เอเอฟพี - ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ กล่าวทักท้วงด้วยน้ำเสียงแหลมคมจริงจังมากยิ่งขึ้น โดยย้ำว่าสหราชอาณาจักรจะมีอิทธิพลในโลกลดน้อยลงหากถอนตัวออกมาจากสหภาพยุโรป (อียู) พร้อมกับเตือนว่าอาจต้องใช้เวลาถึง 10 ปีกว่าที่จะทำข้อตกลงการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหรัฐฯ ได้สำเร็จ ไม่ใช่เดินหน้าไปได้ด้วยความรวดเร็วอย่างที่พวก “เบร็กซิต” โฆษณาป่าวร้อง
ระหว่างการให้สัมภาษณ์วิทยุโทรทัศน์บีบีซี ซึ่งนำออกอากาศเผยแพร่ในวันอาทิตย์ (24 เม.ย.) อันเป็นวันที่เขาเดินทางต่อไปยังเยอรมนี ภายหลังเสร็จสิ้นการเยือนสหราชอาณาจักรเป็นเวลา 3 วัน โอบามาระบุว่า สหราชอาณาจักรจะมี “อิทธิพลลดน้อยลงในระดับโลก” ถ้าประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงโหวตให้ถอนตัวออกจากอียูในการลงประชามติที่กำหนดจัดขึ้นวันที่ 23 มิถุนายนนี้
เมื่อถูกถามเกี่ยวกับลู่ทางโอกาสที่สหราชอาณาจักรจะสามารถทำข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ หากถอนตัวออกจากอียู หรือที่เรียกขานกันว่า “เบร็กซิต” (Brexit) แล้ว โอบามากล่าวตอบอย่างไม่เกรงใจพวกต้องการให้ถอนตัวเลยว่า “มันอาจจะต้องใช้เวลา 5 ปีนับจากนี้ 10 ปีนับจากนี้ไปก่อนที่เราจะสามารถทำอะไรให้สำเร็จกันได้จริงๆ”
“สหราชอาณาจักรจะไม่สามารถเจรจาอะไรบางอย่างกับสหรัฐฯ ให้เสร็จเรียบร้อยได้รวดเร็วกว่าอียูหรอก” เขาระบุ
“เรา (สหรัฐฯ) จะไม่ทอดทิ้งความพยายามของเราที่จะเจรจาเพื่อทำข้อตกลงการค้ากับคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเรา ซึ่งก็คือ ตลาดยุโรป หรอกนะ”
“การจัดลำดับของเราก็คือจะทำงานกับกลุ่มประเทศขนาดใหญ่นี้เสียก่อน”
ทัศนะของโอบามาที่ว่าสหราชอาณาจักรควรที่จะอยู่ในอียูต่อไปเช่นนี้ ยังได้รับความเห็นพ้องจาก ฮิลลารี คลินตัน ผู้ซึ่งเป็นตัวเก็งที่จะได้เป็นผู้สมัครของพรรคเดโมแครต ในการลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเดือนพฤศจิกายนนี้
“ฮิลลารี คลินตัน เชื่อว่าความร่วมมือระหว่างสองฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และความร่วมมือดังกล่าวจะมีความเข้มแข็งที่สุดเมื่อยุโรปสามัคคีกัน” แจ็ก ซุลลิแวน ที่ปรึกษาอาวุโสทางด้านนโยบายของอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ผู้นี้ กล่าวต่อหนังสือพิมพ์ ดิ ออบเซอร์เวอร์
“เธอให้คุณค่าเสมอมาต่อการที่สหราชอาณาจักรอันเข้มแข็งจะอยู่ภายในอียูที่เข้มแข็ง และเธอก็ให้คุณค่าต่อเสียงของสหราชอาณาจักรที่เข้มแข็งซึ่งอยู่ภายในอียู”
การแสดงความเห็นของโอบามาคราวนี้ถือเป็นครั้งล่าสุดของระลอกคำเตือนอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับผลสืบเนื่องที่จะเกิดขึ้นหากสหราชอาณาจักรผละออกจากอียู และกลายเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้แก่การอภิปรายถกเถียงที่เต็มไปด้วยความดุเดือดร้อนแรงอยู่แล้ว รวมทั้งทำให้เกิดการตอบโต้อย่างกราดเกรี้ยวจากพวกรณรงค์ต่อต้านอียู
พวกนักรณรงค์ฝ่ายนี้วาดภาพของโอบามาว่ากำลังเข้ามาแทรกแซงกิจการของสหราชอาณาจักรอย่างไม่เข้าเรื่อง ทว่าโอบามาดูเหมือนตัดสินใจแล้วว่าการพูดแสดงทัศนะของเขาออกมาให้ปรากฏเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งกว่า
ทั้งนี้ วอชิงตันหวั่นเกรงว่าหากสหราชอาณาจักรออกไปจากอียูก็จะเท่ากับปิดเส้นทางสำคัญสายหนึ่งที่สหรัฐฯ จะสามารถส่งอิทธิพลต่อยุโรป
ภายหลังหารือกับนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ซึ่งก็ต้องการให้สหราชอาณาจักรยังคงอยู่ในอียูต่อไป โอบามาได้ออกมาเตือนว่า หาก “เบร็กซิต” เกิดขึ้นมาจริงๆ แล้ว ลอนดอนจะต้องไป “ต่อท้าย” แถวของผู้ที่ต้องการเจรจาทำข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ
การแสดงท่าทีแทรกแซงครั้งหลังสุดของโอบามา กระตุ้นให้เกิดการตอบโต้อย่างโกรธเคืองจากฝ่ายรณรงค์ต้องการให้ผละออกจากอียูอีกครั้งหนึ่ง
“นี่เป็นเรื่องเข้าทำนองที่ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้ตกอยู่ในอาการเป็นเป็ดง่อย กำลังจะต้องอำลาลงจากเวทีแล้ว ก็เลยพยายามช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเพื่อนเก่าชาวสหราชอาณาจักร” รัฐมนตรียุติธรรม โดมินิก ราอับ กล่าว
“ผมคิดว่าสหราชอาณาจักรจะได้เป็นคนแรกในแถว ไม่ใช่ต้องไปต่อท้ายแถวหรอก”