xs
xsm
sm
md
lg

‘เสืออินเดีย’ จะแข่งขันกับ ‘มังกรจีน’ ไหวไหม?

เผยแพร่:   โดย: เกาตามาน ภัสคารัน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Can the Indian tiger take on Chinese dragon?
By Gautaman Bhaskaran
27/02/2016

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เร่งผลักดันแผนการริเริ่ม “เมค อิน อินเดีย” ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของแดนภารตะซึ่งถูกทอดทิ้งละเลยมาอย่างยาวนานถึง 2 ทศวรรษ แต่ในขณะที่ความเคลื่อนไหวเช่นนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้องและจำเป็น อินเดียก็ควรที่จะเดินหน้าไปบนเส้นทางสายนี้ด้วยความระมัดระวังตัวมากขึ้น และลดเป้าหมายลงมาให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงยิ่งขึ้น

งาน “สัปดาห์เมคอินอินเดีย” (Make in India Week) ที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดียเป็นตัวตั้งตัวตี สิ้นสุดปิดฉากลงไปแล้วที่นครมุมไบ (บอมเบย์) เมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากเริ่มต้นเปิดงานกันอย่างเต็มไปด้วยสีสัน เพียบพร้อมทั้งตัวมัสคอต และรายการแสดงทางวัฒนธรรมที่เหล่าดาราภาพยนตร์เข้าร่วมคับคั่ง ทั้งนี้ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ให้เข้ามาสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของแดนภารตะ (โมดีใช้ชื่อแผนการริเริ่มสำคัญของเขานี้ ว่า Make in India ไม่ใช่ Made in India เพราะมีวัตถุประสงค์ที่จะชักชวนให้นักลงทุนทั้งต่างชาติและอินเดีย เข้ามาตั้งโรงงานทำการผลิตสินค้าในแดนภารตะ ไม่ใช่เป็นโครงการส่งเสริมสนับสนุนให้ซื้อสินค้าที่ผลิตขึ้นในอินเดียเท่านั้น ดูรายละเอียดได้จาก Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Make_in_India -ผู้แปล) อย่างไรก็ตาม งานนี้ก็ปรากฏสัญญาณที่ถือเป็นลางร้ายขึ้นมาประการหนึ่ง

ทั้งนี้ได้เกิดอัคคีภัยขนาดใหญ่โตขึ้นในงาน ซึ่งมีทั้งพวกรัฐมนตรีระดับท็อปของรัฐมหาราษฎร์ (เมืองหลวงของรัฐนี้ก็คือมุมไบ) และดารานักแสดงชั้นนำอย่างเช่น อมิตาภ พัจจัน (Amitabh Bachchan) เข้าร่วม ก็อย่างที่มีบางคนยืนยันอย่างมั่นอกมั่นใจนั่นแหละ เพลิงไหม้คราวนี้ซึ่งยังมีความเมตตาเพราะไม่ได้ก่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายใดๆ นั้น ในแง่หนึ่งแล้วคือการส่งสัญญาณให้รับทราบกันว่า แดนภารตะจำเป็นที่จะต้องก้าวเดินไปบนเส้นทาง “เมค อิน อินเดีย” ด้วยความระมัดระวังมากขึ้น และลดการมองโลกลดการคาดการณ์อะไรต่อมิอะไรอย่างสุดสวยเกินจริง

ถึงแม้การรณรงค์ในเรื่องนี้ของโมดี มีความมุ่งหมายที่จะแข่งขันกับจีน และลอกเลียนแบบปาฏิหาริย์แห่งการส่งออกเมื่อปี 2014 ของแดนมังกร อีกทั้งอินเดียยังทำคะแนนได้รับชัยชนะใหญ่ๆ หลายประการ เป็นต้นว่า คำมั่นสัญญาจากกลุ่มฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ของไต้หวันที่จะเข้ามาลงทุนเป็นมูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์ในโรงงานผลิตด้านอิเล็กทรอนิกส์ แต่กระนั้น เส้นทางสายนี้ก็ยังคงมีอุปสรรคสิ่งกีดขวางที่อันตรายยิ่งหลายอย่างหลายประการ

แม้ว่าอินเดียสามารถเพิ่มยอดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศขึ้นอีกเท่าตัว จนกระทั่งอยู่ในระดับ 59,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว แต่แดนภารตะก็ยังไม่สามารถหยุดพักเพื่อปลื้มเปรมอิ่มอกอิ่มใจกับเกียรติยศดังกล่าวนี้ได้

ตามการศึกษาที่จัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษา “บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป” (Boston Consulting Group) ระบุว่า “อัตราส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของอินเดีย ยังคงอยู่ที่ประมาณ 17% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่จะผลักดันให้เพิ่มขึ้นเป็น 25% ... อินเดียยังสามารถสร้างตำแหน่งงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตขึ้นมาได้เพียง 4 ล้านตำแหน่งนับแต่ปี 2010 เป็นต้นมา และด้วยอัตราระดับนี้ ภายในปี 2022 แดนภารตะน่าจะสร้างตำแหน่งงานประเภทนี้ได้แค่ 8 ล้านตำแหน่ง ต่ำกว่าอย่างฮวบฮาบจากเป้าหมายของรัฐบาลซึ่งตั้งไว้ที่ 100 ล้านตำแหน่ง”

