เอเอฟพี/เอพี/เอเจนซีส์ - กองกำลังอาวุธที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลเอกภาพของลิเบียพยายามรุกคืบหน้าต่อไปอีกในวันอาทิตย์ (12 มิ.ย.) เพื่อตีคืนเมืองซีราเต ที่มั่นสำคัญแห่งสุดท้ายของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ในลิเบีย โดยต้องเผชิญการต้านทานอย่างหนัก ซึ่งมีทั้งการใช้ระเบิดรถยนต์ฆ่าตัวตายในหลายจุด
กองกำลังอาวุธหนุนรัฐบาลเหล่านี้เริ่มเคลื่อนเข้าสู่เมืองซีราเต (Sirte) เมืองท่าสำคัญทางภาคเหนือของลิเบีย อีกทั้งเป็นบ้านเกิดของอดีตจอมเผด็จการ มูอัมมาร์ กัดดาฟี ด้วย ตั้งแต่เมื่อวันพุธ (8) ที่ผ่านมา และกำลังบุกคืบหน้าได้รวดเร็วกว่าที่คาดหมายไว้
ไอเอสได้เข้ายึดครองซีราเตเอาไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยฉวยโอกาสจากความปั่นป่วนวุ่นวายในลิเบีย และเปลี่ยนให้เมืองนี้กลายเป็นฐานหลักสำหรับการปฏิบัติการของตนในแอฟริกาเหนือ
การสูญเสียซีราเต จะถือเป็นความเพลี่ยงพล้ำครั้งใหญ่ของไอเอส ซึ่งก็กำลังสูญเสียดินแดนที่ยึดเอาไปในซีเรียและอิรักไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ กลุ่มนักรบญิฮัดสุดโต่งกลุ่มนี้ได้ประกาศจัดตั้ง “รัฐกาหลิบ” แบบอิสลาม (คอลิฟะห์) ขึ้นมา ภายหลังยึดพื้นที่ใหญ่ๆ ได้หลายแห่งในซีเรียและอิรักเมื่อปี 2014
สำหรับที่ซีราเตเวลานี้ กองกำลังไอเอสถูกล้อมอยู่ภายในพื้นที่ราว 5 ตารางกิโลเมตรบริเวณใจกลางเมือง ซึ่งเป็นเขตที่มีประชากรหนาแน่น และยังคงกำลังพยายามต้านทานอย่างดุเดือด โดยในวันอาทิตย์ (12) ได้ใช้การโจมตีด้วยระเบิดรถยนต์ฆ่าตัวตายรวม 3 ครั้งเพื่อสกัดกั้นนักรบฝ่ายหนุนรัฐบาล
“เกิดเหตุระเบิดขึ้น 3 จุดจากพวกรถยนต์ซึ่งขับโดยมือระเบิดฆ่าตัวตายของกลุ่มรัฐอิสลาม และพุ่งเป้าหมายเล่นงานกองกำลังอาวุธของพวกเราในเมืองซีราเต” รีดา อิสซา ผู้ทำหน้าที่โฆษกให้แก่พวกกองกำลังอาวุธซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลเอกภาพของซีเรีย แจ้งกับสำนักข่าวเอเอฟพี
เขายอมรับด้วยว่า ทางกองกำลังอาวุธฝ่ายหนุนรัฐบาลมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย และได้รับบาดเจ็บ 4 คน
มือระเบิดคนหนึ่งจุดระเบิดรถยนต์ของเขาในจุดที่อยู่ห่างจากนักรบฝ่ายหนุนรัฐบาลกลุ่มหนึ่งเพียงสองสามเมตร ใกล้ๆ วงเวียนอบู ฮาดี บริเวณด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองซีราเต อิสซาระบุ
ส่วนมือระเบิดอีก 2 คนพุ่งเป้าเล่นงานกองกำลังอาวุธฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล และโรงพยาบาลสนามแห่งหนึ่ง ในเขตตะวันตกของเมืองนี้
