xs
xsm
sm
md
lg

‘เลือกตั้งประธานาธิบดี’วันจันทร์นี้ อาจเปลี่ยน ‘นโยบายภายใน’ และ ‘ท่าทีต่อจีน’ ของฟิลิปปินส์

เผยแพร่:   โดย: ริชาร์ด จาวัด เฮย์ดาเรียน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Philippines faces crossroads in May presidential elections
By Richard Javad Heydarian
04/05/2016

ฟิลิปปินส์กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคมนี้ เห็นกันว่าการเลือกตั้งคราวนี้จะก่อให้เกิดผลต่อเนื่องตามมาอย่างมากมายที่สุดครั้งหนึ่งของแดนตากาล็อกทีเดียว ผู้เขียนคาดหมายว่าในจำนวนผู้สมัครมากหน้าหลายตา คู่ที่จะชิงชัยกันจริงๆ คือ คู่ของ ดูเตอร์เต – มาร์กอส จูเนียร์ ซึ่งเน้นนโยบายเด็ดขาดใช้ “กำปั้นเหล็ก” กับ คู่ของ โรซาส – โรเบรโด ที่แสดงตัวเป็นนักปฏิรูปผู้มุ่งหน้าเดินไปตามเส้นทางสายตรงแน่วอันถูกต้อง

มะนิลา - ฟิลิปปินส์กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ มีเหตุผลอยู่มากมายที่ทำให้สามารถกล่าวได้ว่า การเลือกตั้งที่กำหนดจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคมนี้ คือการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่จะก่อให้เกิดผลสะเทือนต่อเนื่องตามมามากที่สุดของแดนตากาล็อกในรอบระยะเวลาเท่าที่ยังพอจะจดจำกันได้ทีเดียว ทั้งนี้เส้นทางเดินทั้งทางด้านนโยบายภายในประเทศและนโยบายการต่างประเทศของฟิลิปปินส์อาจเกิดการหักเลี้ยวกันอย่างน่าตื่นใจขึ้นมา โดยขึ้นอยู่กับส่วนประกอบของคณะบริหารชุดต่อไป

เวลาหลายๆ ปีที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าระดับเฉลี่ย และปัจจุบันก็ถูกจับตามองว่าอยู่ในหมู่ประเทศซึ่งเป็นดาวเด่นจรัสแสงขึ้นมาใหม่ในทางเศรษฐกิจของโลก ผู้เชี่ยวชาญบางคนไปไกลถึงขั้นประทับตราให้แก่ฟิลิปปินส์ว่า จะเป็นเสือเศรษฐกิจตัวต่อไปของเอเชีย [1] ขณะที่คนอื่นๆ ระบุว่าแดนตากาล็อกเป็นชาติที่สามารถทะลวงกรอบทลายกรงขังข้อจำกัด และกำลังอยู่บนปากประตูแห่งการก้าวโจนทะยานทางเศรษฐกิจในระยะยาว[2] ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ในปัจจุบันกำลังเป็นที่ยกย่องชื่นชมในหมู่นักลงทุนระดับโลก [3]

หากตัดเอาคำพูดสรรเสริญเยินยอกันจนเกินจริงทั้งหลายออกไป อย่างน้อยที่สุดเราก็ย่อมสามารถกล่าวได้ว่า ฟิลิปปินส์เวลานี้ไม่ได้เป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” อีกต่อไปแล้ว ในท้ายที่สุดแดนตากาล็อกก็กำลังได้รับประโยชน์จากทรัพยากรอันมากมายใหญ่โตกว้างขวางของตน ไม่ว่าจะเป็นทุนทางด้านมนุษย์, ทรัพยากรธรรมชาติด้านต่างๆ, ตลอดจนดอกผลจากโครงสร้างทางประชากร ภายใต้การปกครองของคณะบริหารของประธานาธิบดีเบนีโญ อากีโน ช่วงไม่กี่ปีหลังๆ มานี้เรายังสามารถมองเห็นด้วยว่าฟิลิปปินส์มีการปรับปรุงกระเตื้องดีขึ้นทั้งในด้านการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ [4], ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ [5], ตลอดจนการเริ่มต้นต่อสู้ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น [6]

