xs
xsm
sm
md
lg

SCB EIC หวั่นพิษเลือกตั้งในยุโรปปั่นเศรษฐกิจ และตลาดการเงินโลกป่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


SCB EIC หวั่นพิษเลือกตั้งในยุโรปปั่นเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกป่วน ถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความอยู่รอดของสหภาพยุโรป ขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังส่งสัญญาณฟื้นตัว

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) วิเคราะห์ว่า การเลือกตั้งผู้นำในยุโรปตลอดปี 2017 เป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความอยู่รอดของสหภาพยุโรป ขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังส่งสัญญาณฟื้นตัว ความไม่แน่นอนทางการเมืองของยุโรปกลับเป็นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และผู้บริโภคได้ทุกเมื่อ รวมถึงส่งผลกระทบต่อไทยผ่านตลาดการเงิน การเคลื่อนไหวของเงินทุน และการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกทั้งผลการเลือกตั้งในประเทศที่สำคัญ จะเป็นเครื่องชี้วัดความนิยมของประชาชนต่อแนวคิดการรวมตัวกันทางการเมือง และเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (European Union : EU) โดยความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจใน EU ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลข้างเคียงมาจากการใช้เงินสกุลเดียวกันยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่สร้างความแตกร้าว และอาจเป็นจุดจบของการใช้เงินสกุลยูโรร่วมกันใน EU

ทั้งนี้ การเลือกตั้งผู้นำในฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี เป็นสิ่งที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็น 3 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ครอบคลุม 65% ของเศรษฐกิจยูโรโซนทั้งหมด และจะกำหนดชะตาของ EU

โดยการเลือกตั้งที่ฝรั่งเศส มีโอกาสเกิด Frexit ได้ยาก แม้ Marine Le Pen จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งผู้นำของฝรั่งเศส ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 23 เมษายน และ 7 พฤษภาคม ได้สร้างความตื่นตระหนกแก่นักลงทุนมาแล้ว โดยสะท้อนผ่านส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรฝรั่งเศส และพันธบัตรเยอรมนี ที่เพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 4 ปี ในวันที่ Marine Le Pen แถลงนโยบายว่า ต้องการนำฝรั่งเศสออกจาก EU

อย่างไรก็ดี ผลสำรวจล่าสุด ของ Financial Times ณ วันที่ 29 มีนาคม บ่งชี้ว่า Marine Le Pen ผู้นำจากพรรค National Front พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด มีโอกาสสูงที่จะเป็นหนึ่งในสองผู้สมัครที่สามารถเข้าไปถึงการเลือกตั้งรอบสุดท้าย แต่มีโอกาสเป็นไปได้น้อยที่จะชนะการเลือกตั้งรอบสุดท้าย และขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป โดยอาจพ่ายแพ้ให้กับ Emmanuel Macron อดีตแกนนำพรรครัฐบาลที่ผันตัวเป็นผู้สมัครอิสระ นอกจากนี้ ถึงแม้ว่า Marine Le Pen จะชนะการเลือกตั้งในโค้งสุดท้าย และได้เป็นประธานาธิบดี เธอก็ไม่สามารถจัดตั้งประชามติเพื่อถอนตัวออกจาก EU ได้ในทันที เนื่องจากยังต้องผ่านกระบวนการ และความเห็นชอบของรัฐสภา อีกทั้งจากผลสำรวจของ Ifop เมื่อเดือนกรกฎาคม 2016 พบว่า ประชาชนชาวฝรั่งเศสกว่า 67% ยังเลือกที่จะอยู่ใน EU ต่อไป

ส่วนการเลือกตั้งที่เยอรมนี มีกระแสการต่อต้านผู้อพยพกดดันคะแนนนิยมต่อ Angela Merkel ในการชิงตำแหน่งผู้นำสมัยที่ 4 การลงสมัครเลือกตั้งครั้งนี้ของ Angela Merkel ท้าทายมากกว่าครั้งที่ผ่านมา เพราะนอกจากที่เธอต้องนำพาประเทศให้พ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป และฟันฝ่าความนิยมที่มีมากขึ้นของพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด เธอยังต้องต่อสู้กับกระแสการต่อต้านผู้อพยพในเยอรมนี ที่ทำให้คะแนนความนิยมของเธอลดลง โดยนโยบายการควบคุมจำนวนผู้อพยพของพรรคการเมืองขวาจัด The Alternative for Germany (AfD) ทำให้พรรค AfD ซึ่งมีแนวคิดที่จะแยกตัวออกจาก EU สามารถเอาชนะการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นได้ในบางรัฐได้ อย่างไรก็ตาม ความนิยมของพรรค AfD ในการเลือกตั้งผู้นำเยอรมนียังมีไม่มากนัก โดยคู่แข่งคนสำคัญของ Merkel กลับเป็น Martin Schulz อดีตประธานรัฐสภาสหภาพยุโรป ผู้นำจากพรรค Social Democrats (SPD) ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุน EU ประเด็นการแยกตัวออกจาก EU ของเยอรมนี จึงถือว่าไม่เป็นที่น่ากังวล

