เอเอฟพี - นางคริสติอาน โทบิรา รัฐมนตรียุติธรรมฝรั่งเศสลาออกจากตำแหน่งในวันพุธ (27 ม.ค.) เพื่อประท้วงความพยายามของรัฐบาลในการเพิกถอนสัญชาติผู้ถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานก่อการร้ายที่เกิดในฝรั่งเศส ในกรณีที่ถือสองสัญชาติ
นางโทบิรา ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่พรรคโซเชียลิสต์ พรรครัฐบาลของประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ แต่ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์ของพวกนักการเมืองฝ่ายขวา ได้ทวีตหลังจากลาออกว่า “บางครั้งการต่อต้านหมายถึงการอยู่ต่อ แต่บางครั้งการต่อต้านก็หมายถึงการเดินจากไป”
สตรีฝรั่งเศสเชื้อสายกินีวัย 63 ปีรายนี้ กลายเป็นนักการเมืองผิวดำที่มีตำแหน่งสูงที่สุดในฝรั่งเศส เมื่อครั้งที่เธอได้รับการแต่งตั้งให้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรียุติธรรมในปี 2012 ขณะที่นายฌอง-ฌาคส์ เออร์โวส์ ประธานคณะกรรมาธิการรัฐสภา รับผิดชอบงานด้านแก้ไขกฎหมาย ถูกเสนอชื่อให้ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน
โทบิราตกอยู่ในแก่นกลางการถกเถียงบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะในฐานะเหยื่อของเหยียดผิวหรือกรณีที่เธอผลักดันร่างกฎหมายสมรสในเพศเดียวกัน ซึ่งถูกคัดค้านอย่างดุเดือดจากพวกอนุรักษนิยม
ในศึกล่าสุดนำเธอเข้าสู่ความขัดแย้งกับประธานาธิบดีออลลองด์ และนายกรัฐมนตรีมานูเอล วาลส์ เกี่ยวกับข้อเสนอของพวกเขาที่ต้องการให้ถอนสัญชาติพลเมืองฝรั่งเศสที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานก่อการร้ายในกรณีที่ถือสองสัญชาติ
ออลลองด์เรียกร้องให้เขียนมาตรการดังกล่าวบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ ตามหลังเหตุพวกนักรบญิฮัดโจมตีก่อการร้ายกรุงปารีสเมื่อเดือนพฤศจิกายน คร่าชีวิตผู้คน 130 ศพ
ความพยายามดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิรูปที่มีจุดมุ่งหมายส่งเสริมด้านความมั่นคง เนื่องจากมีพลเมืองฝรั่งเศสหลายร้อยคนและจำนวนมากถือสองสัญชาติ ไปจับอาวุธร่วมสู้เคียงข้างพวกรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในอิรักและซีเรีย ขณะที่บางส่วนได้กลับมาก่อเหตุร้ายในแดนน้ำหอม อย่างเช่นกรณีของเหล่ามือโจมตีนองเลือดกรุงปารีส
อย่างไรก็ตาม หลายคนในพรรคโซเชียลิสต์มองข้อเสนอนี้ว่าเป็นพฤติกรรมขบถทางอุดมการณ์ที่แบ่งแยกประชาชน
ไม่กี่วันก่อนหน้านำเสนอแผนปฏิรูปต่อรัฐสภา นางโทบิราแถลงว่ามาตรการนี้จะถูกถอดออกไปแล้ว ทว่าก็โดนประธานาธิบดีออลลองด์ยับยั้งและสั่งให้เรื่องนี้อยู่ในวาระการพิจารณาเพื่อการปฏิรูปรัฐธรรมนูญต่อไป
แผนปฏิรูปยังรวมไปถึงบรรจุสิทธิต่างๆ ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ในรัฐธรรมนูญ ในนั้นรวมถึงอำนาจในการจู่โจมบ้านเรือนต้องสงสัยและกักบริเวณประชาชนโดยไม่ต้องอยู่ภายใต้การตรวจตราของฝ่ายตุลาการ
นายวาลส์มีกำหนดนำเสนอรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาในวันพุธ (27 ม.ค.) จากนั้นก็จะมีการเปิดอภิปรายซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์
หนึ่งในประเด็นหลักก็คือข้อกำหนดสัญชาติ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะก่อความแตกแยกระหว่างบุคคลที่ถือสัญชาติฝรั่งเศสเพียงอย่างเดียวกับบุคคลที่ถือสองสัญชาติ
ตามกฎหมายปัจจุบันของฝรั่งเศส พลเมืองสองสัญชาติสามารถถูกเพิกถอนสัญชาติของพวกเขาได้อยู่ก่อนแล้ว แต่หากแผนปฏิรูปล่าสุดผ่านความเห็นชอบ ฝรั่งเศสจะเป็นประเทศประชาธิปไตยแห่งแรกของโลกที่มีรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาปฏิบัติกับบุคคลถือสองสัญชาติอย่างไม่เท่าเทียม จากความเห็นของปาทริค เวล นักรัฐศาสตร์บอกกับเอเอฟพี
นายวาลส์บอกในวันพุธ (27 ม.ค.) ว่า คำว่า “พลเมืองสองสัญชาติ” จะไม่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหลีกเลี่ยงการเลือกปฏิบัติ พร้อมระบุแนวทางดังกล่าวจะช่วยหลีกเลี่ยงก่อมลทินแก่บุคคลที่ถือพาสปอร์ต 2 เล่ม
ขณะเดียวกัน เพื่อหลีกเลี่ยงพลเมืองฝรั่งเศสที่มีพาสปอร์ตเล่มเดียวจะถูกถอนสัญชาติ นายวาลส์บอกว่าฝรั่งเศสจะให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาของสหประชาชาติ 1954 เกี่ยวกับเรื่องสัญชาติและการไร้สัญชาติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาบุคคลไร้สัญชาติ