี้ กำลังกลายเป็นโอกาสแห่งการศึกษาถึงความแตกต่างอย่างตรงกันข้ามระหว่างว่าที่ตัวแทนผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีทั้ง 2 รายนี้ - โดยที่อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หนึ่งในสองคนนี้จะกลายเป็นผู้นำของสหรัฐอเมริกา ประเทศที่หวั่นผวาต่อการก่อการร้าย, ความรุนแรงจากอาวุธปืน และการที่ทั้ง 2 สิ่งนี้เชื่อมโยงติดต่อกันอย่างไร้ความปรานีอยู่บ่อยครั้ง

แรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังเหตุรุนแรงช่วงก่อนรุ่งสางวันอาทิตย์ (12) ที่ไนต์คลับเกย์แห่งหนึ่งในเมืองออร์แลนโด, มลรัฐฟลอริดา ยังไม่เป็นที่ทราบกันเลยเมื่อตอนที่ทรัมป์กับคลินตันเริ่มต้นพิจารณาชั่งน้ำหนักว่าจะแสดงการตอบสนองต่อเรื่องนี้อย่างไร และกระทั่งหลังจากวันอาทิตย์สิ้นสุดลง พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบก็ยังต้องทำงานกันอีกมากในการสืบเสาะค้นหาว่า อะไรที่ทำให้ โอมาร์ มาทีน พลเมืองอเมริกันวัย 29 ปีจากฟลอริดา เปิดฉากกราดยิง ซึ่งสังหารผู้คนไปถึง 50 คน และยังมีผู้บาดเจ็บสาหัสอีกจำนวนมาก

ขณะที่ข้อมูลข่าวสารเริ่มต้นไหลบ่าเข้ามา ทรัมป์ได้ใช้ทวิตเตอร์เพื่อบอกกล่าวว่า เขากำลัง “สวดวิงวอน” ให้แก่บรรดาเหยื่อเคราะห์ร้ายและครอบครัวของพวกเขา เขายังเขียนหยอดเอาไว้ด้วยว่า “เมื่อไหร่เราถึงจะเหี้ยม, ฉลาด และระวังตื่นตัวกันเสียที?”

อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ว่าที่ผู้สมัครของพรรครีพับลิกันผู้นี้ ได้กลับเข้าสู่สื่อสังคมออนไลน์อีกครั้ง คราวนี้บอกว่า เขารู้สึกซาบซึ้งใจกับ “การแสดงความยินดีของหลายคนจากการที่เป็นฝ่ายถูกต้องในเรื่องการก่อการร้ายของอิสลามหัวรุนแรง” หลังจากประธานาธิบดี บารัค โอบามา ไม่ได้ใช้วลี “อิสลามหัวรุนแรง” นี้ในการพูดถึง มาทีน ในเวลาแถลงถึงเหตุการณ์นี้จากทำเนียบขาว ทรัมป์ก็เผยแพร่คำแถลงฉบับหนึ่ง ซึ่งบอกว่า ประธานาธิบดี “ควรที่จะลาออก” - อันถือเป็นการตอบโต้แบบยั่วยุ ชนิดห่างไกลมากจากวิธีการแบบฉบับซึ่งรีพับลิกันใช้ในเวลาวิพากษ์วิจารณ์วิธีจัดการกับลัทธิสุดโต่งของโอบามา

ทรัมป์ย่อมไม่ใช่นักการเมืองคนแรก ซึ่งพยายามที่จะหาทางใช้ประโยชน์จากเหตุโศกนาฏกรรม ถึงแม้เขาเป็นคนที่กระทำอย่างโจ่งแจ้งล่อนจ้อนกว่าคนอื่น ๆ ส่วนใหญ่ ในเวลาที่พยายามนำเอาเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดความเจ็บปวดสุดพรรณนา มาเชื่อมโยงให้เข้ากับการเพิ่มคะแนนนิยมของตัวเอง ไม่นานหลังจากเกิดเหตุโจมตีที่กรุงปารีสที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในปีที่แล้ว ทรัมป์ก็ออกมากล่าวว่า “เมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุโศกนาฏกรรม ทุกสิ่งทุกอย่างจะเพิ่มทวีขึ้น ตัวเลขของผมก็ไต่สูงขึ้นเช่นกัน เพราะเราไม่ได้มีความเข้มแข็งอะไรเลยในประเทศนี้ เรานั้นอ่อนแอ เป็นนักการเมืองที่น่าสมเพช”

