xs
xsm
sm
md
lg

‘สนามบินกรุงบรัสเซลส์’ เปิดบริการอีกครั้ง ‘วันนี้’ ให้บินขึ้น 3 เที่ยวบิน - คุมเข้มรักษาความปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<i>ตำรวจและทหารเบลเยียมตรวจคุมเข้มเส้นทางเข้าท่าอากาศยานซาเวนเตมของกรุงบรัสเซลส์ ในภาพซึ่งถ่ายเมื่อวันศุกร์ (1 เม.ย.) ที่ผ่านมา  ท่าอากาศยานแห่งนี้กำหนดเปิดให้บริการอีกครั้งในวันนี้ (3) โดยมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดยิ่งกว่าเดิมมาก </i>
เอเอฟพี/MGRออนไลน์ – ท่าอากาศยานซาเวนเตมของกรุงบรัสเซลส์ เปิดให้บริการใหม่อีกครั้งในวันนี้ (3 เม.ย.) โดยมีเที่ยวบิน “เชิงสัญลักษณ์” เพียงแค่ 3 เที่ยวบิน ขณะที่ใช้มาตรการตรวจเช็กความปลอดภัยอย่างเข้มงวดเพิ่มเติมขึ้นกว่าเดิมมาก นับเป็นหลักหมายการเริ่มต้นหน้าใหม่แห่งการเดินทางโดยทางอากาศในเบลเยียม ภายหลังถูกมือระเบิดฆ่าตัวตายของกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ก่อเหตุโจมตีเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน

ศูนย์กลางการเดินทางทางอากาศแห่งสำคัญแห่งนี้ ถูกปิดไปนับตั้งแต่ที่ชาย 2 คนจุดระเบิดฆ่าตัวตายในอาคารผู้โดยสารขาออกเมื่อวันที่ 22 มีนาคม โดยเป็นการก่อเหตุประสานกับการโจมตีด้วยมือระเบิดฆ่าตัวตายเช่นกันที่สถานีรถไฟใต้ดินแห่งหนึ่งในเมืองหลวงเบลเยียม รวมแล้วในทั้ง 2 จุดนี้ มีผู้ถูกสังหารไป 32 คน

เหตุโจมตีกรุงบรัสเซลส์ ซึ่งเป็นทั้งที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของสหภาพยุโรป (อียู) และองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ทำให้เบลเยียมตกอยู่ในภาวะช็อก และผู้คนจำนวนมากคาดหวังว่าการเปิดสนามบินแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ ถึงแม้ด้วยศักยภาพอันจำกัด และต้องใช้สถานที่เช็กอินชั่วคราวที่มีสภาพเหมือนๆ กับเต็นท์ จะช่วยให้ประเทศสามารถเร่งเดินหน้าต่อไปจากเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลทางจิตใจเมื่อปลายเดือนที่แล้ว
<i>อาโนด์ แฟตส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของท่าอากาศยานกรุงบรัสเซลส์ ขณะแถลงข่าวเมื่อวันเสาร์ (2 เม.ย.)  เขาบอกว่าสนามบินแห่งนี้จะเปิดให้บริการอีกครั้งในวันอาทิตย์ (3) โดยที่วันแรกจะมีเที่ยวบินขาออกเพียง 3 เที่ยวบิน </i>
อาร์โนด์ แฟสต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของท่าอากาศยานบรัสเซลส์ แถลงในวันเสาร์ (2) ว่า การเปิดบริการขึ้นใหม่บางส่วนนี้จะเริ่มต้นด้วย “เที่ยวบินโดยสารเชิงสัญลักษณ์” 3 เที่ยวบิน ซึ่งไปสู่จุดหมายปลายทางที่เมืองฟาโร, เอเธนส์, และตูริน

“เที่ยวบินเหล่านี้คือสัญญาณแรกแห่งความหวัง จากท่าอากาศยานที่กำลังลุกขึ้นยืนตระหง่าน ภายหลังถูกโจมตีอย่างขี้ขลาดตาขาว” แฟสต์ บอก

