รอยเตอร์ - องค์การอนามัยโลกเมื่อวันพฤหัสบดี (12 พ.ค.) เปิดเผยอันดับเมืองที่ประสบมลพิษทางอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก โดยในท็อปเท็นมีเมืองต่างๆ ของอินเดียติดเข้ามาถึง 4 แห่ง ขณะที่เมืองที่มีสถานการณ์เลวร้ายที่สุดอยู่ในอิหร่าน
ในขณะที่องค์การอนามัยโลกบอกว่าอินเดียต้องเผชิญความท้าทายใหญ่หลวง แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่ามีอีกหลายชาติที่อยู่ในสถานการณ์เลวร้าย ทว่าด้วยประเทศต่างๆเหล่านั้นไม่มีระบบเฝ้าระวัง จึงไม่สามารถนำมานับรวมในการจัดอันดับได้
อากาศสกปรกที่สุดตรวจวัดได้ในเมืองซาโบลของอิหร่าน ซึ่งต้องประสบกับพายุทรายนานหลายเดือนในช่วงฤดูร้อนนี้ ซึ่งวัดค่า PM2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ได้ที่ 217 หรือ 217 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
รองลงมาได้แก่ 2 เมืองของอินเดีย คือ กวาลิเออร์ และอัลลาฮาด ตามมาด้วย ริยาดและอัล จูบาอิล ในซาอุดีอาระเบีย จากนั้นก็เป็นอีก 2 เมืองของอินเดียปัฏนา และไรปุระ
ส่วนนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย อยู่ในอันดับ 11 ของเมืองที่ประสบมลพิษทางอากาศเลวร้ายที่สุดในผลสำรวจ จากการวัดค่า PM 2.5 ในทุกลูกบาศก์เมตรของอากาศ โดยที่เดลีมีค่าเฉลี่ย PM 2.5 อยู่ที่ 122 หรือ 122 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ฝุ่นละอองขนาดเล็กอาจก่อมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจในระยะยาว เช่นเดียวกับอาการต่างๆ อย่างเช่นภาวะหัวใจล้มเหลวที่สามารถคร่าชีวิตได้ฉับพลัน โดยองค์การอนามัยโลกบอกว่ามีผู้คนต้องมาจบชีวิตก่อนกำหนดจากมลพิษทางอากาศมากกว่า 7 ล้านคนในแต่ละปี โดยในนั้น 3 ล้านคนเป็นผลจากคุณภาพอากาศในที่แจ้ง
นิวเดลีเคยเป็นเมืองที่ถูกจัดอยู่ในอันดับแย่สุดในปี 2014 ด้วยวัดค่า PM 2.5 ได้ถึง 153 แต่นับตั้งแต่นั้นทางเมืองแห่งนี้ก็พยายามจัดการกับภาวะมลพิษทางอากาศ ด้วยการจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนตัวบนท้องถนนในช่วงเวลาสั้นๆ
สาเหตุทั่วไปของมลพิษ มีทั้งการใช้รถยนต์มากเกินไป โดยเฉพาะรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล สภาพอากาศที่ร้อนจัด และระบบทำความเย็นของอาคารขนาดใหญ่ การจัดการกับขยะ การเกษตร และการใช้ถ่านหินหรือเครื่องปั่นไฟดีเซลเพื่อกำเนิดไฟฟ้า
ค่าเฉลี่ยของระดับมลพิษเลวร้ายลงราว 8 เปอร์เซ็นต์ระหว่างปี 2008 ถึง 2013 แม้ว่าเมืองต่างๆ ในประเทศมั่งมีได้ปรับปรุงสภาพอากาศของพวกเขาในช่วงเวลาเดียวกันนั้น
ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า จากการสำรวจในเขตเมือง 3,000 แห่ง พบมีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ของเมืองต่างๆ ในประเทศยากจนที่มีคุณภาพทางอากาศตรงตามมาตรฐานของอนามัยโลก ผิดกับพวกประเทศร่ำรวย ซึ่งมีสภาพอากาศที่ได้มาตรฐานของอนามัยโลกคิดเป็น 44 เปอร์เซ็นต์