ทางด้าน พลจัตวา โมฮัมหมัด อัล-กอสรี ผู้ทำหน้าที่โฆษกของกองกำลังเหล่านี้อีกคนหนึ่ง บอกกับสำนักข่าวเอพีในวันนี้ (12) เช่นกันว่า พวกนักรบไอเอสได้ถอยกลับไปรวมกำลังกันบริเวณใจกลางเมือง และจัดตั้งเครื่องกีดขวางจำนวนมาก รวมทั้งส่งพวกสไนเปอร์นักแม่นปืนออกมายึดที่มั่นตามหลังคาและจุดสูงต่างๆ ด้วยความหวังที่จะดึงเอากำลังอาวุธฝ่ายหนุนรัฐบาลเข้าไปสู้รบพัวพันในสงครามช่วงชิงพื้นที่ทีละอาคารทีละสายถนนอย่างยืดเยื้อ
โฆษกผู้นี้บอกว่า มือระเบิดฆ่าตัวตายของไอเอสดูเตรียมพร้อมเข้าเล่นงานฝ่ายหนุนรัฐบาลที่เคลื่อนเข้าไปใกล้พื้นที่พวกนั้น ขณะที่ทางกองกำลังอาวุธเหล่านี้เองกำลังระดมยิงปืนใหญ่เข้าใส่บริเวณดังกล่าว เพื่อทำให้แนวป้องกันของไอเอสอ่อนตัวลงก่อนที่จะรุกคืบหน้าต่อไปในที่สุด
มีรายงานว่า กองกำลังอาวุธในซีราเตบางส่วนได้โกนเคราของตัวเองเพื่อปลอมตัวหลบหนีออกจากเมืองไป เมื่อตอนที่กองกำลังอาวุธฝ่ายหนุนรัฐบาลเริ่มต้นเคลื่อนขบวนรถยานเกราะและรถกระบะติดตั้งปืนกลรุกเข้ามาในเมือง
ณ วงเวียนแห่งสำคัญที่สุดของซีราเต เมื่อสัปดาห์ที่แล้วกองกำลังอาวุธได้รื้อถอนเวทีโครงโลหะยกพื้น ซึ่งชาวเมืองซีราเตบางคนตั้งชื่อว่า “เวทีแห่งความสยดสยอง” เนื่องจากถูกพวกไอเอสใช้เป็นที่ตัดศีรษะผู้คนต่อหน้าสาธารณชน ในช่วง 1 ปีที่พวกเขาปกครองเมืองนี้
ซีราเต เมืองชายฝั่งทางตอนเหนือของลิเบีย ตั้งอยู่ห่างจากเมืองหลวงตริโปลีไปทางตะวันออกราว 450 กิโลเมตร หากสามารถขับไล่พวกไอเอสออกไปจากเมืองนี้ได้ จะหมายความถึงการทำลายฐานที่มั่นแข็งแรงสุดนอกอิรักและซีเรียของกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งกลุ่มนี้
นอกจากนั้น หากสามารถมีชัยชนะเหนือไอเอสในลิเบียได้อย่างสมบูรณ์ ยังเท่ากับการช่วยให้อียิปต์กำจัดภัยคุกคามร้ายแรงด้านความมั่นคงจากแนวพรมแดนทางภาคตะวันตกที่มีช่องโหว่มากมาย ตลอดจนทำลายเส้นทางลำเลียงสำคัญที่คอยส่งทั้งกำลังคนและอาวุธไปให้แก่เครือข่ายในสังกัดไอเอสในคาบสมุทรไซนาย
ไม่เพียงเท่านั้น การปรากฏตัวของไอเอสในลิเบียยังสร้างความวิตกกังวลอย่างสูงให้แก่พวกประเทศแถบยุโรปใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิตาลี ซึ่งเคยปกครองลิเบียเป็นอาณานิคม
ก่อนหน้านี้ 1 วัน คือเมื่อวันเสาร์ (11) กองกำลังอาวุธฝ่ายหนุนรัฐบาลเพิ่งแถลงว่า พวกเขาสามารถยึดท่าเรือในซีราเต รวมทั้งย่านที่อยู่อาศัยหลายแห่งในด้านตะวันออกของเมืองนี้กลับคืนมาได้แล้ว
กองกำลังอาวุธฝ่ายหนุนรัฐบาลลิเบีย
กองกำลังอาวุธที่เข้าตีเมืองซีราเตกลับคืนเหล่านี้เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลเอกภาพของลิเบีย หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ (Government of National Accord หรือ GNA) รัฐบาลนี้ได้รับการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องชอบธรรมของลิเบีย
