เอเอฟพี - รัฐบาลบราซิลเตือนหญิงตั้งครรภ์งดเดินทางมาชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกส์ 2016 ซึ่งแดนแซมบ้าจะเป็นเจ้าภาพในเดือนสิงหาคมนี้ เนื่องจากการระบาดของ “ไวรัสซิกา” ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ และอาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด
ฌาคส์ วากเนอร์ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟฟ์ แห่งบราซิล แถลงเตือนวานนี้ (1 ม.ค.) ว่า “ผมต้องเรียนว่ามีความเสี่ยงร้ายแรงสำหรับหญิงตั้งครรภ์ จึงไม่แนะนำให้ท่านเดินทางมาชมการแข่งขัน เพราะท่านเองก็คงไม่ต้องการที่จะเสี่ยง”
ทางการบราซิลตัดสินใจออกคำเตือนล่วงหน้า 6 เดือนก่อนพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกส์ฤดูร้อนที่นครรีโอเดจาเนโร หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของไวรัสซิกาซึ่งมียุงเป็นพาหะ และทำให้ทารกที่เกิดมามีศีรษะเล็กผิดปกติ (microcephaly) เป็น “ภัยฉุกเฉินด้านสาธารณสุข”
วากเนอร์ ระบุว่า ประธานาธิบดี รุสเซฟฟ์ มองว่าคำเตือนจาก WHO เป็นสิ่งที่ดี “เพราะจะทำให้ทั่วโลก รวมถึงแวดวงวิทยาศาสตร์ ได้ตระหนักถึงอันตรายของไวรัสชนิดใหม่นี้”
อย่างไรก็ตาม เขาพยายามที่จะบรรเทาความหวาดกลัวของผู้ที่ต้องการเดินทางมาชมการแข่งขันโอลิมปิกส์ที่บราซิล โดยชี้ว่าหากไม่ใช่สตรีตั้งครรภ์ก็ไม่มีอะไรน่ากังวล
“ถ้าคุณเป็นชายวัยผู้ใหญ่ หรือหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ ร่างกายจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เองภายใน 5 วัน และอาการติดเชื้อก็จะหายไป”
“ผมเข้าใจว่าไม่มีอะไรน่ากังวล หากคุณไม่ใช่หญิงตั้งครรภ์”
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบางคนเตือนว่า ไวรัสซิกาอาจทำให้เกิดโรค Guillain-Barre syndrome หรือกลุ่มอาการจีบีเอส ซึ่งเป็นภาวะการอักเสบของเส้นประสาทหลายๆ เส้นพร้อมกัน ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน หรืออาจถึงขั้นเป็นอัมพาต
แม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถฟื้นตัวจนหายจากโรค แต่ถ้าอาการรุนแรงก็อาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
ไวรัสซิกาถูกพบครั้งแรกในทวีปแอฟริกาเมื่อปี 1947 ทว่าแวดวงสาธารณสุขยังมองว่าเป็นเชื้อที่ไม่ร้ายแรง จนกระทั่งมาเกิดการระบาดครั้งล่าสุดในภูมิภาคละตินอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว
บราซิลถือเป็นประเทศแรกที่ตระหนักถึงอันตรายและความเชื่อมโยงระหว่างไวรัสซิกากับความพิการแต่กำเนิดของทารก หลังหน่วยงานสาธารณสุขพบว่า มีเด็กหลายพันคนที่เกิดมาศีรษะเล็กผิดปกติในช่วงเดียวกับที่ไวรัสแพร่ระบาด
ล่าสุด มีรายงานพบกรณีต้องสงสัยทารกมีความผิดปกติทางสมองในบราซิลแล้วประมาณ 4,000 คน ได้รับการยืนยันแล้ว 270 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสถิติ 147 คนในปี 2014