xs
xsm
sm
md
lg

ปธน.ออลลองด์ยันไม่ถอน กม.ปฏิรูปแรงงาน แม้คนงานฝรั่งเศสขยายการสไตรก์ วิตกกระทบฟุตบอล “ยูโร 2016”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>สมาชิกสหภาพแรงงานถือธงของสหภาพแรงงานซีจีที ขณะยืนอยู่ข้างๆ กองยางรถยนต์ซึ่งถูกจุดไฟเผา อันเป็นมาตรการหนึ่งที่พวกเขาใช้ในการปิดกั้นถนน ณ บริเวณติดกับทางเข้าโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทโตตาล ในเมือง  Donges  ทางภาคตะวันตกของฝรั่งเศส เมื่อวันอังคาร (31 พ.ค.) </i>
เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดี ฟรังซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศส ยืนกรานไม่ยกเลิกแผนปฏิรูปแรงงาน แม้ระบบคมนาคมขนส่งแดนน้ำหอมส่อเค้าจลาจลจากการนัดสไตรก์ครั้งใหญ่ของพนักงานรถไฟ รถไฟใต้ดิน รวมไปถึงเครื่องบิน และโรงกลั่นน้ำมัน ขณะที่การแข่งขันฟุตบอลยูโร 2016 กำลังจะเปิดฉากในอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ ด้านสมาคมนายจ้างกล่าวหาสหภาพแรงงานทำตัวเหมือน “ผู้ก่อการร้าย” อย่างไรก็ดี คนฝรั่งเศสถึง 46% ยืนยันสนับสนุนข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน

สถานการณ์ตึงเครียดนี้เกิดขึ้นขณะที่การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือยูโร 2016 กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 10 มิถุนายนนี้อยู่แล้ว และผู้อำนวยการคณะกรรมการการท่องเที่ยวปารีสกังวลว่า การนัดหยุดงานและการชุมนุมที่บ่อยครั้งลุกลามเป็นจลาจลรุนแรง ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับการก่อการร้าย จะทำให้นักท่องเที่ยวไม่อยากเดินทางสู่เมืองหลวงของฝรั่งเศส

เช่นเดียวกัน ปิแอร์ กาตาซ ประธานสหพันธ์นายจ้าง เอ็มอีดีอีเอฟ ประกาศว่า เพื่อยึดมั่นในหลักนิติธรรม ต้องมีการดำเนินการให้มั่นใจว่าคนส่วนน้อยที่ทำตัวเหมือนผู้ก่อการร้ายหรือฮูลิแกน จะต้องไม่สร้างปัญหาต่อประชาชนทั้งประเทศ

ในวันจันทร์ (30 พ.ค.) ประธานาธิบดีออลลองด์ยืนกรานปฏิเสธที่จะสนองตอบข้อเรียกร้องของซีจีที ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานใหญ่ของฝรั่งเศส ที่ต้องการให้รัฐบาลล้มเลิกแผนการปฏิรูปแรงงานซึ่งจะช่วยให้นายจ้างสามารถปลดพนักงานเก่าและว่าจ้างพนักงานใหม่ง่ายดายขึ้น

ผู้นำแดนน้ำหอมให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ ซุด อูแอสต์ โดยยืนยันว่า กฎหมายปฏิรูปแรงงานฉบับใหม่นั้นรับประกันศักยภาพสูงสุดของธุรกิจและเสนอสิทธิใหม่แก่ลูกจ้าง

ด้านซีจีทีซึ่งสัปดาห์ที่แล้วทำให้โรงกลั่นและคลังน้ำมันเป็นอัมพาตไปแล้ว ตอบโต้การปฏิเสธของออลลองด์ด้วยการเรียกร้องให้พนักงานในเครือข่ายรถไฟทั่วประเทศหยุดงานตั้งแต่วันอังคาร (31 พ.ค.) และวันพฤหัสบดี (2 มิ.ย.) สำหรับระบบรถไฟใต้ดินในปารีส

ขณะเดียวกัน โรงกลั่นน้ำมัน 6 ใน 8 แห่งของฝรั่งเศสต้องระงับหรือชะลอการดำเนินการเนื่องจากการผละงานของพนักงาน และเมื่อวันจันทร์ คนงานในคลังน้ำมันที่เมืองเลอ อาฟร์ที่จัดส่งน้ำมันให้สนามบินหลัก 2 แห่งในปารีส โหวตขยายเวลาการผละงานจนถึงวันพุธ (1)

