xs
xsm
sm
md
lg

Exclusive : บีบีซีแฉ “ราชสำนักซาอุฯ” บริจาค $681 ล้านเพื่อช่วย “นายกฯ มาเลเซีย” ชนะเลือกตั้ง-หวั่นอิสลามิสต์เรืองอำนาจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก แห่งมาเลเซีย
เอเจนซีส์ - สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษเผยแพร่รายงานเอ็กซ์คลูซีฟเกี่ยวกับกรณีเงินสด 681 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถูกโอนเข้าบัญชีส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค แห่งมาเลเซีย โดยแหล่งข่าวใกล้ชิดราชสำนักซาอุดีอาระเบียระบุว่า เงินก้อนนี้เป็น “เงินบริจาค” ที่ราชวงศ์ซาอุฯ มอบให้เพื่อสนับสนุนให้ นาจิบ ชนะเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2013

เมื่อวานนี้ (26 ม.ค.) อัยการสูงสุดมาเลเซียได้ประกาศให้นายกรัฐมนตรี นาจิบ พ้นข้อหาทุจริต โดยยืนยันว่า เงินสดเกือบ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ไปโผล่ในบัญชีส่วนตัวของผู้นำเสือเหลืองนั้น เป็นเงินบริจาคจากราชวงศ์ซาอุฯ

ผู้นำเสือเหลืองเริ่มเผชิญแรงกดดันอย่างหนักตั้งแต่ปีที่แล้ว หลังมีกระแสข่าวว่าเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกดึงออกไปจากกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว วันมาเลเซีย ดีเวลลอปเมนต์ เบอร์ฮัด (1MDB) อย่างเป็นปริศนา ทว่า นาจิบซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการที่ปรึกษากองทุน ยืนยันว่าไม่มีการทุจริตใดๆ เกิดขึ้น

แหล่งข่าวในซาอุฯ เผยกับบีบีซีว่า ริยาดมอบเงินบริจาคหนุนนายกฯ มาเลเซียให้เป็นฝ่ายชนะเลือกตั้ง เนื่องจากเกรงการแผ่อิทธิพลของกลุ่มอิสลามิสต์ ภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood)

เวลานั้น พรรคแพน มาเลเซีย อิสลามิก (PAS) เป็น 1 ใน 3 พรรคฝ่ายค้านซึ่งรวมกันเป็นกลุ่มพันธมิตร “ปากาตัน รักยัต” ซึ่งคณะผู้ก่อตั้งพรรค PAS นั้นเชิดชูค่านิยมของภราดรภาพมุสลิม แม้จะไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าองค์กรอิสลามิสต์กลุ่มนี้มีผู้สนับสนุนจำนวนมากในแดนเสือเหลืองก็ตาม
สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์แห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเสด็จฯ สวรรคตเมื่อเดือน ม.ค. ปี 2015
แม้กลุ่ม บาริซาน เนชันแนล (บีเอ็น) ซึ่งมีพรรคอัมโนของนาจิบ เป็นแกนนำจะชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2013 แต่ก็ทำคะแนนได้ตกต่ำที่สุดในรอบกว่า 50 ปีที่ครองอำนาจ ซ้ำยังแพ้ป๊อปปูลาร์โหวตให้แก่ ปากาตัน รักยัต อีกด้วย แต่สาเหตุที่ ปากาตัน รักยัต ไม่สามารถครองที่นั่งส่วนใหญ่ในสภาได้ก็เนื่องจากกลวิธีแบ่งเขตเลือกตั้งที่เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มบีเอ็น (gerrymandering)

รายงานระบุว่า รัฐบาลซาอุฯ ได้โอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวของ นาจิบ เป็นงวดๆ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มี.ค. จนถึงต้นเดือน เม.ย. ปี 2013 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 5 พ.ค.

แหล่งข่าวใกล้ชิดซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อบอกกับบีบีซีว่า เงินทุนก้อนนี้ถูกเบิกจ่ายโดยได้รับพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ (สวรรคตเมื่อต้นปี 2015) โดยดึงมาจากเงินพระคลังข้างที่ และเงินทุนของรัฐบาลซาอุฯ

เจ้าชาย ตุรกี บิน อับดุลเลาะห์ พระราชโอรสองค์หนึ่งของสมเด็จพระราชาธิบดี ทรงมีเครือข่ายธุรกิจอย่างกว้างขวางในมาเลเซีย

แหล่งข่าวคนเดิมบอกว่า วัตถุประสงค์ของเงินบริจาคก็เพื่อรับประกันว่านาจิบและกลุ่มบีเอ็นจะชนะเลือกตั้ง โดยนำเงินไปว่าจ้างทีมสื่อสารทางยุทธศาสตร์ที่มีประสบการณ์ระดับนานาชาติ เน้นเข้าถึงฐานเสียงในรัฐซาราวัก และอุดหนุนโครงการสวัสดิการสังคมต่างๆ ผ่านการรณรงค์หาเสียงของรัฐบาล