สำหรับทางด้านนโยบายการต่างประเทศ คณะบริหารอากีโนก็ได้กำหนดทิศทางนโยบายทางด้านนี้ของตนเสียใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังเกิดวิกฤตการณ์แนวปะการังสคาร์โบโร ในทะเลจีนใต้ ( Scarborough Shoal crisis) เมื่อปี 2012 [7] ภายในเวลาไม่ถึง 1 ทศวรรษ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายนี้ได้สับสวิตช์เปลี่ยนจากการพยายามรักษาความสัมพันธ์ที่ตนเองมีอยู่กับอเมริกาและที่มีอยู่กับจีนให้มีความสมดุลเท่าเทียมกัน (equilateral balancing) กลายมาเป็นการเดินตามยุทธศาสตร์แห่งการต่อต้านความสมดุล (counter-balancing strategy) ชนิดมุ่งคัดค้านจีน แบบเดียวกับที่อเมริกาและญี่ปุ่นใช้อยู่

วันนี้ ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศเดียวที่กล้าลุกขึ้นฟ้องร้องจีนต่อศาล (อนุญาโตตุลาการ) ระหว่างประเทศ [8] ในกรณีพิพาทช่วงชิงดินแดนทางทะเล คณะผู้นำฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานาธิบดีอากีโน ตลอดจนอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ อัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ (Albert Del Rosario) คือผู้ที่อยู่ในหมู่นักวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งส่งเสียงดังที่สุดในเรื่องการดำเนินนโยบายแบบนักลัทธิเรียกร้องเอาดินแดนกลับคืน (revanchism) ของจีนในแถบทะเลจีนใต้ [9] ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าประหลาดใจเลยว่า มะนิลากับปักกิ่งมีความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีแบบอุดมไปด้วยพิษร้ายหนักหนาสาหัสที่สุดคู่หนึ่งในเอเชีย

อย่างไรก็ตาม เมื่อฟิลิปปินส์ต้องทำการเลือกตั้งคณะผู้นำชุดใหม่ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จึงอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปหมดในช่วงเวลาไม่กี่เดือนนับจากนี้ไป ผลการสำรวจล่าสุด [10] บ่งชี้ให้เห็นว่า โรดริโก ดูเตอร์เต (Rodrigo Duterte) นายกเทศมนตรีเมืองดาเวา (Davao) ผู้มีคารมปลุกเร้าความรุนแรง และ เฟอร์ดินานด์ “บอง บอง” มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand “Bong Bong” Marcos Jr.) บุตรชายคนเดียวของอดีตจอมเผด็จการแห่งฟิลิปปินส์ กำลังเรียกความนิยมจนกลายเป็นตัวเก็งที่จะได้ครอง 2 ตำแหน่งสูงสุดของประเทศ

ตามรัฐธรรมนูญของแดนตากาล็อก การเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีถือว่าแยกต่างหากจากกัน ดูเตอร์เต ขณะนี้ เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งได้รับความชื่นชอบสูงที่สุด ขณะที่ มาร์กอส จูเนียร์ ก็ทำแต้มตีคู่คี่ในการแข่งขันชิงเก้าอี้รองประธานาธิบดี สำหรับผู้สมัครแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในคราวนี้คนอื่นๆ ยังประกอบด้วย เจโจมาร์ บินาย (Jejomar Binay) แห่งพรรคยูไนเต็ด เนชั่นแนล อัลไลแอนซ์ หรือ ยูเอ็นเอ (United National Alliance --UNA) , มิเรียม ดีเฟนเซอร์ ซานติอาโก (Miriam Defensor Santiago) จากพรรคพีเพิลส์ รีฟอร์ม ปาร์ตี้ หรือ พีอาร์พี (People's Reform Party –PRP), มาร์ โรซาส (Mar Roxas) แห่งพรรคลิเบอรัล (Liberal), และ เกรซ โป (Grace Poe) ผู้สมัครอิสระ (Independent) สำหรับผู้ลงแข่งขันชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนอื่นๆ ที่น่าสนใจ ยังประกอบด้วย กริงโก โฮนาซาน แห่งพรรคยูเอ็นเอ (Gringo Honasan -- UNA) และ อลัน ปีเตอร์ คาเยตาโน ที่เป็นผู้สมัครอิสระ (Alan Peter Cayetano --Independent)

