เอเอฟพี - รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวตัดพ้อพันธมิตรหลายประเทศที่เคยประกาศจะร่วมมือกับวอชิงตันกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในอิรัก และซีเรีย แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังคงเกียร์ว่าง “ไม่ทำอะไรสักอย่าง”
บทสัมภาษณ์ แอชตัน คาร์เตอร์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (22 ม.ค.) ถือเป็นครั้งแรกที่เพนตากอนออกมาวิจารณ์ความเหลาะแหละของกลุ่มพันธมิตร 65 ชาติที่มีสโลแกนว่า “หนึ่งภารกิจ นานาประเทศ” และมักจะถูกสหรัฐฯ หยิบยกขึ้นมาอ้างเพื่อชี้ให้เห็นว่าการทำสงครามกวาดล้างไอเอสนั้นเป็นเจตนารมณ์สากล
“หลายประเทศยังมีส่วนร่วมไม่เพียงพอ หรือไม่ได้ทำอะไรเลย” คาร์เตอร์ ให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์ CNBC ระหว่างการประชุม เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
“สหรัฐฯ สามารถทำอะไรได้มากมายก็จริง... แต่เราก็ต้องการให้ชาติอื่นๆ มีส่วนร่วมรับผิดชอบเหมือนกัน” เขากล่าว โดยไม่เอ่ยพาดพิงถึงประเทศใดอย่างเฉพาะเจาะจง
ระหว่างให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์ก คาร์เตอร์ ได้เรียกกลุ่มพันธมิตรต่อสู้ไอเอสว่า “พันธมิตรอย่างว่า” (so-called coalition) ซึ่งยิ่งชี้ให้เห็นว่าผู้นำเพนตากอนกำลังไม่พอใจบทบาทของหุ้นส่วนบางประเทศ โดยเฉพาะชาติอาหรับสุหนี่
“เราจำเป็นต้องขอให้ประเทศอื่นๆ แสดงบทบาทบ้าง ไม่ใช่ทำตัวเป็นผู้โดยสารฟรีอย่างเดียว” เขากล่าว
สัปดาห์ที่แล้ว บอสใหญ่เพนตากอนได้เดินทางไปทวีปยุโรป โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ที่กรุงปารีสเพื่อโน้มน้าวมิตรประเทศให้เพิ่มการสนับสนุนภารกิจกวาดล้างไอเอส
คาร์เตอร์ยังมีกำหนดพบปะผู้แทนจาก 26 ประเทศพันธมิตรในเดือน ก.พ. คาดว่าคงจะมีการยื่นข้อเรียกร้องอย่างเดียวกัน
รัฐบาลตุรกีอนุญาตให้สหรัฐฯ ใช้ฐานทัพอากาศอินซีร์ลิก (Incirlik) ทางตอนใต้ส่งเครื่องบินขับไล่ออกไปถล่มเป้าหมายไอเอสในอิรักและซีเรีย แต่ถึงกระนั้นคาร์เตอร์ก็เตือนว่า อังการา “ต้องทำมากกว่านี้” เพื่อปกป้องพรมแดนที่ติดกับซีเรียเป็นระยะทางยาวเหยียด
“ตุรกีเป็นพันธมิตรกับเรามาอย่างยาวนาน... แต่ความเป็นจริงก็คือ ตุรกีมีพรมแดนที่จะเป็นช่องทางไหลเข้า-ออกของนักรบต่างชาติ” เขากล่าว
“เพราะฉะนั้นพวกเขาก็เป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่ผมคิดว่า ควรจะอุทิศทรัพยากรอย่างเต็มที่และเป็นรูปธรรมมากกว่านี้”
รัฐอ่าวอาหรับหลายๆ ประเทศ เช่น ซาอุดีอาระเบีย ก็ประกาศเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรสหรัฐฯ เช่นกัน แต่ในทางปฏิบัติกลับไปให้ความสำคัญกับการปราบปรามกบฏฮูตีในเยเมนที่มีอิหร่านหนุนหลังอยู่มากกว่า
ตั้งแต่ฤดูร้อนปี 2014 เป็นต้นมา สหรัฐฯ ส่งเครื่องบินขับไล่ออกไปทิ้งระเบิดใส่ฐานที่มั่นไอเอสในอิรักและซีเรียแล้วเกือบ 9,800 เที่ยว
แม้จะเรียกร้องขอการสนับสนุนเพิ่มเติม แต่ คาร์เตอร์ ก็ย้ำว่า นักรบญิฮาดกำลังเป็นฝ่าย “เพลี่ยงพล้ำ” โดยเฉพาะเมื่อกองทัพอิรักสามารถยึดเมืองยุทธศาสตร์ “รามาดี” กลับคืนมาได้ รวมถึงการโจมตีเพื่อตัดเส้นทางการเงินและการค้าน้ำมันของไอเอส
หลังเกิดเหตุวินาศกรรมในกรุงปารีสเมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 130 ราย รัฐบาลฝรั่งเศสและอังกฤษก็ได้ประกาศจับมือกับสหรัฐฯ โจมตีไอเอสในซีเรีย ขณะที่ชาติอื่นๆ ซึ่งร่วมโจมตีทางอากาศในอิรักและซีเรียด้วย ได้แก่ ออสเตรเลีย เบลเยียม แคนาดา เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
นอกจากนี้ยังมีอีกสิบกว่าประเทศ เช่น ไอซ์แลนด์ อิตาลี และปานามา ที่รับปากว่าจะช่วยฝึกยุทธวิธีให้แก่กองกำลังความมั่นคงท้องถิ่น หรือให้การสนับสนุนในด้านอื่นๆ