ในการเปิดให้บริการอีกครั้งคราวนี้ จะมีการใช้มาตรการตรวจตราอย่างเข้มข้นมาก หลังจากตำรวจขู่ที่จะสไตรค์นัดหยุดงานถ้าการไม่มีการปรับปรุงยกระดับเรื่องการรักษาความปลอดภัย ทั้งนี้ผู้ประสงค์จะเดินทางต้องมาถึงสนามบินก่อนเวลาเครื่องบินออก 3 ชั่วโมง

ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ประการหนึ่งก็คือ ผู้โดยสารที่มีตั๋วและเอกสารประจำตัวเท่านั้น จึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปในโรงผู้โดยสารขาออกชั่วคราว และกระเป๋าของพวกเขาจะถูกตรวจก่อนเข้า ครั้นเมื่อเข้าไปข้างในแล้ว ผู้โดยสารยังจะถูกตรวจเช็กความปลอดภัยตามขั้นตอนปกติอีก

ในช่วงแรกนี้ รถยนต์เท่านั้นที่จะได้รับอนุญาตให้แล่นเข้าไปยังสนามบินได้ โดยที่จะถูกคัดกรองและถูกตรวจสอบหลายๆ ชั้น ขณะเดียวกันก็จะมีกำลังตำรวจและทหารเพิ่มเติมเข้าไปลาดตระเวนทั่วทั้งพื้นที่สนามบิน

สำหรับเที่ยวบินแรกจะออกเดินทางไปยังเมืองฟาโร ในเวลา 11.40 น. เวลามาตรฐานกรีนิช (ตรงกับ 18.40 น.เวลาเมืองไทย) จากนั้นจะมีการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินขาออกเพิ่มมากขึ้นในวันต่อๆ ไป

กระนั้น ท่าอากาศยานแห่งนี้ก็จะยังคงสามารถปฏิบัติการได้ด้วยศักยภาพเพียงแค่ 20% สืบเนื่องจากใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แบบชั่วคราว ซึ่งรับผู้โดยสารได้เพียงชั่วโมงละ 800 – 1,000 คน
<i>สภาพหน้าต่างแตกหักเสียหายของท่าอากาศยานซาเวนเตม กรุงบรัสเซลส์ ภายหลังถูกผู้ก่อการร้ายกลุ่มไอเอสโจมตีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม  สนามบินแห่งนี้ต้องปิดตัวไปตั้งแต่วันนั้น และจะเปิดให้บริการใหม่อีกครั้งในวันนี้ (3 เม.ย.) </i>
แฟตส์ระบุว่า การบูรณะซ่อมแซมอาคารผู้โดยสารขาออกจะต้องใช้เวลาเป็นแรมเดือน ทั้งนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้นหนักหนาสาหัสทีเดียว โดยจากภาพสถานที่เกิดเหตุแสดงให้เห็นว่า ด้านหน้าของอาคารที่ทำด้วยกระจกนั้นแตกหักพังทลาย ส่วนหลังคาพังลงมา และเคาน์เตอร์เช็กอินจำนวนมากถูกอยู่ในสภาพยับเยิน

แฟตส์คาดหมายว่า ท่าอากาศยานซาเวนเตมจะเริ่มให้บริการอย่างเป็นปกติได้อีกครั้ง คงจะต้องเป็นปลายเดือนมิถุนายนหรือต้นเดือนกรกฎาคม “ก่อนเริ่มต้นช่วงหยุดพักผ่อนฤดูร้อน” ของยุโรป

การที่สนามบินหลักของกรุงบรัสเซลส์ต้องปิดตัวเองลง ได้สร้างความเสียหายหนักหน่วงให้แก่อุตสาหกรรมการเดินทาง โดยผู้โดยสารถูกบังคับให้เปลี่ยนเส้นทางบินหรือ ไปลงที่สนามบินอื่นๆ ทั้งที่อยู่ในและนอกเบลเยียม นอกจากนั้นแล้วยังทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังเบลเยียมลดลงอย่างฮวบฮาบ