ผลการหยั่งเสียงความนิยมหลังสุด ให้ โรซาส มาเป็นอันดับ 2 ด้วยคะแนน 22% นำหน้า โป ที่ได้ 21% แค่นิดเดียว ขณะที่ทางด้านรองประธานาธิบดี ผู้ที่ได้อันดับ 1 และ 2 มีคะแนนนิยมคู่คี่กันมาก โดยที่ เลนิ โรเบรโด แห่งพรรคลิเบอรัล (Leni Robredo -- Liberal) ได้ 30% และ มาร์กอส จูเนียร์ อยู่ที่ 28%

การก้าวผงาดขึ้นมาของ ดูเตอร์เต – มาร์กอส

ดูเตอร์เต กลายเป็นแบบอย่างชั้นยอดของผู้ที่เป็นคนวงนอกทางการเมือง ในเมื่อเวลานี้เขาอยู่ในฐานะได้เปรียบสุดๆ ในการชิงชัยเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนต่อไป เขาประกาศให้คำมั่นสัญญาที่จะบริหารปกครองประเทศในแบบของผู้นำที่กล้าตัดสินใจ และมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว ถึงแม้ยังแทบไม่ได้ขยายรายละเอียดอย่างเจาะจงชัดเจนเกี่ยวกับวาระนโยบายของเขา ไม่ว่าอยู่ต่อหน้าพ่อค้าแม่ขายหาบเร่แผงลอยในตลาด หรือเผชิญหน้ากับชนชั้นนำในภาคธุรกิจ ดูเตอร์เตก็นำเสนอตัวเองด้วยชุดคำปราศรัยหาเสียงที่ค่อนข้างจะคล้ายคลึงกัน โดยมุ่งเน้นย้ำถึงสงครามที่เขากระทำมาหลายทศวรรษ ในการต่อสู้ปราบปรามอาชญากรรม, ยาเสพติด, และการทุจริตคอร์รัปชั่นในดาเวา ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากในภาคใต้ของฟิลิปปินส์

ด้วยความนิยมชื่นชอบกล่าวคำสบถคำอุทานอันหยาบคายและคำพูดชนิดยั่วยุท้าทาย ดูเตอร์เตจึงมักพาตัวเองเข้าไปอยู่ในศูนย์กลางแห่งการถกเถียงโต้แย้งของสื่อมวลชนอยู่เสมอ ซึ่งบ่อยครั้งทำให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างเขากับเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ โดนัล ทรัมป์ ผู้ที่กำลังสั่นคลอนภูมิทัศน์ทางการเมืองของอเมริกาอย่างสนั่นหวั่นไหวอยู่เช่นเดียวกัน เมื่อเร็วๆ นี้ ดูเตอร์เตยังกลายเป็นพาดหัวข่าวของสื่อระดับระหว่างประเทศอีกด้วย สืบเนื่องจากการพูดตลกโปกฮาเกี่ยวกับการข่มขืนที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง[11] รวมทั้งทำให้เขาถูกติเตียนประณามจากทั่วโลก โดยเฉพาะจากสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย และสถานเอกอัครราชทูตอเมริกัน