ขณะที่การเลือกตั้งที่อิตาลีนั้น ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด Five Star Movement (M5S) อาจนำมา ซึ่งการถอนตัวออกจาก EU หลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรี Matteo Renzi ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากพ่ายแพ้ในการลงประชามติเพื่อปฏิรูปรัฐสภาในช่วงปลายปี 2016 คะแนนนิยมของพรรคที่ต่อต้าน EU อย่าง Five Star Movement (M5S) ก็เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ความนิยมในเงินสกุลยูโรของชาวอิตาลี ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ที่ 41% จากผลสำรวจของ Eurobarometer

ทั้งนี้ กระแสการต่อต้าน EU ที่เพิ่มขึ้นในอิตาลี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรัง โดยเฉพาะในภาคธนาคารที่มีหนี้เสียถึง 18% โดยอิตาลีเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการใช้เงินสกุลเดียวและกฎเกณฑ์ของ EU ทั้งนี้ การใช้เงินสกุลเดียวทำให้เศรษฐกิจที่อ่อนแอของอิตาลีฟื้นตัวได้ช้า เนื่องจากค่าเงินยูโรยังคงผูกกับเศรษฐกิจของประเทศที่แข็งแกร่งกว่าอย่างเยอรมนี ซึ่งทำให้เงินยูโรไม่อ่อนค่าลงเท่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ อิตาลียังเคยประสบปัญหาจากกฎเกณฑ์ของ EU ในประเด็นที่รัฐบาลอิตาลีต้องการนำเงินทุนไปช่วยเหลือภาคธนาคารที่กำลังประสบปัญหา (bail out) แต่เนื่องจากกฎใหม่ของ EU กำหนดให้ผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้ของธนาคารที่ประสบปัญหาต้องรับผลสูญเสียอย่างน้อย 8% ของหนี้สินของธนาคาร ก่อนที่ภาครัฐจะใช้เงินเข้าช่วยได้ (bail in) ซึ่งอาจจะทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก แม้ประเด็นดังกล่าวเริ่มคลี่คลายไปบ้างแล้ว แต่ก็มีประชาชนไม่น้อยที่ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลและต้องการให้อิตาลีออกจาก EU

“ชัยชนะของพรรคการเมืองที่ต่อต้าน EU อาจสร้างความผันผวนในตลาดการเงินคล้ายกรณีของผลโหวต Brexit ที่ผลการเลือกตั้งออกมาเหนือความคาดหมายอาจสร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุน โดยอาจเกิดการเคลื่อนไหวของเงินทุนอย่างฉับพลัน และการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรุนแรง ทั้งนี้ผลการเลือกตั้งในฝรั่งเศสเป็นสิ่งที่ค่อนข้างน่ากังวล เนื่องจากนักลงทุนในตลาดการเงินต่างมั่นใจว่า Macron จะเป็นผู้ชนะ สะท้อนจากส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรฝรั่งเศส และพันธบัตรเยอรมนี และส่วนต่างสัญญารับประกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (credit default swaps) ของฝรั่งเศส ที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากผลการเลือกตั้งในฝรั่งเศสไม่เป็นไปตามที่นักลงทุนคาดอาจทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง แต่อาจไม่รุนแรงเท่าในกรณีของค่าเงินปอนด์ต่อดอลลาร์สหรัฐ ที่ร่วงลงกว่า 13% ในวันประชามติ Brexit เนื่องจากผลการเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่บ่งชี้ว่าฝรั่งเศสจะสามารถจัดทำประชามติ Frexit ได้จริง ทั้งนี้ จากผลสำรวจของ Bloomberg นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า หาก Le Pen พลิกล็อกชนะการเลือกตั้ง อาจทำให้เงินยูโรอ่อนค่าลง 7% สู่จุดต่ำสุดในรอบ 15 ปี ที่ระดับ 1 ยูโรต่อดอลลาร์สหรัฐ” เอกสารเผยแพร่ระบุ

ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด ชัยชนะของพรรคการเมืองฝ่ายขวาอาจนำไปสู่ความแตกร้าวของ EU และเป็นจุดจบของการใช้เงินสกุลยูโรร่วมกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดทั้งผลดี และผลเสียตามมา ในแง่ของผลดี การกลับมาใช้เงินสกุลของตนเองจะมาพร้อมอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งจะช่วยให้แต่ละประเทศสามารถกำหนดนโยบายที่เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศของตนได้ในระยะยาว อีกทั้งค่าเงินที่มีแนวโน้มอ่อนค่าในประเทศที่เศรษฐกิจอ่อนแอกว่าจะส่งผลดีต่อการส่งออก ลดการนำเข้า ซึ่งทำให้เงินทุนสำรองสะสมของประเทศมีมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นทางออกให้กับหลายๆ ประเทศได้ อีกทั้งอิสรภาพทางการเมืองหลังแยกตัวออกจาก EU จะช่วยแก้ปัญหาที่เรื้อรังมาจากกฎเกณฑ์ของ EU โดยเฉพาะประเด็นผู้อพยพที่มักถูกนำมาใช้เพื่อการหาเสียง