ท่าอากาศยานของกรุงบรัสเซลส์แห่งนี้ ซึ่งระบุว่าสร้างรายได้ปีละ 3,000 ล้านยูโร (3,400 ล้านดอลลาร์) ให้แก่เศรษฐกิจของเบลเยียม ยังไม่ได้เปิดเผยตัวเลขใดๆ เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการปิดตัวลงคราวนี้ แต่สายการบินบรัสเซลส์แอร์ไลน์ ซึ่งเป็นสายการบินชั้นนำที่ใช้ท่าอากาศยานแห่งนี้อยู่ ระบุว่า ตนกำลังสูญเสียรายรับวันละ 5 ล้านยูโร

สนามบินซาเวนเตมมีบริษัทต่างๆ เข้าไปทำงานอยู่ราว 260 แห่ง ซึ่งว่าจ้างพนักงานรวมแล้วประมาณ 20,000 คน ท่าอากาศยานแห่งนี้จึงมีฐานะเป็นนายจ้างรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศ
<i>สภาพความเสียหายที่มองเห็นได้ของท่าอากาศยานซาเวนเตม เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ในขณะที่คณะของรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ ไปวางพวงมาลาคารวะเหยื่อที่เสียชีวิตจากเหตุวินาศกรรมในวันที่ 22 เดือนเดียวกัน </i>
ขณะที่ สมาคมโรงแรมบรัสเซลส์ก็รายงานว่า ยอดจองโรงแรมในเมืองหลวงเบลเยียมแห่งนี้ได้หล่นลงมาราว 50% นับแต่วันที่ 22 มีนาคม

อันที่จริงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเบลเยียมก็ได้รับความเสียหายอยู่ก่อนแล้ว ภายหลังเกิดเหตุกลุ่มไอเอสโจมตีกรุงปารีสในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งสังหารผลาญชีวิตผู้คนไปถึง 130 คน

คนร้ายหลายรายที่ร่วมก่อเหตุในปารีสคราวนั้น มีความเชื่อมโยงกับกรุงบรัสเซลส์ และนครหลวงเบลเยียมแห่งนี้ต้องใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยอันเข้มงวดอยู่หลายวันหลังจากเหตุวินาศกรรมเหี้ยมโหดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างฝรั่งเศสแล้ว เนื่องจากฝ่ายความมั่นคงของประเทศกลัวว่าบรัสเซลส์เองก็กำลังจะถูกโจมตีเช่นกัน

ผู้ต้องหาก่อเหตุที่ปารีสซึ่งยังเหลือรอดชีวิตอยู่เพียงคนเดียว คือ ซาลาห์ อับเดสลาม ได้ถูกรวบตัวที่กรุงบรัสเซลส์ ในบริเวณห่างเพียงไม่กี่เมตรจากบ้านครอบครัวของเขา เขาถูกจับเมื่อวันที่ 18 มีนาคม หรือเพียงแค่ 4 วันก่อนเกิดการก่อเหตุสังหารโหดในเมืองหลวงเบลเยียม

อับเดสลามปฏิเสธว่าไม่รู้อะไรล่วงหน้าเกี่ยวกับการโจมตีในบรัสเซลส์ทั้งสิ้น ถึงแม้เจ้าพนักงานสอบสวนค้นพบหลักฐานแสดงถึงการต่อเชื่อมโยงระหว่างเขากับคนร้ายที่เป็นมือระเบิดฆ่าตัวตายที่เมืองหลวงเบลเยียมอย่างน้อย 2 คน

ตำรวจเบลเยียมยังกำลังล่าตัวผู้ต้องสงสัยลึกลับรายที่ 3 ซึ่งมีฉายาเรียกขานกันว่า “ชายสวมหมวก” โดยบุคคลที่สวมหมวกผู้นี้ปรากฏอยู่ในวิดีโอจากกล้องทีวีวงจรปิด ขณะที่เขาอยู่ข้างๆ มือระเบิดสนามบินซาเวนเตมทั้งสอง

กำลังโหลดความคิดเห็น