xs
xsm
sm
md
lg

InPics : เตรียมยลโฉม! เที่ยวบินปฐมฤกษ์อากาศยานยาวที่สุดในโลกขึ้นสู่ท้องฟ้าเร็วๆ นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์/MGR Online - อากาศยานยาวที่สุดในโลก มีขนาดลำตัวเท่ากับรถบัส 2 ชั้นจอดเรียงกัน 6 คัน มีกำหนดออกบินเที่ยวปฐมฤกษ์ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ จากการเปิดเผยของไฮบริด แอร์ วีฮิเคิลส์ ในวันจันทร์ (21 มี.ค.)

แอร์แลนเดอร์ เท็น จอดอยู่ ณ โรงเก็บแห่งหนึ่งในคาร์ดิงตัน ตอนกลางของอังกฤษ ภายในงานแถลงข่าวจัดแสดงอากาศยานลำดังกล่าว ที่พวกเขาบอกว่าสามารถลอยอยู่กลางอากาศได้สูงสุด 2 สัปดาห์

ไฮบริด แอร์ วีฮิเคิลส์หวังว่า แอร์แลนเดอร์ เท็น อากาศยานซึ่งเคลื่อนที่อย่างช้าๆ ลอยตัวได้สูงถึง 6,000 ฟุตและใช้เชื้อเพลิงฮีเลียม จะดึดดูดสายเหล่าลูกค้าที่อาจต้องการนำมันไปบรรทุกสินค้าหรือส่งมอบความช่วยเหลือต่างๆ เช่นเดียวกับบินตรวจการณ์ การสื่อสารคมนาคม หรือวัตถุประสงค์สันทนาการ

แอร์แลนเดอร์บรรทุกผู้โดยสารได้ทั้งหมด 48 คน สามารถขึ้นบินและลงจอดแนวดิ่ง ดังนั้นมันจึงไม่จำเป็นต้องใช้รันเวย์ลาดยาง นอกจากนี้มันยังสามารถปฏิบัติการได้จากพื้นที่โล่ง ทะเลทราย น้ำแข็งหรือน้ำ นั่นหมายความว่ามันอาจมีประโยชน์ด้านภารกิจสิทธิมนุษยธรรมหรือตรวจการณ์เฝ้าระวังชายฝั่ง

อากาศยานแบบเรือเหาะมีประวัติศาสตร์ยาวนานย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 19 แต่ความนิยมในการใช้งานอากาศยานลักษณะนี้ลดน้อยลงไป หลังมีเครื่องบินเข้ามาแข่งขันในยุคศตวรรษที่ 20 เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงหลายต่อหลายครั้ง ในนั้นรวมถึงโศกนาฏกรรมฮินเดนเบิร์ก ในปี 1937

ไฮบริด แอร์ วีฮิเคิลส์ เผยว่าจะดำเนินการทดสอบทางภาคพื้นเพิ่มเติม ก่อนออกบินเที่ยวปฐมฤกษ์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

แอร์แลนเดอร์ เท็น มีความยาว 92 เมตร และบรรทุกน้ำหนักได้ 10 ตัน เกิดขึ้นภายใต้การคิดค้นของทีมวิศวกรอากาศยานของอังกฤษ เพื่อสร้างอากาศยานลูกผสมระหว่าง “แอร์ชิป” หรือ “เรือเหาะ” กับเฮลิคอปเตอร์ เพื่อพัฒนาเป็นอากาศยานอเนกประสงค์ เพื่อการขนส่งและเป็นสถานีชั่วคราวเพื่อการสื่อสารในพื้นที่ห่างไกลจากระบบเครือข่ายภาคพื้นดิน

แต่เดิมแอร์แลนเดอร์เป็นส่วนหนึ่งในโครงการของกองทัพสหรัฐฯ แต่ได้ถูกยกเลิกไป และอังกฤษนำมาปัดฝุ่นใหม่โดยผลิตออกมา 2 ลำ ลำแรกคือ แอร์แลนเดอร์ เท็น ส่วนอีกลำขนาดใหญ่กว่า คือแอร์แลนเดอร์ ฟิฟตี้ ที่กำหนดแล้วเสร็จพร้อมบินในปี 2018 โดยใช้โรงเก็บเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษที่คาร์ดิงตันเป็นสถานที่ในการสร้างเรือเหาะลูกผสมทั้งสองลำ


กำลังโหลดความคิดเห็น