ศาสตราจารย์ รวี อารอน (Ravi Aron) ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งมีฐานอยู่ในอเมริกา ให้ความเห็นว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่อินเดียจะสามารถแข่งขันกับสินค้าออกของจีน ทั้งนี้ด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ข้อ กล่าวคือ อินเดียมีโครงสร้างพื้นฐานที่ย่ำแย่ (ถนนหนทางเลวๆ, เครือข่ายทางรถไฟไม่เพียงพอ, และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการสื่อสารโทรคมนาคมก็ไม่น่าพอใจ) ขณะที่กำลังแรงงานของอินเดียก็ไม่ได้มีทักษะเท่ากับของจีน ทั้งนี้ ผมเองคงต้องขอเพิ่มเติมเข้าไปด้วยว่า แรงงานของอินเดียยังมีระเบียบวินัยสู้แรงงานของจีนไม่ได้อีกด้วย

เป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่อินเดียได้ทอดทิ้งละเลยภาคอุตสาหกรรมการผลิตของตนมาเป็นเวลา 2 ทศวรรษ โดยกำลังกระโดดจากเศรษฐกิจแบบอิงภาคการเกษตร ข้ามไปเป็นเศรษฐกิจแบบอิงภาคบริการเลย ระยะเวลา 20 ปีนี้ถือเป็นช่วงยาวนานที่ทำให้ช่องว่างยังคงเป็นช่องว่างอยู่เหมือนเดิม

จีนนั้นค่อยๆ เดินหน้าอย่างช้าๆ แต่มั่นคงในการเติมเต็มช่องว่างนี้ด้วยสินค้าอุตสาหกรรมเป็นร้อยๆ ของตน แถมยังมีสินค้าอุตสาหกรรมทุกๆ ประเภทอีกด้วย สินค้าเหล่านี้เดินทางเข้าสู่แดนภารตะโดยเริ่มแรกทีเดียวปรากฏตัวขึ้นที่บริเวณพื้นที่ชายแดนของอินเดีย ตามเส้นทางซึ่งถูกลักลอบขนผ่านเข้ามาจากเนปาลและบังกลาเทศ ครั้นแล้วชาวอินเดียก็มีรสนิยมติดอกติดใจในผลิตภัณฑ์ของจีน ซึ่งแม้ไม่ได้มีคุณภาพล้ำเลิศกว่า แต่ก็มีราคาถูกมากจนกระทั่งใครๆ ก็หันมาซื้อหา แทนที่จะต้องจ่ายแพงกว่าเพื่อใช้สิ่งที่ผลิตในอินเดีย

ตลอดระยะเวลาหลายๆ ปีที่ผ่านไป ผลิตภัณฑ์ของจีนก็ได้ปรับปรุงยกระดับทางด้านคุณภาพขึ้นมาอย่างมากมาย สินค้าเหล่านี้อาจจะยังไม่ถึงขนาดเป็นระดับเวิลด์คลาส แต่ก็ดีขึ้นไกลลิบจากที่เคยเป็นอยู่เมื่อ 5 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม กลเม็ดทีเด็ดที่สุดยังคงปรากฏอยู่ในรูปแบบของการตั้งราคา ทั้งนี้สินค้าจีนเคยขายกันในราคาถูกเหมือนได้เปล่า และเวลานี้ก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ผมไปพักที่รีสอร์ตบนภูเขาของเมืองโคไดคานัล (Kodaikanal) ทางภาคใต้ของอินเดีย ขณะที่กำลังจะซื้อหมวกใบหนึ่ง ผมพบแถบผ้าเล็กๆ เขียนว่า “เมด อิน ไชน่า” บนหมวกใบนั้น ผมได้มันมาในราคาเพียง 100 รูปี (คิดคร่าวๆ ก็อยู่ในราว 1 ดอลลาร์ครึ่ง) ครั้นเมื่อผมถามเจ้าของร้านว่าทำไมเขาไม่นำหมวก “เมด อิน อินเดีย” มาขายบ้าง เขาก็ปล่อยมุกว่า “คุณครับ คุณอยากจะจ่ายเงิน 3 เท่าตัวของราคานี้เพื่อซื้อหมวกซึ่งจะมีคุณภาพต่ำกว่าใบที่ทำในจีนใบนี้อีกหรือครับ?”