สำหรับคำถามที่ว่า เหตุใดรัฐบาลซาอุฯ ถึงต้องใส่ใจผลการเลือกตั้งในประเทศที่ไม่ใช่อาหรับ และอยู่ห่างไกลออกไปกว่า 6,000 กิโลเมตร? แหล่งข่าวอธิบายว่า สาเหตุสำคัญก็เนื่องมาจากความหวั่นเกรงอิทธิพลของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ซึ่งทางการซาอุฯ ถือว่าเป็น “องค์กรก่อการร้าย”

ผู้นำซาอุฯ เคยผิดหวังกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอียิปต์มาแล้ว เมื่อ โมฮาเหม็ด มอร์ซี ซึ่งเป็นอดีตแกนนำภราดรภาพมุสลิม สามารถก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีได้สำเร็จเมื่อปี 2012

มอร์ซี ถูกกองทัพอียิปต์ก่อรัฐประหารในเดือน ก.ค. ปี 2013 แต่ก่อนหน้านั้นประมาณ 3 เดือน หรือก็คือช่วงก่อนที่การเลือกตั้งในมาเลเซียจะเปิดฉากขึ้น รัฐบาลซาอุฯ มั่นใจว่าพรรคฝ่ายค้านมาเลเซียได้รับการสนับสนุนจากภราดรภาพมุสลิม และ “กาตาร์” ซึ่งหนุนหลังทั้งภราดรภาพมุสลิมและกลุ่มอิสลามิสต์อื่นๆ ในตะวันออกกลาง
ป้ายหาเสียงของรัฐบาลมาเลเซียซึ่งติดอยู่ข้างอาคารสำนักงานใหญ่พรรคอัมโนในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อปี 2013
เมื่อบีบีซีตั้งคำถามว่า ราชวงศ์ซาอุฯ ยอมควักเงินบริจาคส่วนตัวจำนวนมหาศาลเช่นนี้ไม่ดูแปลกไปหน่อยหรือ? แหล่งข่าววงในผู้นี้ก็ตอบว่า “ไม่เลย” พร้อมเสริมว่า จอร์แดน โมร็อกโก อียิปต์ และซูดาน ล้วนเคยได้รับเงินบริจาคเป็นหลักร้อยล้านดอลลาร์จากราชสำนักซาอุฯ มาแล้วทั้งสิ้น

“การให้เงินบริจาคแก่มาเลเซียไม่ใช่เรื่องแปลก... นี่คือสิ่งที่รัฐบาลซาอุฯ ทำกับหลายๆ ประเทศอยู่แล้ว”

ทันทีที่ มอร์ซี ถูกโค่น ทางการซาอุฯ ก็หยิบยื่นความช่วยเหลือแก่รัฐบาลทหารของ พล.อ. อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี เป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ทั้งในรูปของเงินให้เปล่าและเงินกู้

รัฐบาลจอร์แดนเคยได้รับเงินทุนเพื่อการพัฒนาจากซาอุฯ กว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ และริยาดยังเคยฝากเงินสดอีกกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์เข้าธนาคารกลางของซูดาน ทั้งยังลงนามข้อตกลงสนับสนุนเงินทุนก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำไนล์ ส่วนโมร็อกโกก็ได้ทั้งน้ำมัน เงินอุดหนุน เม็ดเงินลงทุน และการจ้างงานจากซาอุฯ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังรู้สึกกังขากับการทำธุรกรรมที่เป็นไปอย่างลึกลับซับซ้อน และข้อเท็จจริงที่ว่านายกฯ มาเลเซียได้ “คืนเงิน” กลับไปให้ซาอุฯ เพียงร้อยละ 91 ของทั้งหมดในอีก 4 เดือนให้หลัง ก็ก่อให้เกิดคำถามว่า เงิน 61 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่หายไปนั้น ถูกเอาไปใช้ทำอะไร

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบองค์กรในอังกฤษคนหนึ่งซึ่งเคยผ่านประสบการณ์ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง บอกกับบีบีซีว่า เงินทุน 681 ล้านดอลลาร์ถูกโอนผ่านสาขาในสิงคโปร์ของธนาคารสัญชาติสวิส ซึ่งเจ้าผู้ครองนครอาบูดาบีเป็นเจ้าของ

“เรื่องนี้มีลับลมคมในอย่างมาก... และคงจะไม่มีวันกระจ่างได้ จนกว่ารัฐบาลซาอุฯ และมาเลเซียจะยอมเปิดเผยข้อมูลการทำธุรกรรมทั้งหมด”

กำลังโหลดความคิดเห็น