xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ยืนยันพบความเคลื่อนไหวผิดปกติที่ “ฐานยิงจรวดโสมแดง” คาดยิงขีปนาวุธเร็วๆ นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทหารเกาหลีเหนือยืนคุ้มกันสถานีส่งดาวเทียมโซแฮ (ตงชาง-รี) ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ปี 2012 (แฟ้มภาพ - AFP)
รอยเตอร์ - เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยืนยันวานนี้ (28 ม.ค.) ว่าพบความเคลื่อนไหวผิดปกติรอบๆ ฐานยิงจรวดของเกาหลีเหนือ ซึ่งชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลโสมแดงอาจกำลังตระเตรียมยิงขีปนาวุธพิสัยไกลในอีกไม่ช้า

ข้อมูลนี้ถูกเปิดเผยออกมาพร้อมๆ กับที่สหรัฐฯ แสดงความกังวลว่าเกาหลีเหนืออาจนำเทคโนโลยีด้านอวกาศมาใช้พัฒนาขีปนาวุธ ขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็กำลังหารือว่าจะมีบทลงโทษอย่างไรต่อการที่โสมแดงทดสอบนิวเคลียร์รอบ 4 เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ อ้างข้อมูลข่าวกรองซึ่งระบุว่า มีการเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนและตัวขับเคลื่อนจรวดไปยังสถานีส่งดาวเทียมโซแฮ (Sohae) และคาดว่าจะมีการยิงทดสอบขีปนาวุธภายในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า

“สิ่งที่เรากังวลก็คือ มันเป็นเทคโนโลยีแบบเดียวกับที่ใช้พัฒนาจรวดพิสัยไกลข้ามทวีป (ICBM)” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งระบุ

โจ เบอร์มูเดซ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลจากบริษัทข่าวกรองพาณิชย์ AllSource Analysis ชี้ว่า ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นถึงกิจกรรมที่คึกคักกว่าปกติบริเวณฐานยิงจรวดโซแฮทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐโสมแดง โดยเฉพาะในตอนกลางคืน

ขบวนรถบรรทุก การก่อสร้าง และกิจกรรมอื่นๆ ล้วนบ่งบอกว่าเกาหลีเหนือกำลังเตรียมทดสอบอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจจะเป็นเพียงการทดสอบเครื่องยนต์อย่างเดียว หรือยิงจรวดเต็มรูปแบบก็เป็นได้

เบอร์มูเดซกล่าวด้วยว่า เกาหลีเหนือนำวัสดุมาปกปิดเสาโครงเหล็กที่อยู่ติดกับฐานยิงจรวด ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการอำพรางเพื่อไม่ให้ดาวเทียมจับความเคลื่อนไหวได้

บทวิเคราะห์ในเว็บไซต์ 38 North ของสถาบันวิจัยสหรัฐฯ-เกาหลีแห่งมหาวิทยาลัย จอห์น ฮอปกินส์ ระบุว่า สิ่งที่ถูกปิดบังไว้ใกล้ๆ เสาโครงเหล็กอาจเป็นตัวจรวด นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนย้ายที่กำบังซึ่งติดตั้งบนราง (rail-mounted shelter) มาอยู่ติดกับขาตั้งสำหรับทดสอบเครื่องยนต์

38 North ระบุด้วยว่า ที่กำบังนี้อาจใช้ในการประกอบชิ้นส่วนจรวด และเคลื่อนย้ายไปยังฐานยิงโดยอาศัยความมืดและเมฆหมอกช่วยอำพราง มันมีขนาดกว้าง 11 เมตร ยาว 29 เมตร และสูง 11 เมตร ซึ่งใหญ่พอที่จะบรรจุชิ้นส่วนขั้นที่ 1 ของจรวดพิสัยกลางมูซูดัน, จรวดอึนฮา หรือจรวดรุ่นใหม่ที่มีขนาดพอๆ กัน

เกาหลีเหนือยิงจรวดพิสัยไกลครั้งล่าสุดเมื่อปลายปี 2012 โดยอ้างว่าเป็นการส่งดาวเทียมสื่อสารขึ้นสู่วงโคจร แต่ชาติตะวันตกและผู้เชี่ยวชาญในเอเชียส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็น “ข้ออ้าง” เพื่ออำพรางการทดสอบจรวดพิสัยไกลข้ามทวีปมากกว่า

คิม มิน-ซ็อก โฆษกกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมที่ฐานยิงจรวดเกาหลีเหนือ โดยอ้างว่าเป็นนโยบายของรัฐที่จะไม่หารือข่าวกรองกับสาธารณชน

อย่างไรก็ตาม คิมชี้ว่า รัฐบาลเปียงยางยังไม่ได้ส่งสัญญาณเตือนด้วยการประกาศเขตห้ามเดินเรือ ซึ่งโดยปกติจะประกาศทุกครั้งก่อนทดสอบจรวด

จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเดินทางไปเยือนจีนในสัปดาห์นี้ ได้กล่าวเตือนผู้นำ คิม จอง อึน เรื่องที่เกาหลีเหนือประกาศเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปซึ่งสามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้

“สหรัฐฯ จะถือว่ามันเป็นภัยคุกคามขั้นร้ายแรง... และจะทำทุกวิถีทางที่จำเป็น เพื่อปกป้องพลเมืองในสหรัฐฯ รวมถึงมิตรประเทศ และชาติพันธมิตรของเราทั่วโลก” เคร์รีให้สัมภาษณ์ที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันพุธ (27)

สำนักงานป้องกันขีปนาวุธสหรัฐฯ (US Missile Defense Agency) ได้ทดสอบขีปนาวุธสกัดกั้นชนิดยิงจากพื้นดินสู่อากาศที่ฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อช่วงค่ำวันพฤหัสบดี (28) เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการป้องกันขีปนาวุธทั้งในรัฐอะแลสกาและแคลิฟอร์เนีย หลังจากที่เคยประสบปัญหาทางเทคนิคเมื่อไม่นานมานี้

กำลังโหลดความคิดเห็น