เอเอฟพี - เดนมาร์ก และสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันพุธ (27ม.ค.) เป็น 2 ชาติล่าสุดที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกา (ZIKA) ท่ามกลางรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ในหลายประเทศของทวีปยุโรปมาตั้งแต่ปีก่อน โดยทั้งหมดเป็นนักเดินทางที่กลับจากละตินอเมริกา ดินแดนที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักในเวลานี้
“นักท่องเที่ยวเดนมาร์กที่เดินทางไปยังอเมริกากลางและอเมริกาใต้ถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสซิกาขณะเดินทางกลับ” โรงพยาบาลแห่งหนึ่งทางภาคตะวันออกของเดนมาร์กระบุในถ้อยแถลงเมื่อช่วงค่ำวันอังคาร (26 ม.ค.)
ลาร์ส ออสเตอร์การ์ด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลออร์ฮุส ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งว่า ผู้ป่วยชาวเดนมาร์กรายนี้เป็นคนหนุ่ม และคาดหมายว่าจะฟื้นไข้อย่างสมบูรณ์
ด้านสำนักงานสาธารณสุขกลางของสวิตเซอร์แลนด์เปิดเผยว่า มีประชาชน 2 คนที่เดินทางมาจากเฮติและโคลอมเบีย ถูกตรวจพบว่ามีเชื้อไวรัสชิกา แต่ทั้งสองไม่มีใครตั้งครรภ์และไม่จำเป็นต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล
ในขณะเดียวกัน หน่วยงานเฝ้าระวังด้านสาธารณสุขของประเทศต่างๆ ในยุโรปออกมายอมรับว่าพวกเขาพบกรณีผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2015
เนเธอร์แลนด์ยืนยันพบผู้ติดเชื้อ 10 คน อังกฤษ 5 คน ทั้งหมดล้วนเดินทางกลับจากละตินอเมริกา ส่วนในอิตาลี สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติพบผู้ป่วย 4 คนในเดือนมีนาคม 2015 ส่วนโปรตุเกสบอกว่าพบผู้ติดเชื้อ 4 ราย โดยผู้ติดเชื้อทั้งในอิตาลีและโปรตุเกสล้วนเดินทางมาจากบราซิล
ผู้หญิงคนหนึ่งในสตอกโฮล์ม เมืองหลวงของสวีเดนได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ในเดือนกรกฎาคม 2015 ส่วนในสเปนก็พบผู้ป่วยซิกา 2 คนในช่วงปลายปีเดียวกัน จากการยืนยันของเจ้าหน้าที่แคว้นคาตาโลเนีย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศในวันศุกร์ที่แล้ว
ในมอสโก รัฐมนตรีสาธารณสุข เวโรนิกา สควอร์ทโซวา บอกว่าเจ้าหน้าที่ได้เฝ้าระวังไวรัสซิกามานานแล้วนับตั้งแต่มันปรากฏตัว “ตอนนี้เรากำลังดำเนินการควบคุมมันให้เร็วที่สุด เช่นเดียวกับการปรากฏตัวของสายพันธุ์แปลกๆ อื่นๆ”
ส่วนประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน เสริมว่า “เราจำเป็นต้องให้ความสนใจในเรื่องนี้ ทำงานร่วมกับบริษัทขนส่งต่างๆ เหล่าสายการบินทำความเข้าใจอาการและตอบสนองอย่างรวดเร็ว แน่นอนยุงไม่สามารถบินข้ามมหาสมุทร แต่มนุษย์ที่ติดเชื้อสามารถทำได้”
จนถึงตอนนี้ยังไม่มีวิธีรักษาหรือวัคซีนป้องกันโรคซิกา ซึ่งมีอาการคล้ายไข้หวัดและมีผื่นขึ้นตามตัว ทว่าราวๆ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยไวรัสนี้จะไม่แสดงอาการใดๆ
ซิกาไม่เหมือนกับความกังวลทางสาธารณสุขระหว่างประเทศอื่นๆ เนื่องจากมันไม่ติดต่อจากคนสู่คน และส่วนใหญ่ของผู้ติดเชื้อซึ่งมีอาการคล้ายไข้หวัด จะหายป่วยภายในเวลาราว 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม มันเป็นภัยคุกคามอย่างเจาะจงต่อหญิงตั้งท้องและเด็กในครรภ์
ไวรัสซิกาที่มียุงเป็นพาหะ ถูกพบครั้งแรกในแอฟริกา เอเชียและแปซิฟิก ก่อนกระโดดไปยังทวีปอเมริกา ดินแดนที่เชื่อว่ามันเป็นต้นตอที่ทำให้จำนวนทารกมีภาวะพิการเพิ่มสูงขึ้น ในนั้นรวมถึงโรคศีรษะเล็กตั้งแต่แรกคลอด โดยเฉพาะในบราซิล
บราซิลพบเด็กแรกคลอดที่มีภาวะพิการแต่กำเนิดที่เชื่อว่ามีผลมาจากการติดเชื้อไวรัสซิกาแล้วอย่างน้อย 3,893 ราย นับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้พุ่งขึ้นผิดปกติทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศในเดือนตุลาคม ในนั้นมีเด็กเสียชีวิต 49 ราย หลังจากก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื้อเฉลี่ยแล้วแค่ปีละราวๆ 160 คนเท่านั้น
ไวรัสซิกาแผ่ลามไปยังเหล่าประเทศแถบละตินอเมริกาและแคริบเบียนราว 20 ประเทศ ซึ่งไกลสุดลามไปถึงเม็กซิโก ขณะที่นักเดินทางยังนำพาเชื้อเข้าสู่มลรัฐต่างๆของสหรัฐฯ อย่างเช่น ฟลอริดา ฮาวาย และนิวยอร์กด้วย