ทว่าดูเตอร์เตไม่ได้แสดงความครั่นคร้ามเลย เขากลับตอบโต้ขยายผลกระทบให้กว้างไกลออกไปอีก ถึงขั้นข่มขู่คุกคามที่จะตัดความสัมพันธ์กับประเทศทั้งสอง หากเขาชนะการเลือกตั้ง ในเวลาเดียวกันเขาก็บอกให้เอกอัครราชทูตของทั้งสองประเทศ “หุบปาก” อย่าได้เข้ามายุ่มย่ามแทรกแซงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของแดนตากาล็อก เท่าที่ผ่านมามีน้อยครั้งเหลือเกินที่จะมีนักการเมืองชาวฟิลิปปินส์คนไหนหน้าไหนหาญกล้าออกมาท้าทายอย่างโจ่งแจ้งครึกโครมต่อตัวแทนของชาติพันธมิตรผู้แข็งแกร่งไว้วางใจได้อย่างอเมริกา อดีตเจ้าอาณานิคมซึ่งยังคงเป็นที่รักใคร่ และยังคงเป็นที่นิยมชมชอบอย่างลึกซึ้งในหมู่ชาวฟิลิปปินส์[12]

แน่นอนทีเดียว ในสายตาของบางผู้บางคนแล้ว สิ่งที่ดูเตอร์เตแสดงให้เห็นในคราวนี้ คือการแสดงจุดยืนแห่ง “ความเป็นอิสระ” กล้าประจันหน้าท้าทายกับพวกมหาอำนาจตะวันตก กล่าวได้ว่า ดูเตอร์เต ก็คล้ายๆ กับ (นายกรัฐมนตรี) นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย และ ปราโบโว สุเบียนโต (Prabowo Subianto) แห่งอินโดนีเซีย (สุเบียนโตเป็นอดีตบุตรเขยของประธานาธิบดีซูฮาร์โต เป็นนายทหารทรงอิทธิพลที่ออกมาเล่นการเมือง และเป็นผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแดนอิเหนาสมัยล่าสุด ทว่าพ่ายแพ้แก่ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด –ผู้แปล) โดยประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลในการต่อเชื่อมหาประโยชน์จาก “ความเหนื่อยหน่ายต่อประชาธิปไตย” (democratic fatique)[13] ที่กำลังปรากฏให้เห็นในหมู่พลเมืองสามัญชน ผู้ซึ่งคิดถึงและหิวกระหายที่จะได้การบริหารปกครองชนิดทรงประสิทธิภาพ ขณะที่เศร้าเสียใจกับรัฐบาลซึ่งผ่านการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยในช่วงไม่กี่สิบปีหลังมานี้ที่ดูเหมือนกับพิกลพิการเป็นอัมพาตทำอะไรไม่ได้เอาเสียเลย

ถึงแม้ฟิลิปปินส์กำลังผงาดขึ้นมาในฐานะที่เป็นหนึ่งในระบบเศรษฐกิจซึ่งเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็วที่สุดในเอเชีย แต่มองกันโดยภาพรวมแล้ว ประเทศนี้ก็ยังคงเจ็บปวดเดือดร้อนจากการที่ภาวะความยากจนและอัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง[14] และหลักนิติธรรม หรือการปกครองโดยยึดหลักการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ยังคงเป็นเพียงความมุ่งมาดปรารถนาที่ไม่เป็นจริงเสียที ในสายตาของผู้คนจำนวนมากแล้ว คณะบริหารอากีโนประสบความล้มเหลวอย่างใหญ่โตในหลายๆ ด้านทีเดียว โดยเฉพาะในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และในการสร้างสรรค์ระบบขนส่งมวลชนอันทรงประสิทธิผล