ภายหลังเหตุยิงกราดในเมืองซานเบอร์นาร์ดิโด, รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ทรัมป์สร้างความตื่นตะลึงให้แก่คนจำนวนมากในพรรคของเขาเอง ด้วยการออกมาเรียกร้องให้สั่งห้ามชาวมุสลิมเข้าสหรัฐฯเป็นการชั่วคราว แต่แทนที่มันจะทำให้ลู่ทางโอกาสทางการเมืองของเขาดับสูญไป ปรากฏว่า มันกลับช่วยขับดันให้เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ผู้นี้พุ่งทะยานขึ้นไปคว้าชัยชนะแรก ๆ ของเขาในการเลือกตั้งขั้นต้นของรีพับลิกัน

สำหรับพวกที่ไม่พอใจทรัมป์ ความคิดเห็นของเขาอาจดูไม่มีเหตุผลและงี่เง่า ทว่า เขาก็กำลังได้ประโยชน์จากความหงุดหงิดไม่พอใจอย่างล้ำลึกของผู้ออกเสียงจำนวนหนึ่ง ผู้ซึ่งเชื่อว่า โอบามามัดมือมัดเท้าตนเองในการตอบโต้รับมือกับภัยคุกคามของการก่อการร้าย สืบเนื่องจากเขากังวลใจว่ามันจะเป็นการละเมิดล่วงเกินชาวมุสลิมในสหรัฐฯและในตลอดทั่วโลก

“เราไม่สามารถทนแบกรับการอยู่แต่ในกรอบ (ที่เห็นกันว่าเป็น) ความถูกต้องทางการเมืองได้อีกต่อไป” ทรัมป์ประกาศในวันอาทิตย์ (12) เขายกเลิกการรณรงค์หาเสียงที่กำหนดเอาไว้สำหรับวันจันทร์ (13) แต่วางแผนเดินหน้าต่อไปด้วยการปราศรัยที่นิวแฮมป์เชียร์ ทว่า เปลี่ยนหัวข้อจากการมุ่งพูดตอบโต้เล่นงานคลินตัน มาเน้นหนักปัญหาความมั่นคงปลอดภัยแห่งชาติ

ทางด้าน คลินตัน ซึ่งผ่านการเรียนรู้มามากกว่าในเรื่องขนบธรรมเนียมทางการเมืองแห่งการแสดงการตอบโต้ต่อโศกนาฏกรรมต่าง ๆ จากช่วงเวลาหลายปีที่เธอเป็นวุฒิสมาชิก และเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ เธอมีท่าทีระมัดระวังตัวในการแสดงความเห็นแรก ๆ ของเธอ ครั้งแรกซึ่งว่าที่ผู้สมัครของพรรคเดโมแครตผู้นี้ กล่าวถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ก็ใช้ทวิตเตอร์เช่นกัน โดยในช่วงก่อนรุ่งสางวันอาทิตย์ (12) เธอเขียนว่า “ขณะที่เรากำลังเฝ้ารอข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมอยู่นี้ ดิฉันนึกไปถึงผู้ที่ถูกกระทบกระเทือนจากพฤติการณ์สยดสยองคราวนี้”

