เอเจนซีส์ / MGR online - รัฐบาลไนจีเรียเห็นชอบรับตัวผู้อพยพที่หนีภัยคุกคามของกลุ่มติดอาวุธ “โบโก ฮารัม” เข้าไปลี้ภัยอยู่ในแคเมอรูนราว 80,000 ราย กลับประเทศ
ซานิ ดัตติ โฆษกสำนักงานจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินของไนจีเรีย ออกมาแถลงในวันอาทิตย์ (12 มิ.ย.) โดยระบุ รัฐบาลไนจีเรียได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลแคเมอรูน และสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ในการนำตัวผู้อพยพชาวไนจีเรียที่มีจำนวนราว 80,000 รายกลับประเทศ หลังจากที่คนกลุ่มนี้ต้องหนีตายออกจากบ้านเรือนของตนตลอดหลายปีที่ผ่านมาจากภัยคุกคามที่ก่อโดยกลุ่มโบโก ฮารัม
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวทางการทูตในกรุงอาบูจาของไนจีเรียเปิดเผยว่า ข้อตกลงในการนำผู้อพยพชาวไนจีเรียเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดของตนนั้นจะยึดหลักความสมัครใจเป็นสำคัญ แม้ทางการแคเมอรูนจะออกมายอมรับว่าตนเองแบกรับภาระในการจัดหาที่พัก อาหาร น้ำดื่ม แก่บรรดาผู้ลี้ภัยชาวไนจีเรียกลุ่มนี้ต่อไปไม่ไหวแล้ว
ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่ทางการชาดประกาศส่งกำลังทหารจำนวนราว 2,000 นายเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างไนเจอร์ เพื่อให้ความช่วยเหลือในการต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ “โบโก ฮารัม” ภายหลังจากที่กลุ่มสุดโต่งที่มีฐานอยู่ในไนจีเรียกลุ่มนี้ได้ข้ามพรมแดนเข้ามาก่อเหตุโจมตีเมืองบอสโซของไนเจอร์ตั้งแต่สัปดาห์ก่อน
ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลชาดในวันพุธ (8 มิ.ย.) มีขึ้นภายหลังจากที่กลุ่มติดอาวุธโบโก ฮารัมได้เริ่มบุกข้ามแดนมาโจมตีเมืองบอสโซของไนเจอร์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ก่อนที่จะเป็นฝ่ายเข้าควบคุมเมืองแห่งนี้เอาไว้ได้ตลอดช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะมีความพยายามในการยึดคืนเมืองแห่งนี้จากทางกองทัพของไนเจอร์ แต่ก็เป็นความพยายามที่ไม่ประสบความสำเร็จ
ด้านรายงานข่าวซึ่งอ้างมามาดู บาโก นายกเทศมนตรีของเมืองบอสโซ รวมถึงแหล่งข่าวทางทหารยืนยันว่า เมืองแห่งนี้ของไนเจอร์ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มโบโก ฮารัมโดยสมบูรณ์แล้วตั้งแต่วันจันทร์ (6 มิ.ย.) เป็นต้นมา
ก่อนหน้านี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) เผย ประชาชนราว 50,000 ชีวิตต้องอพยพหนีตายออกจากบ้านเรือนของตนในพื้นที่แถบตะวันออกเฉียงใต้ของไนเจอร์ หลังเกิดการข้ามเขตแดนเข้ามาก่อเหตุโจมตีของกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ โบโก ฮารัม จากไนจีเรีย
เอเดรียน เอ็ดเวิร์ดส์ โฆษกยูเอ็นเอชซีอาร์ เผยต่อผู้สื่อข่าวที่นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ในวันอังคาร (7 มิ.ย.) โดยระบุการอพยพหนีตายของประชาชนจำนวนครึ่งแสนดังกล่าวเกิดขึ้นที่เมืองบอสโซ ในเขตดิฟฟาของไนเจอร์ ซึ่งมีอาณาเขตติดกับชายแดนไนจีเรีย
โฆษกยูเอ็นเอชซีอาร์ระบุว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เลือกที่จะอพยพไปยังหมู่บ้านตูมัวร์ที่อยู่ห่างจากเมืองบอสโซไปทางตะวันตกราว 30 กิโลเมตร ขณะที่แหล่งข่าวในองค์การสหประชาชาติเผยว่าส่วนใหญ่เป็นการอพยพแบบ “ไปตายเอาดาบหน้า” ซึ่งส่งผลให้ผู้อพยพจำนวนมากต้องกินอยู่หลับนอนในพื้นที่โล่งแจ้ง และมีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือด้านที่พัก ตลอดจนความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมอื่นๆ อย่างเร่งด่วน
กลุ่มโบโก ฮารัม ได้เข้าไปก่อเหตุรุนแรงในเมืองบอสโซครั้งแรกเมื่อ 3 มิ.ย. เป็นเหตุให้ทหารของไนเจอร์ 30 นาย และทหารไนจีเรียอีก 2 นายเสียชีวิต ขณะที่นักรบของโบโก ฮารัมถูกสังหารไป 55 ราย ระหว่างการปะทะกันอย่างหนักหน่วงท่ามกลางรายงานที่ระบุว่าสมาชิกกลุ่มสุดโต่งจากไนจีเรียกลุ่มนี้ได้กระจายกำลังกันออกไปเผาค่ายทหาร สถานีตำรวจ และทำการปล้นร้านค้าต่างๆ ทั่วเมืองบอสโซเพื่อสร้างความหวาดกลัว
ก่อนหน้านี้กระทรวงกลาโหมของไนเจอร์แถลงยืนยันว่า สมาชิกกลุ่มโบโก ฮารัมจำนวนหลายร้อยชีวิตได้บุกเข้าโจมตีที่ตั้งทางทหาร ตลอดจนหมู่บ้านที่เมืองบอสโซของไนเจอร์ เป็นเหตุให้มีทหารทั้งของไนเจอร์และไนจีเรียเสียชีวิตรวมอย่างน้อย 32 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 67 ราย
ด้าน เอลฮัจ อบูบาการ์ อดีตสมาชิกรัฐสภาของไนเจอร์ ซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองบอสโซ แห่งนี้ออกมาเปิดเผยว่า สมาชิกกลุ่มโบโก ฮารัมได้เดินทางมาถึงในพื้นที่เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 3 มิ.ย. ก่อนที่จะเปล่งวาจาสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า และลงมือกราดยิง รวมถึงจุดไฟเผาสถานที่ต่างๆ อย่างสะดวกโยธิน จนทำให้ชาวบ้านจำนวนมากตั้งคำถามถึงความบกพร่องของกองทัพไนเจอร์ในการปกป้องอธิปไตยของประเทศ รวมถึงชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
ทั้งนี้ กลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์โบโก ฮารัม ซึ่งมีจุดมุ่งหมายแต่ดั้งเดิมในการสถาปนารัฐอิสลามสุดโต่งขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือของไนจีเรีย ได้เริ่มข้ามพรมแดนเข้ามาก่อเหตุโจมตีในไนเจอร์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2015 เป็นต้นมา
ด้านสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) เปิดเผยว่า เหตุรุนแรงและปัญหาความไม่สงบที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มโบโก ฮารัมตลอดระยะเวลา 7 ปี หรือตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมาได้ผลักดันให้เกิดคลื่นผู้อพยพที่มีจำนวนราว 2.1 ล้านคนในไนจีเรีย และคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 20,000 รายเฉพาะในไนจีเรีย ยังไม่นับรวมกับผู้เสียชีวิตในประเทศเพื่อนบ้านรายรอบ เช่น แคเมอรูน ชาด และ ไนเจอร์