รอยเตอร์ - สหประชาชาติและสหภาพยุโรปเมื่อวันจันทร์ (21 มี.ค.) ชี้ความหวังที่ว่าชาวโรฮีนจาจะมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นในพม่า ภายใต้รัฐบาลใหม่ของนางอองซาน ซูจี ได้ปัจจัยหนุนให้จำนวนผู้หลบหนีเข้ามาไทยและไปยังประเทศอื่นๆ ชะลอตัวลงในปีนี้ พร้อมหวังว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะช่วยให้พวกผู้อพยพสมัครใจเดินทางกลับมาตุภูมิ
ในขณะที่ฤดูกาลล่องเรือลักลอบขนสินค้ามนุษย์ข้ามอ่าวเบงกอลใกล้สิ้นสุดลง จำนวนผู้อพยพที่เดินทางออกจากพม่าลดลงอย่างมากในปีนี้ จากการเปิดเผยของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติในวันจันทร์ (21 มี.ค.)
วอลเคอร์ เทิร์ค ผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่ด้านการปกป้องของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) บอกกับรอยเตอร์ หลังจากร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับผู้อพยพในกรุงเทพฯ ว่า “มันมีปัจจัยหลายอย่างรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใหม่ ความเคลื่อนไหวหนักแน่นขึ้นในการต่อต้านพวกลักลอบขนคนและค้ามนุษย์ และผู้คนยังตกตะลึงกับการพบหลุมศพหมู่เมื่อปีที่แล้ว”
ตำรวจไทยปฏิบัติการกวาดล้างครั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม 2015 ตามหลังพบหลุมศพหมู่ 30 ศพใกล้ค่ายลักลอบค้ามนุษย์แห่งหนึ่งใกล้ชายแดนมาเลเซีย การปราบปรามที่ทำให้พวกอาชญากรตัดสินใจทิ้งเรือและพวกผู้อพยพหลายพันคนไว้กลางทะเล
หลุมศพหมู่ที่ต้องสงสัยว่าเป็นร่างไร้วิญญาณของเหยื่อค้ามนุษย์ถูกพบทางฟากฝั่งชายแดนของมาเลเซียเช่นกัน
การปราบปรามของไทยและบังกลาเทศต่อขบวนการค้ามนุษย์ยังก่อความยุ่งเหยิงแก่ขบวนการที่นำพาผู้ลี้ภัยจากพม่าและบังกลาเทศลงเรือล่องทะเลสู่ไทยและมาเลเซีย ขณะที่ผู้อพยพเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮีนจา ที่หลบหนีความยากจนและการถูกตามประหัตประหารในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของพม่า ตามหลังความรุนแรงทางศาสนาระหว่างพุทธกับมุสลิมในรัฐดังกล่าวเมื่อปี 2012
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางอองซาน ซูจี กำลังจัดตั้งรัฐบาลที่จะก้าวขึ้นสู่อำนาจในวันที่ 1 เมษายนนี้ โดยเธอและพรรคเอ็นแอลดีเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ค่อยพูดถึงแนวทางที่จะใช้จัดการกับสถานการณ์ของชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ ซึ่งยังมีผู้คนพักอาศัยอยู่ตามค่ายต่างๆ อีกราว 140,000 คน
เฆซุส ซันซ์ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ระบุว่า การไหลบ่าของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพจากพื้นที่ขัดแย้งอื่นๆ ของพม่ามายังไทยก็ลดลงเช่นกัน เนื่องจากประชาชนหวังว่าสถานการณ์ต่างๆ จะดีขึ้นภายใต้รัฐบาลเอ็นแอลดี
“การเปลี่ยนแปลงในทางบวกในพม่าคือต้นตอหลักของจำนวนที่ลดลง” ซันซ์บอกกับรอยเตอร์ “แต่ยังคงต้องจับตาดูว่ารัฐบาลพม่าจะสามารถสร้างเสถียรภาพแก่สถานการณ์ที่นั่นเร็วแค่ไหน และมอบโอกาสที่แท้จริงแก่ผู้อพยพเหล่านี้มากน้อยเท่าใด”
อียูให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ค่ายที่พักต่างๆ ในไทยใกล้ชายแดนติดกับพม่าที่รองรับผู้อพยพมากกว่า 100,000 คน
สหประชาชาติหวังว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่าจะเปิดทางให้ผู้ลี้ภัยเหล่านั้นได้กลับบ้าน หลังบางส่วนพำนักอยู่ในไทยมานานหลายทศวรรษ “ผมหวังว่าการสมัครใจถูกส่งตัวกลับจะเกิดขึ้นในช่วงหนึ่งปีหรือสองปีข้างหน้า”