xs
xsm
sm
md
lg

"สหภาพยุโรป"ต่ออายุมาตรการคว่ำบาตร อาหารทะเลไทยต่อ หลังแก้ปัญหาแรงงานทาส-ประมงเถื่อนไม่คืบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอพี – แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปยืนยันกับเอพีในวันนี้(21 เม.ย)ว่า มาตรการห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากไทยยังคงถูกใช้ต่อไป หลังจากไทยไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและแรงงานทาส

เอพีรายงานว่า การที่สหภาพยุโรปทั้ง 28 ชาติยังคงยืนกรานจะแบนอาหารทะเลจากไทยต่อไปถึงแม้ไทยจะได้มีการออกกฎหมายในปีที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาแรงงานทาสในอุตสาหกรรมการประมง รวมไปถึงปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย แต่ดูเหมือนมาตรการที่ออกจากฝั่งไทยจะยังคงไม่ช่วยให้สถานการณ์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่อียู 2 คนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ให้ข้อมูลกับเอพี

โดย 1 ใน 2 ของแหล่งข่าวได้ให้ข้อมูลต่อว่า “เรายังคงมีความวิตกอย่างมากเกี่ยวกับการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทยในการจัดการกับการทำประมงผิดกฎหมาย และดังนั้นจึงทำให้เป็นเหตุที่ต้องบังคับมาตรการลงโทษที่ออกมาจากคณะกรรมาธิการยุโรปนั้นยังต้องคงอยู่ต่อไป” ซึ่งเอพีชี้ว่า ในขณะที่ไทยยังคงออกมายืนกรานว่า ที่ผ่านมาได้พยายามอย่างหนักที่จะถอนรากถอนโคนปัญหาการทำประมงเถื่อนและการใช้แรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมการประมงนี้ที่แต่เดิมเคยกระทำมาในอดีตอย่างจริงจัง

ซึ่งข่าวที่ทางไทยจะยังคงอยู่ภายใต้มาตรการลงโทษใบเหลืองของอียูต่อไปนั้นออกมาในวันนี้(21 เม.ย) และเป็นวันเดียวกันกับที่ทางคณะกรรมาธิการยุโรปได้สั่งถอน “ศรีลังกา” ออกจากลิสต์ลงโทษแบนใบเหลือง หลังจากก่อนหน้านั้นอียูได้ออกมาประกาศขู่ว่า จะทำการลงโทษศรีลังกาโดยการแบนเป็นเวลา 4 ปีเต็ม แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปให้ข้อมูลเพิ่มเติม

เอพีรายงานต่อว่า แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศอื่นๆ เป็นต้นว่า คิริบาส เซียร์ราลีโอน และตรินิแดดและโตเบโก ยังคงต้องถูกลงโทษด้วยมาตรการใบเหลืองของสหภาพยุโรปต่อ

เอพีชี้ว่า ไทยได้ถูกสหภาพยุโรปประกาศคว่ำบาตรมาเป็นระยะเวลา 1 ปีเต็ม ซึ่งไทยถือเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และมีส่วนแบ่งการตลาดอาหารทะเลโลกสูงถึง 8.1% โดยเอพีระบุว่า ไทยยังคงจำเป็นที่จะต้องเข้าถึงตลาดยุโรปซึ่งเป็นชาติที่ร่ำรวยต่อไป เพื่อยังคงความเป็นหนึ่งในเจ้าใหญ่ของผู้ส่งออกอาหารทะเลระดับโลก

เอพีรายงานว่า มูลค่าการส่งออกอาหารทะเลไปยังยุโรปต่อปีนั้นมีมูลค่าราว 575 – 730 ล้านยูโร

และนอกเหนือจากปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายแล้ว ไทยยังมีปัญหาหนักในเรื่องการใช้แรงงานทาสที่ได้ถูกสำนักข่าวเอพีเปิดโปงไปทั่วโลกในระหว่างรายงานการสอบสวนของเอพีที่ใช้เวลานาน 2 ปี ในการเฝ้าติดตามการใช้แรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมการประมงของไทย และในการเปิดโปงครั้งนี้ เอพียังสามารถช่วยเหลือให้แรงงานทาสไม่ต่ำกว่า 2,000 คนสามารถได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ และส่งผลทำให้เกิดการจับกุมตัวกลุ่มค้ามนุษย์จำนวนหนึ่ง ที่มี 8 คนในนั้นอยู่ในเรือนจำในเวลานี้ และรวมไปถึงการยึดสินค้าอาหารทะเลและเรือประมงมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ และคดีการไต่สวนที่เกิดขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง บวกกับมาตรการหลายอย่างที่ออกมาตามหลังจากภาครัฐและเอกชนของไทย

ซึ่งแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่อียูกล่าวกับเอพีในตอนท้ายว่า “ในระยะหลังๆนี้ทางเราได้รับหลักฐานที่เป็นผลมาจากการปฎิรูปอุตสาหกรรมการประมงและการใช้แรงงานในอุตสาหกรรมนี้จากไทยน้อยลงมาก แต่ในทางกลับกัน ทางอียูกลับพบหลักฐานที่ได้รับมาจากประเทศที่ 3 และหน่วยงาน NGO ต่างๆเพิ่มมากขึ้นถึงสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ หรือการปราศจากการบังคับใช้กฎหมายจากฝั่งไทย”

เอพีรายงานว่า ในเดือนหน้านี้ทั้งไทยและสหภาพยุโรปจะมีการพบปะหารือถึงเรื่องนี้อีกครั้งที่กรุงบรัสเซลส์เบลเยียม ท่ามกลางการคาดหวังถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น