xs
xsm
sm
md
lg

รายงานชี้โลกเหลื่อมล้ำสุดกู่ มหาเศรษฐี 62 รายแรกรวยเท่าคนครึ่งโลกรวมกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ – “ออกซ์แฟม” ออกรายงานที่ระบุว่า มหาเศรษฐีที่รวยสุดของโลก 62 คนแรก มีทรัพย์สินรวมแล้วเท่ากับของประชากรครึ่งหนึ่งของโลกรวมกัน พร้อมเรียกร้องมาตรการเร่งด่วนเพื่อจัดการกับแนวโน้มที่ประชากรเพียง 1% ของโลกมีทรัพย์สินมากกว่าของประชากรโลกอีก 99% รวมกัน

ในรายงานที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันจันทร์ (18) หรือหนึ่งวันก่อนการเปิดประชุมเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ) ที่ดาวอส เมืองตากอากาศของสวิตเซอร์แลนด์นั้น มูลนิธิการกุศลออกซ์แฟม ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำที่พุ่งเตลิดทำให้มหาเศรษฐี 62 อันดับแรกของโลก ครอบครองความมั่งคั่งเท่ากับทรัพย์สินประชากรครึ่งหนึ่งของโลกรวมกัน (ในฝั่งที่เป็นคนจน) นับว่าเป็นตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เมื่อเทียบกับเมื่อ 5 ปีก่อน ที่ต้องใช้คนรวยที่สุดถึง 388 คน จึงจะมีทรัพย์สินเท่ากับของประชากรอีกครึ่งหนึ่งของโลก

รายงานที่ชื่อว่า “แอน อิโคโนมี ฟอร์ เดอะ 1%” ยังระบุว่า ผู้หญิงได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำของโลกนี้อย่างไม่สมส่วน โดยแรงงานรายได้ต่ำส่วนใหญ่ทั่วโลกคือแรงงานหญิง

นอกจากนั้น ในกลุ่มคนรวยที่สุดในโลก 62 คน ที่มีทรัพย์สินมากกว่าประชากรครึ่งโลกที่ยังยากจนอยู่นั้น ออกซ์แฟมแจงว่า เป็นชายถึง 53 คน เป็นหญิงเพียง 9 คน ตอกย้ำว่าผู้หญิงมีสัดส่วนไม่เหมาะสมแม้แต่ในระดับสูงสุด

ทั้งนี้ ออกซ์แฟมคำนวณความมั่งคั่งของมหาเศรษฐี 62 คน จากรายชื่อเศรษฐีพันล้านของนิตยสารฟอร์บส์

ออกซ์แฟม สำทับว่า แม้ผู้นำโลกพูดกันมากขึ้นเรื่องความจำเป็นในการจัดการกับความเหลื่อมล้ำ แต่ช่องว่างระหว่างคนรวยที่สุดและประชากรโลกที่เหลือกลับกว้างขวางขึ้นอย่างมากในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ทั้งยังเสริมว่า การคาดการณ์ของออกซ์แฟมก่อนการประชุมที่ดาวอส ประจำปี 2015 ว่า คนรวยที่สุด 1% ของประชากรโลกจะมีทรัพย์สินมากกว่าประชากรโลกที่เหลือทั้งหมดนั้น กลายเป็นความจริงแล้วในปีที่ผ่านมา ซึ่งเร็วกว่ากำหนดที่คาดการณ์ไว้ 1 ปี

แม้จำนวนผู้ที่ยากจนที่สุดลดลงครึ่งหนึ่งระหว่างปี 1990 - 2010 แต่รายได้เฉลี่ยประจำปีของประชากรโลก 10% ที่เป็นคนจนที่สุดเพิ่มขึ้นไม่ถึงปีละ 3 ดอลลาร์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของศตวรรษ หรือเท่ากับว่ารายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นไม่ถึงปีละ 1 เซนต์

นอกจากนั้น ขณะที่ทรัพย์สินของคนจนที่สุดลดลงถึง 41% ระหว่างปี 2010 - 2015 แต่ทรัพย์สินของคนรวยที่สุด 62 คนกลับเพิ่มขึ้น 500,000 ล้านดอลลาร์ เป็น 1.76 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกัน

อนึ่ง ในงานประชุม เวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรัม ที่ดาวอส ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันเสาร์ (23) จะมีประมุขและรัฐบาลกว่า 40 ประเทศ ตลอดจนถึงผู้นำธุรกิจและสังคมราว 2,500 คนเข้าร่วม

วินนี ไบอันนิมา ผู้อำนวยการบริหารระหว่างประเทศของออกซ์แฟม ที่จะร่วมประชุมดาวอสด้วยนั้น เตือนว่า ความกังวลของผู้นำโลกเกี่ยวกับวิกฤตความเหลื่อมล้ำที่ลุกลาม ไม่ได้กลายเป็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมใด ๆ ส่งผลให้โลกมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ

งานประชุมดาวอสมีขึ้นท่ามกลางความกังวลว่า ความปั่นป่วนในตลาดเงินที่ประเดิมกันตั้งแต่ต้นปีอาจเป็นบทโหมโรงวิกฤตโลกรอบใหม่ และครั้งนี้จุดเริ่มต้นจะมาจากประเทศตลาดเกิดใหม่

ออกซ์แฟมแนะนำแนวทาง 3 ขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ การปราบปรามการเลี่ยงภาษี การลงทุนเพิ่มในบริการสาธารณะ กับการขึ้นค่าแรงสำหรับผู้มีรายได้ต่ำ โดยเป้าหมายสำคัญอันดับแรก คือ การปิดฉากยุคของแหล่งหลบภาษีที่ศูนย์การเงินออฟชอร์ใช้มากขึ้นเพื่อเลี่ยงภาษี รวมถึงปล้นทรัพยากรอันมีค่าของภาครัฐที่จำเป็นในการต่อสู้กับความยากจนและความเหลื่อมล้ำ

รายงานระบุว่า เศรษฐีทั่วโลกเปิดบัญชีต่างแดนรวมมูลค่า 7.6 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้รัฐขาดรายได้จากการจัดเก็บภาษีถึงปีละ 190,000 ล้านดอลลาร์ เช่นเดียวกัน มีการประเมินว่า 30% ของสินทรัพย์ทางการเงินทั้งหมดของชาวแอฟริกันฝากอยู่นอกประเทศ ทำให้ทางการขาดรายได้จากภาษีถึงปีละ 14,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากพอช่วยชีวิตเด็ก 4 ล้านคน และว่าจ้างครูเพื่อให้เด็กแอฟริกันทุกคนได้เล่าเรียน

การเก็บภาษีได้ในระดับที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ หากผู้นำโลกต้องการบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว ในการขจัดความยากจนรุนแรงให้ได้ภายในปี 2030

ไบอันนิมา ท้าทายผู้เข้าร่วมประชุมดาวอสให้ร่วมมือเพื่อยุติยุคของแหล่งหลบภาษี ซึ่งกระตุ้นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และขัดขวางไม่ให้คนนับล้านดึงตัวเองหลุดพ้นจากความยากจน


กำลังโหลดความคิดเห็น