รอยเตอร์ - กลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง “อาบูไซยาฟ” ในฟิลิปปินส์ แพร่คลิปวิดีโอขู่สังหารตัวประกันต่างชาติในวันที่ 25 เม.ย.นี้ หากไม่ได้รับเงินค่าไถ่จากรัฐบาล โดยลดจำนวนเงินที่เรียกร้องจากรายละ 1,000 ล้านเปโซ (760 ล้านบาท) ลงมาเหลือแค่เพียง 300 ล้านเปโซ (ราว 227 ล้านบาท)
ชายชาวแคนาดา 2 คน, ชายชาวนอร์เวย์ 1 คน และหญิงชาวฟิลิปปินส์อีก 1 คน ถูกนักรบอาบูไซยาฟลักพาตัวไปจากรีสอร์ตริมทะเลแห่งหนึ่งบนเกาะทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ตั้งแต่เดือน ก.ย.ปีที่แล้ว
เจ้าหน้าที่เชื่อว่า พวกเขาน่าจะถูกขังอยู่บนเกาะโจโจ (Jojo Island) ซึ่งเป็นฐานที่มั่นหลักของพวกอาบูไซยาฟ ซึ่งเป็นกลุ่มอิสลามิสต์หัวรุนแรงที่ขึ้นชื่อเรื่องการวางระเบิด ฆ่าตัดหัว และลักพาตัว
ในคลิปวิดีโอดังกล่าว กลุ่มตัวประกันซึ่งถูกมีดสปาร์ตาจ่อคอได้ร้องขอให้ทางครอบครัว และรัฐบาลยอมจ่ายเงินไถ่ตัวพวกเขา คนละ 300 ล้านเปโซ ซึ่งลดลงจากเมื่อปีที่แล้วที่อาบูไซยาฟได้เรียกเงินถึงรายละ 1,000 ล้านเปโซ
“นี่คือข้อเสนอครั้งสุดท้าย... ไม่เช่นนั้นเราจะตัดหัวพวกมัน 1 ใน 4 คนอย่างแน่นอน” แกนนำกลุ่มติดอาวุธซึ่งสวมหมวกปกปิดใบหน้ากล่าว พร้อมระบุว่า จะสังหารตัวประกันในเวลา 15.00 น. ของวันที่ 25 เม.ย.
ทั้งนี้ ยังไม่มีคำอธิบายว่า เหตุใด อาบูไซยาฟ จึงยอมลดเงินค่าไถ่ รวมถึงขีดเส้นตายใหม่ขึ้นมากดดันรัฐบาล
โฆษกกองทัพฟิลิปปินส์ปฏิเสธที่จะตอบคำถามนี้ โดยอ้างว่า ยังไม่เห็นคลิปวิดีโอของกลุ่มติดอาวุธ
ที่กรุงออตตาวา รัคนา มิชรา โฆษกหญิงกระทรวงการต่างประเทศแคนาดา ยืนยันว่า รัฐบาลได้ทราบเนื้อหาของคลิปวิดีโอดังกล่าวแล้ว
“เราไม่ขอแสดงความคิดเห็น หรือให้ข้อมูลใดๆ ที่อาจจะบั่นทอนกระบวนการเจรจา และเป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพของพลเมืองแคนาดา” เธอแถลงผ่านอีเมล
ในคลิปความยาวเกือบ 2 นาที ที่ถูกโพสต์ลงบนยูทิวบ์ ตัวประกันต่างชาติทุกคนต่างวิงวอนให้รัฐบาลยอมทำตามคำขอของกลุ่มติดอาวุธ
“ผมถูกสั่งให้บอกพวกคุณว่า เงินค่าไถ่ตัวผมอยู่ที่ 300 ล้านเปโซ” ชายคนหนึ่งซึ่งระบุว่า ตนเองชื่อ โรเบิร์ต ฮอลล์ กล่าว
“ผมขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลแคนาดาโดยตรง ซึ่งผมทราบว่า พวกคุณสามารถจ่ายเงินก้อนนี้เพื่อช่วยพวกเราออกไปได้ และผมสงสัยอยู่ว่า พวกคุณรีรออะไร”
ตัวประกันอีก 2 คน ซึ่งเป็นชาวแคนาดา และชาวนอร์เวย์ก็ได้เรียกร้องในทำนองเดียวกัน ส่วนหญิงชาวฟิลิปปินส์ไม่ได้รับอนุญาตให้พูด
คลิปวิดีโอนี้เป็นชิ้นที่ 4 ที่ อาบูไซยาฟ ได้ปล่อยออกมา โดยในคลิปที่ 3 พวกเขาขีดเส้นตายให้รัฐบาลจ่ายค่าไถ่ในวันที่ 8 เม.ย. แต่ไม่ระบุวงเงินที่ต้องการ
สถานการณ์ความมั่นคงในภาคใต้ฟิลิปปินส์ยังคงน่าเป็นห่วง แม้รัฐบาลจะทำข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front - MILF) ซึ่งเป็นกบฏมุสลิมกลุ่มใหญ่ที่สุดเมื่อปี 2014 ซึ่งช่วยให้เหตุการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อมานานถึง 45 ปียุติลงได้
อาบูไซยาฟ ยังมีตัวประกันชาวต่างชาติอยู่ในกำมืออีกหลายราย รวมถึงชาวเนเธอร์แลนด์ 1 คน, ชาวญี่ปุ่น 1 คน, ชาวมาเลเซีย 4 คน และลูกเรือลากจูงชาวอินโดนีเซียอีก 10 คน