อย่างไรก็ดี การยกเลิกเงินสกุลยูโรอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากนักลงทุนอาจยังไม่เชื่อมั่นในเงินสกุลใหม่ และภาวะเศรษฐกิจภายหลังการแยกตัวออกจากยูโรโซนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ค่าเงินสกุลใหม่จึงมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงอย่างฉับพลัน ทั้งนี้ ในกรณีของฝรั่งเศส พันธบัตรรัฐบาลซึ่งมีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านยูโร จะต้องถูกเปลี่ยนสกุลเงินเป็น franc และค่าเงิน franc ที่อาจร่วงหนักจะกระทบต่อผู้ถือพันธบัตรดังกล่าวในทันที ความกังวลนี้จะทำให้เกิดการเทขายพันธบัตร และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้น

นอกจากนี้ เงิน franc ที่อ่อนค่า และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้น จะเป็นการเพิ่มต้นทุนการกู้ยืม และกดดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต ขณะที่ประเทศที่กำลังประสบวิกฤตหนี้สาธารณะอย่างกรีซ ก็อาจประสบปัญหาหนักจากหนี้ที่จะแพงขึ้น หากกลับมาใช้เงินสกุล drachma เนื่องจากหนี้ส่วนใหญ่ของกรีซ จะยังคงอยู่ในสกุลเงินยูโร โดยเงิน drachma ที่อ่อนค่าจะเป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้กับกรีซ และอาจทำให้ต้องผิดนัดชำระหนี้ไปเรื่อยๆ

สำหรับกรณีของอิตาลี ปัญหาหนี้เสียในภาคธนาคารอาจถูกซ้ำเติมจากค่าเงินที่อ่อนค่าลงซึ่งทำให้ต้นทุนการเพิ่มทุน (recapitalization) จากต่างประเทศสูงขึ้น และอาจจุดประกายปัญหาหนี้เสียจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจเลยก็เป็นได้ นอกจากนี้ กรณีที่รัฐบาลมีการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มอย่างไม่ระมัดระวัง อาจก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (hyperinflation) อย่างที่เกิดขึ้นในรัสเซีย เมื่อปี 1992 ทั้งนี้ แม้การยกเลิกการใช้เงินยูโรจะเกิดขึ้นเพียงประเทศเดียว แต่ผลกระทบอาจเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง เนื่องจากทุกประเทศในยูโรโซนต่างมีเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด

สถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตัดสินใจเลื่อนการดำเนินมาตรการทางการเงินแบบเข้มงวดออกไป หากเหตุการณ์ทางการเมืองกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน โดย ECB อาจยังไม่สามารถปรับลดวงเงินในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล (Quantitative Easing : QE) ได้ จากเดิมที่คาดว่า จะมีการปรับลดวงเงิน QE จาก 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เป็น 4 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2018 เป็นต้นไป อีกทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับปกติอาจเป็นไปได้ช้าลง จากเดิมที่คาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาส 2 ของปี 2019

ในระยะยาวการถอนตัวของสมาชิก EU อาจทำให้เศรษฐกิจยูโรโซนซบเซาเพิ่มแรงกระทบต่อภาคส่งออกไทย แต่อาจเปิดโอกาสให้มีการทำข้อตกลงทางการค้าใหม่ที่เป็นประโยชน์กับไทยมากขึ้น ภาวะเศรษฐกิจชะงักงันที่อาจเกิดขึ้นในยูโรโซนจากการถอนตัวออกจาก EU และการยกเลิกเงินสกุลยูโรในบางประเทศอาจกระทบโดยตรงต่อความต้องการสินค้าจากต่างประเทศ โดยหากเศรษฐกิจยูโรโซนหดตัว 1% ความต้องการสินค้านำเข้าของยูโรโซนอาจลดลงกว่า 1.5% ทั้งนี้ การส่งออกไทยไปยังยูโรโซน คิดเป็น 9% ของส่งออกไทยทั้งหมด นำโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ และรถยนต์ และส่วนประกอบ

อย่างไรก็ตาม การถอนตัวออกจาก EU ในบางประเทศอาจเป็นประโยชน์ต่อไทยในแง่ของการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี ที่ในปัจจุบัน ASEAN และ EU ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันได้ แม้จะเริ่มการเจรจามาตั้งแต่ปี 2007 โดยประเทศที่ถอนตัวออกจาก EU อาจดำเนินการเจรจาข้อตกลงการค้าทวิภาคีกับไทยหรือ ASEAN ด้วยตัวเอง ซึ่งจะเป็นการเจรจาที่มีข้อจำกัดน้อยลง เนื่องจากไม่ถูกขัดขวางจากความต้องการที่ซับซ้อนของสมาชิก EU เช่น กรณีของ Brexit ที่ UK เตรียมเร่งจัดทำข้อตกลงการค้ากับหลายประเทศ และผู้นำของ UK เชื่อมั่นว่า จะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าที่ตรงกับความต้องการของทั้งสองฝ่ายได้
กำลังโหลดความคิดเห็น