สำหรับ มาร์กอส จูเนียร์ ถึงแม้กิริยามารยาทและคำพูดคำจาของเขามีความสุภาพนุ่มนวลมากกว่าดูเตอร์เต โดยที่บุตรชายคนเดียวของอดีตจอมเผด็จการผู้นี้ได้เคยผ่านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นเลิศของโลกอย่าง ออกซ์ฟอร์ด และ วอร์ตัน มาแล้ว[15] แต่เขาก็ให้คำมั่นสัญญาในทำนองเดียวกับดูเตอร์เต ว่าจะแสดงความเป็นผู้นำแบบใหม่ซึ่งเน้นหนักเรื่องระเบียบวินัยและความเด็ดขาดกล้าตัดสินใจ มาร์กอส จูเนียร์ ดูเหมือนไม่ได้เสียอกเสียใจอะไร[16] เกี่ยวกับมรดกแห่งความพินาศยับเยินที่บิดาของเขาทิ้งไว้ให้แก่แดนตากาล็อก[17] ตรงกันข้าม เขากลับกล้าที่จะออกปากอวดอ้างอย่างน่าตื่นตะลึงว่า จอมเผด็จการผู้ล่วงลับไปแล้วผู้นั้น จะเปลี่ยนแปลงให้ฟิลิปปินส์กลายเป็น “สิงคโปร์” ไปอีกแห่งหนึ่งด้วยซ้ำ[18] ถ้าหากไม่ถูกขัดขวางจากการปฏิวัติ “พลังประชาชน” ในปี 1986 (the 1986 “People Power” revolution) ซึ่งทำให้ มาร์กอส ซีเนียร์ ต้องตกลงจากอำนาจ และนำไปสู่การฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ในฟิลิปปินส์

ถ้าหากพวกเขาทั้งคู่ต่างประสบชัยชนะ ก็เป็นที่คาดหมายได้ว่าระบอบปกครองของดูเตอร์เต-มาร์กอส จะนำความเปลี่ยนแปลงมากมายสู่ภูมิทัศน์ทางการเมืองภายในประเทศของฟิลิปปินส์ โดยที่พวกผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในเรื่องกิจการของฟิลิปปินส์ได้ออกมาเตือนว่า มีโอกาสความเป็นไปได้ที่ประเทศนี้จะปรากฏลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จยุคใหม่ (neo-authoritarianism)[19] ซึ่งอาจจะส่งผลต่อเนื่องอันไม่พึงปรารถนาต่อสิทธิเสรีภาพพื้นฐานด้านต่างๆ ของพลเมือง

ดูเตอร์เต-มาร์กอส อาจหันไปคืนดี ‘จีน’

ควรต้องพูดกันอย่างเป็นธรรมว่า มาร์กอส จูเนียร์ นั้น ยังไม่เคยแสดงความสนับสนุนให้ประกาศใช้การปกครองแบบกฎอัยการศึก หรือการหวนกลับคืนไปสู่ระบบเผด็จการ อย่างไรก็ตาม สำหรับดูเตอร์เต ผู้มีสีสันฉูดฉาดบาดตามากกว่า เขาออกมาพูดข่มขู่อย่างชัดเจนว่าพร้อมที่จะยุบทิ้งรัฐสภาฟิลิปปินส์ หากไม่ยอมเดินตามนโยบายของเขา[20] ขณะเดียวกันก็ยังเสนอแนะอย่างชื่นชมเกี่ยวกับความดีของ “ระบบเผด็จการ”[21] กระนั้นก็ตาม ยังคงไม่เป็นที่กระจ่างชัดเจนเลยว่า เขาคิดเห็นเช่นนั้นอย่างจริงจังหรือเป็นเพียงการเล่นมุกเพื่อให้ตลกโปกฮาเท่านั้น ทว่าก็เป็นที่แจ่มแจ้งว่า บางผู้บางคนรู้สึกว่ามองเห็นสัญญาณอันตรายอันน่าหวาดผวาจากท่านนายกเทศมนตรีผู้ชอบพูดจาขึงขังแข็งกร้าวผู้นี้

