เอเจนซีส์ - สิบตรี แบรดลีย์ แมนนิง วัย 28 ปี ซึ่งรู้จักในนาม เชลซี แมนนิง ได้ยื่นเอกสารจำนวน 209 หน้า ร้องขออุทธรณ์คำสั่งจำคุกลงจาก 35 ปี เหลือเพียงแค่ 10 ปี โดยอ้างว่า การกระทำของแมนนิงในการเปิดเผยข้อมูลลับทางทหารในช่วงสงครามอิรัก และ อัฟกานิสถาน นั้น เป็นการกระทำ “ที่ไร้เดียงสา”
ฟ็อกซ์นิวส์ สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า ในการเปิดเผยการยื่นขออุทธรณ์ของสิบตรี แบรดลีย์ แมนนิง ล่าสุด พบว่า แมนนิงได้ส่งเอกสารจำนวน 209 หน้า ไปยังศาลทหารสหรัฐฯในวันพุธ (18 พ.ค.) ที่ผ่านมา เพื่อร้องขอการลดโทษให้กับแมนนิง ที่ในปัจจุบันนี้ได้รับการอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็น เชลซี แมนนิง โดยต้องการขอให้ทำการลดโทษจำคุกจาก 35 ปี ลงเหลือแค่ 10 ปี ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นการลงโทษที่ไม่เป็นธรรม และสิ่งที่ไม่ได้กระทำ
แมนนิงในขณะนี้มีอายุได้ 28 ปี ถูกจับกุมตั้งแต่ปี 2010 และถูกพิพากษาโดยศาลทหารสหรัฐฯภายใต้ความผิดการละเมิดกฎหมายจารกรรมของสหรัฐฯ (the Espionage Act ) หลังจากที่เขาได้ยอมรับว่า ส่งเอกสารลับของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯและกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯไปให้กับเว็บไซต์วิกิลีกส์ของ จูเลียน แอสซานจ์ เพื่อทำการเผยแพร่
ซึ่งในเอกสารคำร้องของแมนนิง ได้อ้างว่า แมนนิงถูกตัดสินอย่างหนัก และเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับบรรดาผู้เปิดความลับเพื่อประโยชน์สาธารณะในอเมริกา
โดย วินเซนต์ วาร์ด (Vincent Ward) ทนายความพลเรือนของแมนนิง ได้ชี้ว่า คำพิพากษาที่แมนนิงได้รับนั้นไม่เป็นธรรมเป็นเพราะอัยการกองทัพสหรัฐฯพยายามที่จะชี้ให้ผู้พิพากษาคดีเข้าใจว่า การกระทำของแมนนิงถูกจัดว่าเป็นการช่วยเหลือศัตรู
ซึ่งพบว่าแมนนิงถูกตัดสินละเมิดกฎหมายจารกรรมสหรัฐฯใน 6 ความผิด และรวมไปถึงอีก 14 กระทงในการเผยแพร่เอกสารลับ 700,000 ชิ้น ซึ่งรวมไปถึงวิดีโอคลิปในสนามรบ ซึ่งในขณะนี้สิบตรีแมนนิงถูกจำคุกในฐานทัพฟอร์ต ลีเวนเวิร์ธ (Fort Leavenworth) รัฐแคนซัส
และพบว่า ในการยื่นขออุทธรณ์ แมนนิงได้ส่งเอกสารไปร้องกับศาลอุทธรณ์ทางทหารของกองทัพสหรัฐฯ ใน Fort Belvoir รัฐเวอร์จิเนีย โดยในเอกสารทั้งหมด 209 หน้า มีเนื้อหาชี้ว่า การลงโทษของแมนนิงเป็นการไร้ความยุติธรรมอย่างที่สุด และอีกทั้งยังปกป้องการกระทำของแมนนิงในครั้งนั้น ว่า “เป็นการตัดสินใจที่ไร้เดียงสา” รวมไปถึงยังชี้ว่า ในการเปิดเผยเอกสารลับทั้งหมดกว่า 700,000 ชิ้น รวมไปถึงวิดีโอคลิปเคลื่อนไหวกลางสนามรบนั้น “ไม่ได้ทำให้ผู้ใดตกอยู่ในอันตราย” ซึ่งในการไต่สวน อัยการกองทัพสหรัฐฯได้อ้างว่า การกระทำในครั้งนั้นเป็นอันตรายต่อความมั่นคงอเมริกา และทำให้คนที่ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือกองทัพสหรัฐฯตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิต จากการที่ข้อมูลส่วนบุคคลของคนเหล่านี้ถูกเปิดเผยสู่สาธารณะ
ฟ็อกซ์นิวส์ รายงานต่อว่า การยื่นร้องขออุทธรณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องมาจากสภาพที่เลวร้ายของแมนนิงที่ได้รับในขณะถูกลงโทษในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ที่ มารีน คอร์ปส์ บริก (Marine Corps brig) ในเมืองควอนติโก รัฐเวอร์จิเนีย โดยผู้พิพากษาในการไต่สวน พันเอก เดนนิส ลินด์ (Denise Lind) ได้ชี้ว่า เป็นการลงโทษก่อนการถูกพิพากษาที่ผิดกฎหมาย และทำให้ลดโทษแมนนิงลงไป 112 วัน
แต่อย่างไรก็ตาม ในคำอุทธรณ์ของแมนนิง ชี้ว่า ผู้พิพากษาลินด์ไม่ได้กล่าวถึงการลงโทษที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งแมนนิงได้รับจากการถูกขังเดี่ยวแต่อย่างใด
และในเอกสารของแมนนิง ยังกล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯจงใจเพิกเฉยการยอมรับในความผิดของแมนนิงเพื่อต้องการลดโทษ ซึ่งอาจลดได้ถึง 20 ปี แต่ทว่าในการพิพากษา กลับยังยื่นโทษหนักที่สุดให้กับแมนนิงในระยะเวลา 35 ปี ตามที่ได้เคยประกาศ รวมไปถึงข้อหาหนักอื่น ๆ ซึ่งหากข้อกล่าวหาเหล่านั้นไม่ถูกกลับ ทางศาลทหารสหรัฐฯสมควรที่ต้องลดโทษลงไปเหลือแค่ 10 ปี ตามที่ทางทีมกฎหมายของแมนนิงได้ยื่นขอไว้
และในเอกสารฉบับบนี้ ยังได้กล่าวถึงกฎหมายจารกรรมของสหรัฐฯว่าขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญอเมริกาหรือไม่ ซึ่งทางกลุ่ม American Civil Liberties Union ได้ยื่นเอกสารประกอบร่วมในเรื่องนี้