ด้านสหภาพแรงงานการบินเรียกร้องให้พนักงานหยุดงานในช่วงสุดสัปดาห์หน้า และนักบินสายการบินแอร์ฟรานซ์ลงมติเมื่อวันจันทร์ในการนัดหยุดงานอย่างน้อย 6 วันในเดือนมิถุนายน อันเนื่องมาจากข้อพิพาทเกี่ยวกับเป้าหมายผลการทำงาน แต่แน่นอนว่าจะผสมโรงเพิ่มความชุลมุนวุ่นวายสำหรับนักเดินทางที่เดินทางไปชมการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2006
<i>ขบวนรถไฟในเส้นทางชานเมือง ของรัฐวิสาหกิจบริการรถไฟ เอสเอ็นซีเอฟ ของฝรั่งเศส จอดอยู่ในศูนย์แห่งหนึ่งใกล้ๆ กรุงปารีส วันอังคาร (31 พ.ค.)  โดยที่คนงานรถไฟมีกำหนดจะสไตรก์นัดหยุดงานทั่วประเทศในเย็นวันเดียวกัน </i>
แม้ยอมรับสิทธิในการนัดหยุดงาน ทว่า ออลลองด์เตือนว่าการประท้วงต้องไม่ทำให้ประเทศเป็นอัมพาต และยังพยายามลดกระแสความกังวลว่าสถานการณ์นี้จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อยูโร 2006 ที่จะจัดการแข่งขันในหลายเมืองทั่วฝรั่งเศสในระยะเวลา 1 เดือน ขณะที่แดนน้ำหอมยังบังคับใช้ภาวะฉุกเฉินหลังการก่อการร้ายเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 130 คนในหลายจุดของปารีส

ผู้นำแดนน้ำหอมย้ำว่า ภัยคุกคามสำคัญที่สุดยังคงเป็นการก่อการร้าย และเสริมว่าจะระดมกำลังตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเอกชนรวม 90,000 คนรักษาความปลอดภัยทั่วประเทศในช่วงยูโร 2016

ทั้งนี้ ประเด็นขัดแย้งสำคัญในด้านแรงงานคราวนี้ เนื่องมาจากรัฐบาลผลักดันให้ใช้มาตรการเพิ่มความยืดหยุ่นในตลาดแรงงานฝรั่งเศส โดยการช่วยให้นายจ้างสามารถปลดพนักงานและว่าจ้างพนักงานใหม่ง่ายดายขึ้น นอกจากนั้น นายจ้างยังสามารถเจรจาเงื่อนไขการทำงานและค่าตอบแทนแก่พนักงานโดยตรง แทนที่จะต้องถูกผูกมัดจากข้อตกลงของอุตสาหกรรม

ทว่า สหภาพแรงงานกลับมองว่าการปฏิรูปแรงงานของรัฐบาลจะบ่อนทำลายความมั่นคงในงาน และไม่สามารถแก้ปัญหาการว่างงานที่ขณะนี้อยู่ที่เกือบ 10%

สหภาพแรงงานยังไม่พอใจที่รัฐบาลผลักดันร่างกฎหมายปฏิรูปแรงงานผ่านสภาผู้แทนราษฎรโดยยังไม่มีการลงมติ และเรียกร้องนัดหยุดงานและชุมนุมใหญ่ทั่วประเทศอีกครั้งในวันที่ 14 มิถุนายน ซึ่งวุฒิสภาจะเริ่มอภิปรายร่างกฎหมายฉบับนี้ ก่อนลงมติและส่งต่อให้สภาผู้แทนราษฎรโหวตขั้นสุดท้าย

ขณะเดียวกัน แม้ชีวิตประจำวันยากลำบากขึ้น แต่ผลสำรวจของหนังสือพิมพ์ เจอร์นัล ดูว์ ดิมองช์ พบว่าคนฝรั่งเศสถึง 46% ยังคงสนับสนุนข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน

ความขัดแย้งระลอกนี้มีขึ้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเพียงหนึ่งปี โดยออลลองด์นั้นประกาศว่าจะลงสมัครต่ออีกสมัยเมื่อสามารถลดอัตราการว่างงานลงได้เท่านั้น โดยที่คะแนนนิยมของเขากำลังตกต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับบรรดาผู้นำฝรั่งเศสช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น