เอเอฟพี - ผู้สื่อข่าวชาวออสเตรเลีย 2 คนซึ่งถูกจับกุมในมาเลเซียหลังพยายามจ่อไมค์ถามนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค เรื่องคดีทุจริต จะไม่ถูกตั้งข้อหาใดๆ ทั้งสิ้น และได้รับอนุญาตให้เดินทางออกจากมาเลเซียได้แล้วในวันนี้ (15 มี.ค.)
ทนายความ อัลเบิร์ต ตัง ระบุว่า ลินตัน เบสเซอร์ ผู้สื่อข่าวชาวออสซี และ ลูอี อีโรกลู ซึ่งเป็นตากล้อง จะเดินทางจากเมืองกูชิง (Kuching) ในรัฐซาราวักไปยังสิงคโปร์ในเช้าวันนี้ (15)
“พวกเขาไม่ถูกเอาโทษแต่อย่างใด” ตัง ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
ก่อนหน้านี้ เบสเซอร์ และ อีโรกลู ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวสายสอบสวนของสำนักข่าวออสเตรเลียน บรอดคาสติง คอร์ปอเรชัน (เอบีซี) ถูกสั่งให้ไปขึ้นศาลมาเลเซียในเช้าวันนี้ (15) และอาจถูกตั้งข้อหาขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่
อย่างไรก็ตาม การไต่สวนคดีได้ถูกยกเลิกอย่างกะทันหัน และทั้งคู่ก็ได้รับแจ้งว่าจะไม่มีการตั้งข้อหาเอาผิดใดๆ ทั้งสิ้น ตัง และ เอบีซี ระบุ
เบสเซอร์ และ อีโรกลู ซึ่งเดินทางไปมาเลเซียเพื่อทำรายการข่าวสืบสวน “โฟร์ คอร์เนอร์ส” ทางสถานีโทรทัศน์เอบีซี ถูกตำรวจจับกุมที่รัฐซาราวักบนเกาะบอร์เนียวเมื่อค่ำวันเสาร์ (12) ระหว่างพยายามเข้าถึงตัว นาจิบ ที่หน้ามัสยิดแห่งหนึ่ง
ตำรวจมาเลเซียแถลงว่า ผู้สื่อข่าวต่างชาติกลุ่มนี้ถูกควบคุมตัวเพราะฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ และ “พยายามบุกเข้าถึงตัวนายกรัฐมนตรีอย่างก้าวร้าว”
ทั้งคู่ได้รับการปล่อยตัวในวันอาทิตย์ (13) แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกจากมาเลเซีย
เมื่อวานนี้ (14) จูลี บิชอป รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ได้กล่าวแสดงความเป็นห่วงสื่อมวลชนที่ถูกจับกุม
เบสเซอร์ และ อีโรกลู เกาะติดคดีทุจริตอื้อฉาวของนาจิบมาแล้วหลายคดี รวมไปถึงคดีฆาตกรรม อัลตันตูยา ชารีบู นางแบบและล่ามสาวชาวมองโกเลีย เมื่อปี 2006 ซึ่งบอดี้การ์ด นาจิบ 2 คนถูกศาลตัดสินประหารชีวิต
นาจิบซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น ยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุฆาตกรรม แต่นักวิจารณ์การเมืองส่วนใหญ่เชื่อว่า บอดี้การ์ดทั้งสองซึ่งเป็นนายตำรวจที่ทำหน้าที่อารักขารัฐมนตรีคนสำคัญ เป็นแค่ “แพะรับบาป”
อัลตันตูยา มีส่วนรู้เห็นกับการรับสินบนในโครงการสั่งซื้อเรือดำน้ำจากฝรั่งเศส มูลค่า 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2002
นาจิบ วัย 62 ปี ยังถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินหลายพันล้านดอลลาร์ไปจากกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว วัน มาเลเซีย ดีเวลลอปเมนต์ เบอร์ฮัด (1MDB) ที่รัฐบาลก่อตั้งขึ้น รวมถึงเรื่องเงิน 681 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่มาโผล่ในบัญชีส่วนตัวของเขาอย่างน่าสงสัย แม้นาจิบจะอ้างว่าเป็นเงินบริจาคจากราชวงศ์ซาอุฯ ก็ตาม
เบสเซอร์พยายามรุกเข้าไปถามนาจิบ เรื่องที่มาที่ไปของเงินบริจาคก้อนนี้ ขณะที่เขากำลังเดินเข้ามัสยิดที่เมืองกูชิง เมื่อค่ำวันเสาร์ (12)
ทั้ง นาจิบ และ 1MDB ต่างยืนยันว่าไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น แต่กลับใช้อำนาจขัดขวางกระบวนการสอบสวน กำจัดสมาชิกพรรคอัมโนที่เรียกร้องขอคำอธิบาย และยังกดดันสื่อในประเทศไม่ให้เสนอข่าวด้วย