รอยเตอร์ - ที่ประชุมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) เมื่อวันพุธ (11 พ.ค.) แสดงความกังวลต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายลงในไทยนับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจ กระตุ้นให้รัฐบาลทหารต้องออกมาปกป้องการจำกัดสิทธิการแสดงออก โดยชี้แจงว่ามาตรการนี้มีเป้าหมายที่พวกที่ปลุกปั่นความรุนแรงเท่านั้น
ในช่วงเวลาที่คณะรัฐประหารของไทยได้ดำเนินการจับกุมพวกวิพากษ์วิจารณ์ทางออนไลน์รอบใหม่ เหล่ารัฐสมาชิกของสหประชาชาติที่เข้าร่วมประชุมทบทวนรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็ได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายลงในไทยนับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2014
สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่าสมาชิกบางส่วนของสหประชาชาติเรียกร้องให้กองทัพทบทวนกฎหมายต่างๆ ซึ่งเป็นที่ถกเถียง อย่างเช่นกฎหมายล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ บอกว่ามันถูกใช้เงียบเสียงพวกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเรื่อยๆ
“ไทยควรอนุญาตให้ประชาชนชาวไทยได้มีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองอย่างเต็มที่” สหรัฐฯ ระบุในถ้อยแถลงสรุปต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และเรียกร้องยกเลิกโทษขั้นต่ำสำหรับฐานความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนกระทรวงยุติธรรมของไทยชี้แจงว่าข้อจำกัดต่างๆ นั้นมีความมุ่งหมายที่พวกปลุกปั่นความรุนแรงเท่านั้น ตอบโต้ความกังวลที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในที่ประชุมทบทวนการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นครั้งแรกของไทยนับตั้งแต่ปี 2011
กองทัพเข้ายึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2014 โดยอ้างว่าเพื่อยุติวงจรความไม่สงบทางการเมืองอันเจ็บปวดที่สั่นคลอนไทยมาตั้งแต่ทหารโค่นอำนาจนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้นในปี 2006
พวกกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ บอกว่าคณะรัฐประหารกุมอำนาจอย่างเข้มข้นและควบคุมสิทธิต่างๆ อย่างหนักหน่วงในปีที่ผ่านมา ทั้งคุมขังพวกนักวิจารณ์ บังคับใช้กฎหมายใหม่ที่มีเป้าหมายควบคุมสิทธิการแสดงออก เซ็นเซอร์สื่อมวลชน และจำกัดการถกเถียงทางการเมือง
ในรายงานของรอยเตอร์ระบุว่า รัฐบาลทหารของไทยได้ยกระดับดำเนินคดีกับพวกที่ถูกกล่าวหาในฐานความผิดหมิ่นประมาท และกำหนดบทลงโทษหนักหน่วงขึ้น ขณะที่การปราบปรามล่าสุดมีขึ้นก่อนที่จะมีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยทหารและถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางต่อสาธารณะในเดือนสิงหาคม
เมื่อวันอังคาร (10 พ.ค.) เจ้าหน้าที่ไทยได้ให้ประกันตัวนักเคลื่อนไหว 8 คนที่ถูกจับกุมในเดือนสิงหาคม เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นวิจารณ์คณะรัฐประหารและร่างรัฐธรรมนูญในเฟซบุ๊ก
แต่ 2 ใน 8 นักเคลื่อนไหวยังต้องเผชิญข้อกล่าวหาล่วงละเมิดสถาบันอีกคดี โดยในวันพุธ (11 พ.ค.) พวกเขาถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากการส่งข้อความสนทนาส่วนตัวในเฟซบุ๊ก
ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยอยู่ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 15 ปีในแต่ละฐานความผิด
อนึ่ง ไทยเป็นหนึ่งใน 14 ประเทศที่ถูกสอบถามตาม Universal Periodic Review (UPR) อันเป็นกลไกหนึ่งของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Right Council : UNHRC) เพื่อการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนในประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ 193 ชาติ