“ดิ อีโคโนมิสต์ (The Economist) นิตยสารทางเศรษฐกิจและทางการเมืองชั้นนำของโลก ได้ออกมาตีกระหน่ำถึงอนาคตอันไม่สดใสที่จะเกิดขึ้นเมื่อดูเตอร์เตขึ้นเป็นประธานาธิบดี[22] โดยเตือนด้วยว่าดอกผลทางเศรษฐกิจมหภาคที่เพิ่งปรากฏให้เห็นในช่วงหลังๆ นี้อาจจะถูกตัดถูกลิดรอนไปภายในเวลาไม่ช้าไม่นาน ขณะที่ค่าเงินเปโซฟิลิปปินส์อยู่ในอาการลดวูบในระยะไม่กี่สัปดาห์หลังๆ มานี้[23] ถือเป็นลางบอกเหตุล่วงหน้าว่าอาจจะเกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกไปอย่างขนานใหญ่ในช่วงไม่กี่เดือนต่อจากนี้ไป พวกผู้เชี่ยวชาญเรื่องกิจการของฟิลิปปินส์ อาทิ แรนดี้ เดวิด (Randy David) กำลังกล่าวเตือนถึงความเป็นไปได้ที่ลัทธิเผด็จการฟาสซิสต์สไตล์ฟิลิปปินส์ (Philippine-style fascism) อาจจะผงาดรุ่งเรืองขึ้นมา[24] พวกนักลงทุนต่างอยู่ในอาการว้าวุ่นกระวนกระวายใจ ส่วนสื่อมวลชนก็อยู่ในภาวะตื่นตัวเตรียมที่จะทำข่าวใหญ่ ขณะที่พวกปัญญาชนกำลังวิ่งวุ่นเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความผันผวนอย่างไม่คาดหมายของเหตุการณ์ต่างๆ ในการเลือกตั้งของแดนตากาล็อก

อย่างไรก็ดี ยังมีผู้คนจำนวนมากซึ่งยืนกรานเชื่อมั่นว่า คำพูดคำจาแบบไม่มีหูรูดขาดการพิจารณาไตร่ตรองทั้งหลายทั้งปวงของดูเตอร์เต แทบทั้งหมดเป็นเพียงแค่มุกในการหาเสียงซึ่งมุ่งปลุกปลอบดึงดูดใจผู้มีสิทธิออกเสียงที่อยู่ในอาการฮึดฮัดไม่พอใจเท่านั้น พวกเขาเหล่านี้มองเห็นดูเตอร์เตว่า แท้ที่จริงแล้วเขาเป็นผู้สมัครที่กำลังต่อสู้อยู่กับระบอบคณาธิปไตยของฟิลิปปินส์ เป็นผู้ที่ต้องการทลายสภาวการณ์ซึ่งชนชั้นปกครองส่วนน้อยร่วมมือกันเข้าครอบงำสถาบันต่างๆ ทางด้านประชาธิปไตยของประเทศเอาไว้ นอกจากนั้น ทั้งดูเตอร์เตและมาร์กอส ซึ่งต่างไม่ได้แสดงความสนอกสนใจอะไรนักหนาต่อการที่มะนิลาฟ้องร้องปักกิ่งต่อศาลระหว่างประเทศ ยังส่งสัญญาณแสดงความปรารถนาของพวกเขาที่จะพิจารณาทบทวนเปลี่ยนแปลงนโยบายของฟิลิปปินส์ที่มีต่อจีนในปัจจุบันอีกด้วย

แทนที่จะยืนยันสืบต่อจุดยืนของคณะบริหารอากีโน ที่จะให้แก้ปัญหาข้อพิพาทต่างๆ ซึ่งฟิลิปปินส์มีอยู่กับจีน โดยใช้เวทีพหุภาคีหรือดึงเอานานาชาติเข้ามามีส่วนร่วม ดูเตอร์เต และ มาร์กอส ต่างแสดงท่าทีเปิดกว้างต่อการเข้าพูดจาสนทนาโดยตรงกับปักกิ่ง อันเป็นข้อเรียกร้องต้องการของฝ่ายจีนในเวลานี้ และกระทั่งพร้อมจะไปถึงขั้นทำข้อตกลงพัฒนาร่วมกันกับแดนมังกรอีกด้วย เมื่อเร็วๆ นี้ ดูเตอร์เตไปไกลถึงขนาดกล่าวย้ำว่า ถ้าจีนจะ “สร้างรถไฟแล่นไปรอบๆ เกาะมินดาเนา (เกาะใหญ่ทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์) ให้ผม สร้างรถไฟจากมะนิลาไปถึงบิโกล (Bicol ดินแดนทางปลายสุดด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะลูซอน) ให้ผม ... สร้างรถไฟที่จะไปยังจังหวัดบาตังกัส (Batangas พื้นที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งบนเกาะลูซอน) ให้ผมแล้วละก้อ ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผมจะเป็นประธานาธิบดี ผมจะหุบปาก (ไม่พูดถึงข้อพิพาทช่วงชิงดินแดนอธิปไตยใดๆ ทั้งสิ้น)”[25] แน่นอนทีเดียว คำพูดเหล่านี้เป็นเสมือนดนตรีไพเราะเสนาะหูสำหรับปักกิ่ง ซึ่งกำลังคาดหวังที่จะได้เห็นมะนิลาที่มีท่าทีเป็นมิตรเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนต่อจากนี้ไป

