xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เพียงแค่ ‘อเมริกัน’ ‘ปามานา เปเปอร์ส’ ก็แทบไม่ได้แฉอะไร ‘ญี่ปุ่น’ เลย

เผยแพร่:   โดย: อาซาฮีชิมบุง/เอเชียไทมส์

PANAMA PAPERS: Documents name 400 Japanese, but no public figures so far
THE ASAHI SHIMBUN
07/04/2016

ขณะที่เกิดคำถามข้อสงสัยกันว่า ทำไม “ปานามา เปเปอร์ส” จึงแทบไม่มีการเปิดเผยพฤติการณ์ไม่ชอบมาพากลของพวกนักการเมืองและคนดังชาวอเมริกันกันบ้างเลย ทั้งๆ ที่ยอมรับกันว่าผู้คนในสหรัฐฯเป็นพวกที่มีการใช้บริการดินแดนออฟชอร์กันอย่างมโหฬารชาติหนึ่ง ปรากฏว่าญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่แทบไม่ได้ถูกแฉโพยอะไรเช่นเดียวกัน โดยที่ “อาซาฮีชิมบุง” รายงานว่าเท่าที่ตรวจสอบกันจนถึงเวลานี้ ยังไม่มีคนดังๆ แดนอาทิตย์อุทัย พัวพันเกี่ยวข้องกับพฤติการณ์ซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยว่าน่าจะเป็นความพยายามหลบเลี่ยงภาษีนี้

มีแพทย์และผู้ประกอบวิชาชีพชาวญี่ปุ่นหลายร้อยราย ถูกระบุชื่อในเอกสารจำนวนมหึมาซึ่งรั่วไหลออกมาและเป็นที่รู้จักเรียกขานกันในนาม “ปานามา เปเปอร์ส” (Panama Papers) ทว่าเท่าที่ตรวจสอบกันมาจนถึงเวลานี้ ยังไม่ปรากฏว่ามีนักการเมืองชั้นนำหรือบุคคลสาธารณะชื่อดังคนไหนเลย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโยงใยกับพวกบริษัทออฟชอร์ที่จัดตั้งกันขึ้นมาในดินแดนหลบเลี่ยงหนีภาษีทั้งหลาย

จากการวิเคราะห์เอกสารรั่วไหลเหล่านี้ของสมาคมผู้สื่อข่าวสายสืบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists ใช้อักษรย่อว่า ICIJ), หนังสือพิมพ์เยอรมัน ซืดดอยต์เชอไซตุง (Sueddeutsche Zeitung), และพันธมิตรสื่อมวลชนรายอื่นๆ ซึ่งรวมทั้งอาซาฮีชิมบุง ด้วย มีบุคคลและบริษัทที่มีที่อยู่ในญี่ปุ่นจำนวนประมาณ 400 รายที่ดูเหมือนเกี่ยวข้องพัวพันกับบริษัทออฟชอร์เหล่านี้ ขณะที่วัตถุประสงค์ของการเข้าไปยุ่งเกี่ยวอาจจะเป็นการมุ่งหลบเลี่ยงการเสียภาษีก็ได้ แต่บุคคลหลายๆ รายที่อาซาฮีชิมบุงเข้าไปติดต่อสอบถามต่างบอกว่า พวกเขาไม่ได้หาประโยชน์ใดๆ จากฐานะของพวกเขาในบริษัทเหล่านี้

อาซาฮีชิมบุงนั้นเป็นพันธมิตรรายหนึ่งในสมาคม ICIJ ที่ได้ตีข่าวเปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับเอกสารปานามา เปเปอร์ส เคียงข้าง ซืดดอยต์เชอไซตุง ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับไฟล์ลับกว่า 11.5 ล้านฉบับเหล่านี้ ของบริษัทกฎหมาย มอสแซ็ค ฟอนเซกา (Mossack Fonseca) ที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในปานามา

ICIJ เป็นเครือข่ายระดับโลกของบรรดาผู้สื่อข่าว และก็ถือเป็นฝ่ายสื่อสารมวลชนระหว่างประเทศ ของ ศูนย์เพื่อความสุจริตสาธารณะ (Center for Public Integrity) อันเป็นองค์การสื่อสารมวลชนที่ไม่ค้ากำไรของสหรัฐฯ ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงวอชิงตัน

จากการติดตามของอาซาฮีชิมบุง หนึ่งในบุคคลที่มีที่อยู่ในญี่ปุ่นซึ่งปรากฏชื่อใน “ปานามา เปเปอร์ส” ว่าเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งบริษัทออฟชอร์ เป็นแพทย์วัย 60 ปีที่พำนักอาศัยอยู่ในจังหวัดเฮียวโงะ (Hyogo) ทางด้านตะวันตกของญี่ปุ่น คุณหมอเล่าว่าตนกลายเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งจดทะเบียนตั้งสำนักงานอยู่ในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน (British Virgin Islands) เมื่อปี 2011 ภายหลังได้รับคำแนะนำจากบริษัทที่ปรึกษาซึ่งตั้งอยู่ในฮ่องกง

ในเวลานั้น คุณหมอผู้นี้กำลังอยู่ในกระบวนการเดินเรื่องเพื่อเปิดโรงพยาบาลแห่งหนึ่งขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ข้าพเจ้า (ในต้นฉบับภาษาอังกฤษใช้สรรพนามว่า “I” และหลีกเลี่ยงที่จะระบุให้ชัดเจนว่าแพทย์ผู้นี้เป็นชายหรือหญิง จึงขอแปลด้วยคำว่า “ข้าพเจ้า” –ผู้แปล) เคยคิดถึงเรื่องการโยกย้ายผลกำไรใดๆ ที่จะได้จากโรงพยาบาลแห่งนั้น ไปที่บริษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นมานี้ แต่มาถึงตอนนี้ข้าพเจ้าก็ยังไม่สามารถหาประโยชน์เช่นว่านี้ได้ เนื่องจากกิจการนี้ไม่ได้สร้างผลตอบแทนเป็นจำนวนใหญ่โตอะไร” แพทย์ผู้นี้บอกกับอาซาฮีชิมบุง

แพทย์ผู้นี้ยังวางแผนการที่จะเปิดโรงพยาบาลขึ้นในส่วนอื่นๆ ของเอเชียด้วย และตั้งใจที่จะใช้หุ้นซึ่งมีอยู่ในบริษัทที่จดทะเบียนที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จินนี้ เป็นเครื่องมือสำหรับการรองรับเม็ดเงินลงทุนที่จะมาจากต่างประเทศ

อีกกรณีหนึ่งซึ่งอาซาฮีชิมบุงติดตามเรื่องราวมาได้ ปรากฏว่าผู้ที่ปรากฏชื่อใน “ปานามา เปเปอร์ส” ผู้นี้ เป็นอาจารย์สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยการแพทย์ภาคเอกชนแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคม 2012 อาจารย์ผู้นี้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทอีกแห่งหนึ่งซึ่งจดทะเบียนตั้งสำนักงานในหมู่เกาะบริติชเวอร์จินเช่นเดียวกัน โดยที่เวลานั้นอาจารย์กำลังเสาะแสวงหานักลงทุนซึ่งจะเข้าร่วมในโครงการพัฒนายารักษามะเร็ง

บริษัทดังกล่าวถูกจัดตั้งขึ้นมา ภายหลังที่มีนักลงทุนชาวจีนผู้หนึ่งแสดงความสนใจ และสิทธิบัตรทั้งหลายทั้งปวงซึ่งเกี่ยวข้องกับยาใดๆ ก็ตามที่จะมีการพัฒนาขึ้นมา ก็ถูกโอนไปเป็นของบริษัทดังกล่าว

หากสามารถพัฒนายาได้สำเร็จแล้ว อาจารย์ผู้นี้คาดหมายว่าจะได้รับส่วนแบ่งระหว่าง 10 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของการขายสิทธิบัตรเหล่านี้ให้แก่บริษัทยาซึ่งจะนำไปดำเนินการต่อ

