รอยเตอร์ – จีนทำการฝึกฝนทางทหารพร้อมสนับสนุนเชื้อเพลิงและอาวุธให้เรือประมงในเมืองท่าบนเกาะไห่หนาน เพื่อสร้างกลุ่มเรือประมงติดอาวุธในทะเลจีนใต้ คอยรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่สำคัญเกี่ยวกับเรือต่างชาติ ท่ามกลางเสียงเตือนจากนักการทูตและผู้เชี่ยวชาญด้านกองทัพเรือว่า การดำเนินการนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงที่แดนมังกรจะขัดแย้งกับกองทัพเรือต่างชาติในน่านน้ำดังกล่าว ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าปีละ 5 ล้านล้านดอลลาร์ และเป็นบริเวณที่หลายประเทศแย่งชิงสิทธิ์กันอยู่
ที่ปรึกษาของฝ่ายบริหารมณฑลไห่หนาน (มณฑลไหหลำ) ที่ไม่ประสงค์ออกนามได้เปิดเผยว่า มีการขยายกำลังทางทะเลก็เพราะว่าเป็นสิ่งที่ประเทศชาติต้องการ ขณะเดียวกันชาวประมงก็อยากมีส่วนร่วมในการรับใช้ชาติและปกป้องผลประโยชน์แดนมังกร
ทว่านักการทูตและผู้เชี่ยวชาญด้านกองทัพเรือเตือนว่า ความเคลื่อนไหวนี้อาจทำให้ปักกิ่งผิดใจกับประเทศต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นสหรัฐฯ ที่ลาดตระเวนทางทะเลและทางอากาศใกล้เกาะเทียมที่จีนสร้างขึ้นในหมู่เกาะทะเลจีนใต้ ซึ่งรวมถึงการส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด บี-52 ไปยังบริเวณดังกล่าวเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว กับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเพนตากอนได้แถลงว่า จะยังคง “ใช้สิทธิ์ในการเดินเรือและการบินอย่างเสรี” ในน่านน้ำที่มีปัญหานั้นต่อไป
ที่ปรึกษาของฝ่ายบริหารมณฑลไห่หนานเสริมว่า หน่วยงานกองกำลังประชาชนประจำเมือง คือผู้ให้การฝึกฝนทางทหารขั้นพื้นฐานแก่ชาวประมง หน่วยงานนี้อยู่่ภายใต้การดูแลของกองทัพและพรรคคอมมิวนิสต์ การฝึกนั้นประกอบด้วย การค้นหาและกู้ชีพ การรับมือภัยพิบัติทางทะเล รวมถึง “การปกป้องอธิปไตยของจีน” โดยมีการฝึกระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม รัฐบาลจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้แก่ชาวประมงที่ร่วมฝึก
ทางด้านผู้บริหารในอุตสาหกรรมประมงของจีนเผยว่า รัฐบาลให้การอุดหนุนเพื่อส่งเสริมให้ชาวประมงใช้ตัวเรือเหล็กกล้าแทนไม้ รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ระบุพิกัดจากดาวเทียม (จีพีเอส) ให้แก่เรือประมงอย่างน้อย 50,000 ลำ เพื่อติดต่อกับกองเรือยามฝั่งในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินทางทะเล อย่างเช่นการเผชิญหน้ากับเรือต่างชาติ ขณะที่ชาวประมงและนักการทูตเผยว่า เรือบางลำมีการติดตั้งอาวุธขนาดเล็กด้วย
ที่ปรึกษาของรัฐบาลไห่หนานยังระบุอีกว่า เมื่อมีภารกิจในการปกป้องอธิปไตยของชาติ หน่วยงานรัฐจะประสานงานกับเรือประมงเหล่านี้ โดยให้ช่วยเก็บข้อมูลของเรือต่างชาติในทะเลจีนใต้
ความร่วมมือลักษณะดังกล่าวมีให้เห็นแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตอนนั้นอินโดนีเซียพยายามเข้าควบคุมเรือประมงลำหนึ่งของจีนใกล้หมู่เกาะนาตูนาในทะเลจีนใต้ แต่มีเรือยามฝั่งลำหนึ่งของจีนเข้าแทรกแซงอย่างรวดเร็ว เพื่อขัดขวางไม่ให้ทัพเรืออินโดนีเซียยึดเรือประมง จนนำไปสู่ข้อพิพาททางการทูต
แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมประมงสำทับว่า บริษัทประมงหลายแห่งที่เป็นของรัฐบาลจีน คือผู้ควบคุมเรือประมงที่ไปหาปลาบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์เป็นประจำ เป็นเรือที่ได้รับการฝึกและการอุดหนุนจากรัฐบาล
แม้จีนเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมประมงใหญ่ที่สุดในโลก แต่ทรัพยากรสัตว์น้ำใกล้ชายฝั่งที่ร่อยหรอ ส่งผลให้เรือประมงจีนต้องออกไปหาสัตว์น้ำในน่านน้ำที่มีข้อพิพาท
บริษัทไห่หนาน เซาธ์ ไชน่า ซี โมเดิร์น ฟิชเชอรี กรุ๊ประบุบนเว็บไซต์ว่า บริษัทเป็นทั้งกิจการทางทหารและพาณิชย์ เป็นทั้งทหารและพลเรือน โดยหนึ่งในเป้าหมายของบริษัทคือ ช่วยให้เรือที่ติดธงจีนสามารถเข้าไปทำประมงในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ บริษัทยังจัดหาเชื้อเพลิง น้ำ รวมถึงน้ำแข็งให้แก่เรือประมงเหล่านั้น ทั้งยังรับซื้อสัตว์น้ำที่เรือประมงเหล่านั้นจับได้
ชาวประมงจีนคนหนึ่งยอมรับว่า การไปหาปลาในบริเวณดังกล่าวที่มีเรือของต่างชาตินั้นมีความเสี่ยงมาก แต่เขาเชื่อมั่นว่ารัฐบาลปกป้องพวกเขาได้
เฉิน หลี่เฉิน ประธานกรรมการไห่หนาน เจียงไห่ กรุ๊ป เผยว่า บริษัทของตนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐ มีกองเรืออวนลากที่ตัวเรือทำจากเหล็กกล้าและไปจับปลาใกล้หมู่เกาะสแปรตลีย์เพื่อเหตุผลด้านธุรกิจเป็นหลัก แต่ก็พร้อมรับบทบาทปกป้องอธิปไตยของชาติ หากพบเรือประมงต่างชาติที่รุกล้ำน่านน้ำและพยายามขัดขวางเรือจีน
เฉินเสริมว่า เรือประมงของบริษัทไปเติมเชื้อเพลิงและติดต่อกับกองเรือหน่วยยามฝั่งของจีนที่เกาะวูดดี้ในหมู่เกาะพาราเซลเมื่อไม่นานนี้ และในอนาคตเรือของบริษัทจะสามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกจากหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งมีสนามบินที่สร้างเสร็จแล้วหนึ่งแห่งและอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกสองแห่งเช่นเดียวกัน