GNA ซึ่งนำโดยว่าที่นายกรัฐมนตรี ฟายเอซ อัล-ซาร์รัจ (Fayez al-Sarraj) ตกอยู่ในสภาพยากลำบากมากมาหลายเดือนแล้วในความพยายามที่จะแสดงอำนาจบารมีของตนเอง เมื่อเผชิญกับกลุ่มอื่นๆ ที่จัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาแข่งขันชิงอำนาจด้วย
สำหรับกองกำลังอาวุธต่างๆ ที่เป็นฝ่ายหนุน GNA นั้น ส่วนใหญ่เป็นพวกกองกำลังอาวุธท้องถิ่นจากเมืองแถบตะวันตกของลิเบีย โดยเฉพาะเมืองมิสราตา ตลอดจนหน่วยรักษาความปลอดภัยที่คอยคุ้มครองสถานขุดเจาะน้ำมันต่างๆ ให้พ้นจากมือไอเอสซึ่งพยายามบุกเข้ายึดอยู่เรื่อยๆ
ในการตีซีราเต กองกำลังอาวุธเหล่านี้ไม่เพียงเข้าทำศึกกับไอเอสแบบสู้รบไล่ล่ากันไปทีละถนนอย่างดุเดือดเท่านั้น แต่ยังมีอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างรถยานเกราะ, เครื่องยิงจรวด และปืนใหญ่ อีกด้วย
โดยเฉพาะกองกำลังอาวุธท้องถิ่นจากมิสราตา มีทั้งเครื่องบินขับไล่แบบ “มิก” ตลอดจนเฮลิคอปเตอร์โจมตี และได้นำออกมาใช้โจมตีทางอากาศเล่นงานพวกไอเอสหลายสิบเที่ยวแล้ว
สำหรับนักรบฝ่ายหนุนรัฐบาลที่บาดเจ็บล้มตายนั้น เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ผู้หนึ่งได้ระบุเมื่อวันเสาร์ (11) ว่า ตั้งแต่เปิดการรุกมุ่งหน้ายึดซีราเตในวันที่ 12 พฤษภาคมเป็นต้นมา มีนักรบฝ่ายหนุน GNA เสียชีวิตไปอย่างน้อย 137 ราย และบาดเจ็บราว 500 คน
ไอเอสมีนักรบ 5,000 คนในลิเบีย
พวกหน่วยข่าวกรองต่างประเทศประมาณการกันว่า ไอเอสมีนักรบอยู่ในลิเบียราว 5,000 คน แต่ในซีราเตมีเท่าใดนั้นไม่เป็นที่ชัดเจน
ชาวเมืองซีราเตส่วนใหญ่ได้หลบหนีออกจากเมืองไปแล้ว กระนั้นพวกเจ้าหน้าที่ระบุว่ายังคงมีพลเรือนเหลืออยู่ในซีราเตอีกราว 30,000 คน
มีรายงานว่า สหรัฐฯ และอังกฤษกำลังให้ความสนับสนุนด้านข่าวกรองแก่ยุทธการตีเมืองซีราเตคืนคราวนี้ โดยที่หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เคยรายงานข่าวเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ว่า มีการส่งทหารรบพิเศษของสหรัฐฯ กลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ไปยังลิเบียแล้ว เพื่อทำงานร่วมกับกองกำลังอาวุธฝ่ายหนุนรัฐบาล
พวกกองกำลังอาวุธฝ่ายหนุน GNA แถลงเมื่อวันพฤหัสบดี (9) ที่ผ่านมาว่า คาดหมายว่าจะสามารถประกาศข่าวการปลดปล่อยเมืองซีราเตได้ภายใน “สองหรือสามวัน”
อย่างไรก็ตาม พวกนักวิเคราะห์เตือนว่าการยึดซีราเตกลับคืนมายังไม่ได้หมายความว่าไอเอสหมดสิ้นไปจากลิเบียแล้ว ทั้งนี้ นักรบญิฮัดเหล่านี้สามารถเติบโตเข้มแข็งอยู่ในชาติร่ำรวยด้วยน้ำมันแห่งนี้ได้ สืบเนื่องจากภาวะความแตกแยกอย่างหนักทั้งทางการเมืองและการทหาร โดยที่ความแตกแยกวุ่นวายเช่นนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่การลุกฮือที่มีตะวันตกหนุนหลังเมื่อปี 2011 ซึ่งได้โค่นล้มระบอบปกครองกัดดาฟี และต่อมาตัวกัดดาฟีก็ถูกสังหาร