เหมือนกับโอบามา คลินตันก็เลือกที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ก้าวเดินพลาดไปตั้งแต่ก้าวแรก ๆ ถึงแม้มันอาจทำให้เธอดูเหมือนระวังตัวมากเกินไปก็ตาม ในวันอาทิตย์ (12) เธอรอคอยจนกระทั่งประธานาธิบดี โอบามา ประกาศว่า การยิงกราดคราวนี้เป็น “พฤติการณ์ก่อการร้าย” แล้ว นั่นแหละเธอจึงได้พูดอย่างเดียวกัน

คลินตัน กับ โอบามา เลื่อนแผนการที่จะรณรงค์หาเสียงด้วยกันในวันพุธ (15) ที่วิสคอนซิน อันเป็นการตัดสินใจที่มีพลังขับดันทั้งจากภาพลักษณ์ทางการเมือง และจากความคาดหมายที่ว่าโอบามาอาจจำเป็นต้องใช้เวลาสัปดาห์นี้ของเขาไปในการกำกับดูแลการตอบโต้ของรัฐบาลต่อการกราดยิงที่ฟลอริดา กระนั้น คลินตันยังคงวางแผนเดินหน้าหาเสียงคนเดียวต่อไป โดยจะหยุดแวะปราศรัยหลายจุดในวันจันทร์ (13) ที่โอไฮโอ และวันอังคาร (14) ที่เพนซิลเวเนีย

ในการแถลงของเธอ คลินตันไม่ได้หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงโอกาสความเป็นไปได้ที่จะมีการเชื่อมโยงกับการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ทว่า เธอเลือกใช้ภาษาที่คลุมเครือ เธอได้ชูประเด็นการออกกฎหมายควบคุมอาวุธปืนให้เข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้น มาเป็นนโยบายสำคัญที่สุดประการหนึ่งในการรณรงค์หาเสียงของเธอ และพูดอย่างตรงไปตรงมามากกว่าในเวลาที่หยิบยกเหตุการณ์กราดยิงนี้มาเป็นตัวอย่าง แสดงว่า สหรัฐฯล้มเหลวในการเก็บรักษาปืน “ให้พ้นจากเงื้อมมือของพวกผู้ก่อการร้ายหรืออาชญากรรุนแรงอื่น ๆ” ทั้งนี้ พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของสหรัฐฯแถลงในช่วงต่อมาของวันอาทิตย์ (12) ว่า มาทีนได้ซื้ออาวุธปืนอย่างน้อย 2 กระบอกอย่างถูกกฎหมายภายในระยะเวลาประมาณสัปดาห์ที่แล้ว

โศกนาฏกรรมที่ออร์แลนโด ในที่สุดแล้วจะแสดงบทบาทแกว่งไกวเส้นทางโคจรของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของสหรัฐฯคราวนี้อย่างไรหรือไม่ เวลานี้ยังไม่เป็นที่ทราบกัน และหากแนวโน้มอย่างเป็นเฉกเช่นปัจจุบันแล้ว ก็ยังน่าจะมีเหตุ กราดยิงสังหารหมู่เกิดขึ้นมาอีกในสหรัฐฯ ก่อนที่ผู้ออกเสียงจะเดินเข้าไปใช้สิทธิลงคะแนนในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้

นอกจากนั้น ยังมีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงอย่างอื่น ๆ อีก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบอย่างแรงต่อการแข่งขันในช่วงระยะเวลา 5 เดือนนับจากนี้ไป ทำนองเดียวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯพังครืนเมื่อปี 2008 ส่งผลในระยะไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนั้น

แต่ในขณะที่ผู้ออกเสียงเริ่มที่จะชั่งน้ำหนักพิจารณาความเหมาะสมของคลินตัน และทรัมป์ อย่างจริงจัง ในการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งติดมากับตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย เหตุกราดยิงในวันอาทิตย์ (12) ก็แทบไม่ได้ทิ้งอะไรไว้ให้สงสัยกันเลยว่า ผู้สมัคร 2 คนนี้ได้เลือกที่จะกระทำในสิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนยิ่ง

กำลังโหลดความคิดเห็น