แน่นอนทีเดียวว่า การเลือกตั้งคราวนี้อาจจะเกิดการหักเหเลี้ยวกลับหนึ่งร้อยแปดสิบองศาอย่างไม่คาดฝันในช่วงระยะเวลาไม่กี่วันก็เป็นได้ โดยที่ ดูเตอร์เต ถึงแม้สามารถฟันฝ่าก้าวข้ามผลสะเทือนจาก “การพูดตลกเรื่องข่มขืน” ไปได้โดยไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ แต่เวลานี้เขากำลังเผชิญกับข้อกล่าวหาหลายอย่างในเรื่องที่ว่าเขาไม่ได้ระบุแจกแจงอย่างซื่อตรงเกี่ยวกับความมั่งคั่งร่ำรวยของเขา[26] ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ผู้สมัครซึ่งอากีโนชื่นชอบ ซึ่งก็คือ อดีตรัฐมนตรีมหาดไทย มานูเอล “มาร์” โรซาส เทคโนแครต[27] ผู้ที่เวลานี้ได้รับความนิยมอยู่ในอันดับ 2 ก็กำลังเริ่มเรียกเสียงสนับสนุนได้กว้างขวางมากขึ้น[28]ด้วยการเสนอตัวเองว่าเป็นผู้พิทักษ์ปกป้องระบอบประชาธิปไตยของฟิลิปปินส์[29] ส่วน เลนี โรเบรโด[30] ที่เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเคียงคู่กับ โรซาส นั้น กำลังกลายเป็นก้างขวางคอชิ้นโตของ มาร์กอส จูเนียร์[31] โดยที่ส.ส.หัวก้าวหน้าผู้นี้มีเกียรติประวัติในการทำงานภาคสาธารณะอันโดดเด่นไร้ข้อบกพร่อง

มีความเป็นไปได้อย่างสูงว่า การเลือกตั้งคราวนี้ลงท้ายแล้วจะกลายเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างคู่ดูเตอร์เต-มาร์กอส ที่เน้น “กำปั้นเหล็ก” และความเข้มแข็งเด็ดขาด กับคู่ โรซาส-โรเบรโด ซึ่งเสนอความเป็นนักปฏิรูปผู้เดินไปตามทางอย่างตรงแน่วมุ่งมั่น[32] ในระบบการเลือกตั้งของฟิลิปปินส์นั้น กำหนดให้มีการชิงชัยกันเพียงรอบเดียวโดยใครได้เสียงมากที่สุดก็เป็นผู้ชนะไปเลย ด้วยเหตุนี้สิ่งที่ผู้สมัครจะต้องทำก็คือให้ตัวเองได้คะแนนโหวตสูงที่สุดเท่านั้น ทว่าระบบเช่นนี้ย่อมสามารถก่อให้เกิดปัญหาอันน่าหัวเราะเยาะขึ้นมา กล่าวคือมีความเป็นไปได้ที่ผู้ชนะจะได้คะแนนเสียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ และทำให้แดนตากาล็อกมีโอกาสที่จะได้ “ผู้นำที่เป็นเสียงข้างน้อย” ซึ่งจะขึ้นปกครองบริหารประเทศต่อไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ดังนั้น ชะตากรรมของฟิลิปปินส์จึงกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเดินไปทางไหน

