เอเจนซีส์ - ทั้ง ฮิลลารี คลินตัน ตัวเก็งของพรรคเดโมแครต และ โดนัลด์ ทรัมป์ เต็งหนึ่งของพรรครีพับลิกัน ต่างได้ชัยชนะเด็ดขาดในการเลือกตั้งขั้นต้นในมลรัฐใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐฯ อย่างนิวยอร์กเมื่อวันอังคาร (19 เม.ย.) ทำให้ทั้งคู่มีฐานะมั่นคงขึ้นอย่างชัดเจน จนเกือบเรียกได้ว่าหมดโอกาสที่คู่แข่งในแต่ละพรรคจะทำคะแนนไล่ตามทัน กระนั้น ล่าสุดยังไม่มีใครถอดใจถอนตัวจากการแข่งขันซึ่งมีเดิมพันปลายทางอยู่ที่ทำเนียบขาว
หลังได้ชัยชนะที่นิวยอร์ก คลินตัน ผู้เป็นอดีตวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จากรัฐนี้ แสดงออกเปิดเผยว่า มองข้ามช็อตไปถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดือนพฤศจิกายนที่จะถึงแล้ว ด้วยการประกาศว่าการแข่งขันเพื่อเป็นตัวแทนพรรคมาถึงโค้งสุดท้ายแล้วและชัยชนะของเธออยู่ใกล้แค่เอื้อม
อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ พาดพิงถึงเบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จากเวอร์มอนต์ซึ่งเป็นคู่แข่งในพรรคคนเดียวที่เหลืออยู่ เพียงแค่ว่าอยากให้ฐานเสียงของแซนเดอร์สหันมาสนับสนุนเธอเพื่อต่อสู้กับโดนัลด์ ทรัมป์ และเท็ด ครูซ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันที่ล้วน “อันตราย” ต่ออเมริกาทั้งคู่
ทางด้านแซนเดอร์ส แม้ประกาศสู้ต่อไปหลังยอมรับความพ่ายแพ้ในนิวยอร์กที่แทบจะปิดทางในการทำคะแนนไล่ทันคลินตันโดยสิ้นเชิง ทว่า เท็ด ดิไวน์ ที่ปรึกษาอาวุโสของวุฒิสมาชิกผู้เป็นทางเลือกใหม่ของคนหนุ่มสาวและกลุ่มเสรีนิยมผู้นี้ ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากการเลือกตั้งขั้นต้นในสัปดาห์หน้าซึ่งจะมีขึ้นในหลายมลรัฐแล้ว ทีมหาเสียงแซนเดอร์สจะพักชั่วคราวเพื่อประเมินสถานการณ์
ในนิวยอร์กซึ่งทางฝั่งเดโมแครตมีจำนวนตัวแทนผู้ลงคะแนนให้ช่วงชิงกันทั้งหมด 247 คน ประมาณกันว่า คลินตันได้ไปอย่างน้อย 135 คน ซึ่งบวกกับที่เธอมีอยู่เดิมก็จะเป็น 1,893 คน ขณะที่แซนเดอร์สได้อย่างน้อย 104 คน รวมทั้งสิ้นเป็น 1,180 คน โดยที่ใครได้ครบจำนวน 2,383 คนก่อนก็จะได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรคอย่างแน่นอน
ดิลาวาร์ ไซเอ็ด ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและรองประธานของเอเอพีไอ วิกตอรี ฟันด์ หรือคณะกรรมการดำเนินการทางการเมืองที่มีกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงเอเชีย-อเมริกันเป็นเป้าหมายนั้นฟันธงว่า ถึงแม้การเลือกตั้งขั้นต้นของเดโมแครตยังจะมีการขับเคี่ยวระหว่างคู่แข่งขันทั้งสองต่อไปอีกระยะ แต่สถานการณ์เวลานี้ดูเหมือนว่าคลินตันได้รับการเสนอชื่อเรียบร้อยแล้ว
ในส่วนของรีพับลิกัน ทรัมป์ก็มองไปไกลกว่ากระบวนการการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาตัวแทนของพรรคแล้ว หลังเขาคว้าชัยอย่างสวยงามในนิวยอร์กและได้ตัวแทนผู้ลงคะแนนอย่างน้อย 89 คนจาก 95 คนของรัฐนี้ นักธุรกิจคนดังของนิวยอร์กผู้นี้ประกาศยืนยันว่า “เป็นไปไม่ได้” ที่คู่แข่งในพรรคจะไล่ตามตนทัน พร้อมเตือนไม่ให้ผู้นำในรีพับลิกันขัดขวางไม่ให้ตัวเองได้รับการเสนอชื่อเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างการประชุมใหญ่พรรคในเดือนกรกฎาคม
กระนั้น ทั้งจอห์น เคซิก ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอ ที่ได้ตัวแทนผู้ลงคะแนนในนิวยอร์กไปอย่างน้อย 3 คน และครูซ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จากมลรัฐเทกซัส ที่ได้คะแนนในนิวยอร์กเป็นอันดับ 3 ยังคงประกาศยืนหยัดสู้ต่อ โดยทั้งคู่ยังคงหวังว่าจะสกัดทรัมป์ไม่ให้ได้ตัวแทนผู้ลงคะแนนครบกึ่งหนึ่งก่อนหน้าการประชุมใหญ่ของรีพับลิกัน เพื่อจะได้ไปลุ้นต่อในการหยั่งเสียงขั้นสุดท้ายในการประชุมใหญ่พรรค
ครูซวิจารณ์ชัยชนะของทรัมป์ในนิวยอร์กว่า ไม่มีอะไรมากไปกว่าการที่นักการเมืองชนะในรัฐบ้านเกิดของตัวเอง พร้อมเรียกร้องชาวรีพับลิกันสมัครสมานสามัคคีเพื่อสนับสนุนตน
อย่างไรก็ดี ครูซที่เพิ่งได้เป็นวุฒิสมาชิกสมัยแรกและมีประเด็นขัดแย้งกับพรรคบ่อยครั้ง ได้รับการสนับสนุนจากบรรดาผู้นำรีพับลิกันอย่างเสียไม่ได้ในฐานะตัวเลือกหนึ่งเดียวที่อาจหยุดยั้งทรัมป์ได้เท่านั้น
เมื่อรวมคะแนนล่าสุด ทรัมป์มีตัวแทนผู้ลงคะแนน 845 คน นำหน้าครูซที่มี 559 คน และเคซิกที่มี 147 คน โดยผู้ที่จะได้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันลงศึกชิงทำเนียบขาวจะต้องมีตัวแทนผู้ลงคะแนน 1,237 คนขึ้นไป
อารี เฟลชเชอร์ อดีตโฆษกทำเนียบขาวสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ชี้ว่า ตอนนี้เหลือเพียงสองคำถามสำหรับรีพับลิกัน คือ ทรัมป์จะได้ตัวแทนผู้ลงคะแนนถึง 50% ก่อนการประชุมใหญ่พรรคหรือไม่ และหากไม่ เขาจะเฉียดเป้าหมายแค่ไหน ซึ่งคำตอบของทั้งสองคำถามจะปรากฏขึ้นในอีกหลายสัปดาห์ต่อจากนี้