ทำเอาผมต้องอึ้งไปเลย ผมไม่ทราบว่าจะตอบเขาอย่างไรดี

เมื่อปีที่แล้ว ผมไปได้ไฟฉายฉุกเฉินที่ออกแบบอย่างสวยงามขณะอยู่ที่เมืองฝูโจว โดยผมซื้อได้ในราคา 500 รูปี ผมไม่เคยคาดหวังเลยว่าจะสามารถหาซื้อแบบนี้ได้ในอินเดียด้วยราคาที่ต่ำกว่า 1,800 รูปี แถมรูปร่างหน้าตาก็จะไม่ได้ดีเด่อะไรอีกด้วย

ลาลิธา จาอิน (Lalitha Jain) เพื่อนรุ่นเยาว์ของผม ขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเด็กทารกอยู่ที่เมืองเจนไน (มัทราส) เมืองใหญ่ทางภาคใต้ของอินเดีย เขาสต็อกสินค้าซึ่งส่วนมากที่สุดแล้วผลิตจากประเทศจีน “รูปร่างหน้าตาของสินค้าสวยงาม การออกแบบโดดเด่น และกำไรที่ผมทำได้ก็เป็นกอบเป็นกำ เพราะในประเทศจีนนั้นพวกเขาตั้งราคาอย่างสมเหตุสมผล ผมจึงเดินทางไปที่นั่นทุกๆ 2 เดือน” เขาประกาศ

ขอโทษนะครับ อย่าเพิ่งเข้าใจผิด สินค้าเหล่านี้ไม่ใช่ของเถื่อน มันนำเข้ามาจากจีนอย่างถูกต้องตามกฎหมายครับ

ทุกวันนี้มีสินค้าในอินเดียมากมายเหลือเกินที่มาจากจีน ตั้งแต่ขนมปังกรอบไปจนถึงหลอดไฟ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงสิ่งทอและเครื่องเขียน สินค้าเหล่านี้เป็นที่ต้องการ เนื่องจากคุณภาพเหนือกว่าสิ่งที่กำลังผลิตกันในอินเดีย (ถ้ามีการผลิตสินค้านั้นๆ กันอยู่) และราคาก็แพงน้อยกว่ากันนักหนา

นี่คือตลาดอินเดียแบบที่โมดีกำลังพยายามเปลี่ยนแปลง เขากำลังตีฆ้องร้องป่าวอย่างเอิกเกริกเกรียวกราว เพื่อขับดันให้เครื่องจักรอุตสาหกรรมการผลิตของแดนภารตะเดินเครื่องทำงานกันให้เต็มสูบ น่าเศร้าใจที่ถึงแม้เราจะถือว่าจีนเป็นคู่แข่งรายสำคัญที่สุดของเรา แต่เราก็ยังล้าหลังจีนอยู่อย่างน้อย 20 ปี

สำหรับช่วงเวลา 2 ทศวรรษเหล่านั้น อินเดียได้ทอดทิ้งละเลยภาคอุตสาหกรรมการผลิตของตนไปอย่างสิ้นเชิง ผลผลิตทางอุตสาหกรรมของแดนภารตะกลับเน้นหนักรวมศูนย์ไปที่แวดวงภาคบริการ ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตด้วย แต่จากการที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) กำลังอยู่ในภาวะซบเซากันไปทั่วโลก (โดยที่กำลังแรงงานด้านไอทีของอินเดียเป็นจำนวนมากทีเดียว ต้องคอยพึ่งพาอาศัยพวกบริษัทยักษ์ใหญ่อเมริกันตลอดจนบริษัทชาติตะวันตกอื่นๆ) สถานการณ์ในอินเดียเวลานี้จึงไม่สดใส

แน่นอนทีเดียว อินเดียจำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นเดินเครื่องโรงงานต่างๆ ของตนกันแล้ว แต่แดนภารตะควรที่จะตั้งความคาดหมายของตนเอาไว้ในระดับที่สามารถบรรลุได้จริงๆ

ดังที่ศาสตราจารย์อารอนให้คำแนะนำแก่รัฐบาลอินเดียว่า “ลดระดับความทะเยอทะยานของคุณลงมา และมุ่งโฟกัสไปที่ตลาดภายในประเทศที่กำลังเติบโตขยายตัว”

และจริงๆ แล้วอินเดียก็มีตลาดภายในบ้านที่ใหญ่โตมโหฬาร (อีกทั้งยังกำลังเติบโตขยายตัวขึ้นทุกที) ซึ่งจำเป็นที่จะต้องจัดหาผลิตภัณฑ์มีคุณภาพไปสนอง ในราคาที่แข่งขันกับคนอื่นได้

เกาตามาน ภัสคารัน เป็นนักเขียน, นักวิจารณ์ทางสื่อ, และนักวิจารณ์ภาพยนตร์ ซึ่งเคยทำงานกับ The Statesman ในโกลกาตา (กัลกัตตา) และ The Hindu ในเจนไน มาเป็นเวลา 35 ปี เวลานี้เขาเขียนให้ Hindustan Times, Gulf Times and Seoul Times


กำลังโหลดความคิดเห็น