ริชาร์ด จาวัด เฮย์ดาเรียน เป็นอาจารย์รัฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเดอลาซาล (De La Salle University), ฟิลิปปินส์ และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Asia’s New Battlefield: US, China, and the Struggle for Western Pacific” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Zed ในกรุงลอนดอน

(ความคิดเห็นที่ปรากฏในข้อเขียนนี้เป็นของผู้เขียนเอง ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการสะท้อนทัศนะของเอเชียไทมส์)

หมายเหตุ

[1] http://www.dw.com/en/the-philippines-has-transitioned-to-a-tiger-economy/a-18225955
[2] http://www.amazon.com/Breakout-Nations-Pursuit-Economic-Miracles/dp/0393345408
[3] http://www.ft.com/intl/cms/s/3/3db84ed6-0c91-11e6-9456-444ab5211a2f.html#axzz47VgEZvXt
[4]http://www.philstar.com/headlines/2015/01/28/1417597/phl-improves-76th-economic-freedom-rankings
[5] http://www.competitive.org.ph/node/686
[6]http://www.philstar.com/headlines/2016/01/27/1546893/philippines-drops-10-notches-global-corruption-index
[7]http://www.aljazeera.com/programmes/101east/2012/07/201273093650328417.html
[8] http://amti.csis.org/arbitration-101-philippines-v-china/
[9] http://nationalinterest.org/blog/the-buzz/asias-new-battlefield-the-philippines%E2%80%99-south-china-sea-15985?page=show
[10]http://www.philstar.com/headlines/2016/04/30/1578282/duterte-marcos-still-top-picks-pulse-abs-cbn-survey
[11] http://www.abc.net.au/news/2016-04-21/philippines-rodrigo-duterte-may-cut-ties-with-australia/7347412
[12] http://www.pewglobal.org/2015/06/23/1-americas-global-image/
[13] http://www.amazon.com/Democracy-Retreat-Worldwide-Representative-Government/dp/0300205805
[14] http://www.adb.org/documents/adbs-support-inclusive-growth
[15] http://www.adb.org/documents/adbs-support-inclusive-growth
[16]http://www.rappler.com/nation/politics/elections/2016/130023-bongbong-marcos-jr-defiant-father-legacy
[17] http://www.rappler.com/thought-leaders/123773-marcos-economic-disaster
[18] http://www.philstar.com/inbox-world/662190/sen-ferdinand-marcos-jr-thinks-if-there-was-no-edsa-1-philippines-would-have-been
[19]http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2016/04/29/the-neo-authoritarian-threat-in-the-philippines/
[20]http://www.philstar.com/nation/2015/01/26/1416721/duterte-eyes-abolition-congress-if-elected-president-2016
[21]http://www.rappler.com/nation/politics/elections/2016/125542-duterte-governance-like-dictator
[22]http://www.economist.com/news/leaders/21697850-danger-personality-driven-politics-fatal-distraction
[23]http://www.bloomberg.com/news/articles/2016-04-27/philippine-vote-doubts-sink-peso-as-mayor-likened-to-trump-leads
[24]http://opinion.inquirer.net/94530/dutertismo
[25]http://www.rappler.com/nation/politics/elections/2016/128807-duterte-railway-systems-china-legacy
[26]http://newsinfo.inquirer.net/782702/duterte-fails-to-meet-dare-to-open-bank-account-trillanes
[27] http://www.rappler.com/newsbreak/in-depth/121793-mar-roxas-problems-campaign
[28]http://newsinfo.inquirer.net/782532/giving-campaign-bullies-the-silent-treatment#st_refDomain=t.co&st_refQuery=/RActDYbzNd
[29]http://newsinfo.inquirer.net/778990/duterte-a-threat-to-democracy-roxas
[30] http://www.rappler.com/thought-leaders/69004-leni-robredo-real-deal-president
[31] http://newsinfo.inquirer.net/781630/leni-impossible-is-now-happening
[32] http://www.gov.ph/featured/daang-matuwid/


กำลังโหลดความคิดเห็น