อย่างไรก็ตาม หลังจากจัดตั้งบริษัทแห่งดังกล่าวได้ไม่นานนัก อาจารย์ผู้นี้ก็ขาดการติดต่อกับนักลงทุนชาวจีนรายนั้น

ในช่วงนั้นเอง ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีนกำลังเสื่อมทรามเลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว สืบเนื่องจากกรณีที่รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจซื้อเกาะบางเกาะในหมู่เกาะเซงกากุ (Senkaku) ในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งมีเอกชนชาวญี่ปุ่นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ครอบครองอยู่ (จีนไม่พอใจเรื่องนี้มาก เนื่องจากอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะนี้เช่นกัน โดยเรียกชื่อเป็นภาษาจีนว่า หมู่เกาะ “เตี้ยวอี๋ว์” –ผู้แปล)

อาซาฮีชิมบุงตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องการโอนสิทธิบัตรหรือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ไปยังดินแดนออฟชอร์ เพื่อหาประโยชน์ในทางหลีกเลี่ยงภาษีนั้น เป็นเรื่องที่มีการปฏิบัติกันอยู่ในเวลานั้น

หนังสือพิมพ์ชื่อดังของญี่ปุ่นฉบับนี้ยกตัวอย่างว่า ในฤดูใบไม้ร่วงของปี 2012 ซึ่งก็คือช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่อาจารย์ชาวญี่ปุ่นผู้นี้เข้าเกี่ยวข้องพัวพันกับบริษัทที่จัดตั้งขึ้นในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน สำนักข่าวรอยเตอร์ตลอดจนสื่ออื่นๆ ได้รายงานว่า สตาร์บัคส์ (Starbucks) บริษัทเครือข่ายร้านกาแฟยักษ์ใหญ่ กำลัง “เกี่ยวข้องพัวพันใน ‘การใช้เล่ห์กลในเชิงการค้า’ ด้วยการให้หน่วยงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาภายในเครือไปจดทะเบียนตั้งอยู่ตามดินแดนออฟชอร์หลบภาษีทั้งหลาย จากนั้นก็คิดค่าธรรมเนียมแพงๆ ในการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้ จากบรรดาสาขาเครือข่ายของตน” และแล้วก็นำรายจ่ายเหล่านี้ไป “ลดรายได้ที่จะต้องเสียภาษี” ปรากฏว่าเมื่อเรื่องนี้ถูกเปิดโปงก็ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณชนทั่วไปในอังกฤษ

มีรายงานว่า องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development หรือ OECD) กำลังเป็นตัวตั้งตัวตีที่จะอุดรูโหว่การหลีกหนีภาษีเช่นนี้อยู่

อาจารย์ผู้นี้บอกกับผู้สื่อข่าวของอาซาฮีชิมบุงว่า “ข้าพเจ้าอาจจะโชคดีแล้วที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จใดๆ จากทรัพย์สินทางปัญญาของข้าพเจ้าซึ่งมีอยู่ในดินแดนหลบเลี่ยงภาษี”

ยังมีอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของผู้ประกอบการทางธุรกิจวัย 41 ปีที่พำนักอาศัยอยู่ในจังหวัดโออิตะ ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะคิวชู ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น โดยผู้ประกอบการผู้นี้ได้รับการติดต่อจากบริษัทที่ปรึกษาที่ตั้งอยู่ในฮ่องกง เมื่อเดือนมิถุนายน 2013 เกี่ยวกับการเข้าเทคโอเวอร์บริษัทแห่งหนึ่งในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน จากผู้ถือหุ้นชาวญี่ปุ่นรายหนึ่งที่กำลังต้องการขาย

“มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างแอคเคาน์ออฟชอร์ขึ้นมาบัญชีหนึ่ง เนื่องจากมีการพูดจากันเกี่ยวกับการทำธุรกรรมกับบริษัทจีนรายหนึ่งในเรื่องผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อม” ผู้ประกอบการผู้นี้เล่า อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการผู้นี้ไม่ได้เคยใช้บริษัทแห่งนั้นเลย เพราะการทำข้อตกลงกับบริษัทจีนดังกล่าวได้ล้มครืนลงกลางคัน


กำลังโหลดความคิดเห็น