เอเจนซีส์ - เด็กสาวลูกครึ่งเยอรมัน-รัสเซียวัย 13 ปี ออกมารับสารภาพว่า “กุเรื่อง” ที่ตนถูกผู้อพยพลักพาตัวไปข่มขืน หลังจากคดีนี้เรียกกระแสวิจารณ์อย่างหนักในสังคมเมืองเบียร์ และยังเป็นเหตุให้ตำรวจเบอร์ลินกับทางการรัสเซียเปิดสงครามน้ำลายกันอยู่พักใหญ่
พ่อแม่ของเด็กสาวซึ่งมีนามว่า “ลิซา” ได้แจ้งตำรวจว่าลูกสาวหายตัวไปขณะเดินทางไปโรงเรียนที่เขตมาร์ซาห์นในกรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 11 ม.ค. หลังจากนั้นอีกประมาณ 30 ชั่วโมง ลิซา ก็กลับถึงบ้านในสภาพหน้าตาฟกช้ำ โดยอ้างว่าถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ชาวตะวันออกกลางหรือแอฟริกาแหนือลักพาตัวที่สถานีรถไฟทางตะวันออกของกรุงเบอร์ลิน และพาไปยังแฟลตแห่งหนึ่งเพื่อลงมือข่มขืนและทุบตีทำร้าย
ข่าวนี้แพร่สะพัดไปในสื่อสังคมออนไลน์อย่างรวดเร็ว และโหมกระพือความโกรธแค้นในหมู่ชาวเยอรมันเชื้อสายรัสเซีย
อย่างไรก็ดี หลังถูกสอบสวนโดยผู้เชี่ยวชาญเป็นเวลา 3 วัน “เด็กสาวก็รับสารภาพทันทีว่า เรื่องที่ถูกข่มขืนนั้นไม่เป็นความจริง” มาร์ติน สเตลต์เนอร์ โฆษกสำนักงานอัยการเยอรมนี แถลงเมื่อวานนี้ (31 ม.ค.) พร้อมระบุว่า ลิซา ไม่กล้ากลับบ้าน เนื่องจากทางโรงเรียนได้โทรแจ้งผู้ปกครองเกี่ยวกับเหตุการณ์บางอย่างซึ่งเกิดขึ้นที่โรงเรียน
เรื่องราวโอละพ่อนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสต่อต้านในเยอรมนีต่อเหตุประทุษร้ายหญิงสาวในคืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่เมืองโคโลญ ซึ่งมีข้อกล่าวหาว่าเป็นฝีมือของกลุ่มชายผู้อพยพชาวอาหรับและแอฟริกาเหนือ
ชุมชนชาวเยอรมันเชื้อสายรัสเซียได้ออกมาชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมให้ ลิซา โดยได้รับแรงหนุนจากกลุ่ม Bärgida ซึ่งเป็นเครือข่ายเดียวกับขบวนการขวาจัด PEGIDA ที่มีจุดยืนต่อต้านผู้อพยพและกระแสอิสลามานุวัตรในเยอรมนี
อารมณ์โกรธเกรี้ยวของกลุ่มขวาจัดยิ่งพลุ่งพล่านขึ้นไปอีก เมื่อสถานีโทรทัศน์รัสเซียอ้างคำพูดของญาติเด็กสาวที่ว่า ตำรวจเยอรมันทำเพิกเฉย และไม่ดำเนินการสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้น
เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ออกมาประกาศจุดยืนเชื่อคำพูดเด็กสาวรายนี้ พร้อมตำหนิทางการเบอร์ลินว่าพยายามปกปิดข่าวการหายตัวไปของ ลิซา เป็นเวลานาน
จากการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือพบว่า ลิซา ได้ไปอาศัยอยู่บ้านเพื่อนคนหนึ่งในคืนที่เธอหายตัวไป และตำรวจไม่ถือว่าเพื่อนรายนี้เป็นผู้ต้องสงสัย
มารดาของ ลิซา ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร แดร์ สปีเกล เมื่อวันอาทิตย์ (31) ว่า ลูกสาว “ทำตัวแย่มาก” และกำลังเข้ารับการรักษาที่แผนกจิตเวชของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง
ปีที่แล้ว เยอรมนีได้อ้าแขนรับผู้ขอลี้ภัยเกือบ 1.1 ล้านคน โดยส่วนใหญ่มาจากซีเรีย อัฟกานิสถาน และอิรัก ขณะที่นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ก็กำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อจุดยืนต้อนรับผู้หลบหนีภัยสงครามของเธอ