หนึ่งในข่าวเด่นและประเด็นร้อนฉ่าในต่างประเทศ ที่สร้างความตกตะลึงให้กับผู้คนทั่วโลกได้มากที่สุดในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า จะต้องมีข่าวเหตุระเบิดใจกลาง “สุลต่านอาห์เม็ต” ย่านท่องเที่ยวชื่อก้องทางประวัติศาสตร์ของนครอิสตันบูล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 11 ราย และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมากเมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ท่ามกลางรายงานข่าวในเวลาต่อมาซึ่งเริ่มมีความชัดเจนแล้วว่า กลุ่มนักรบญิฮัดรัฐอิสลาม (ไอเอส) คือ ผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีในเมืองที่ถือเป็น “กล่องดวงใจ” ของตุรกีในคราวนี้
รายงานข่าวที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกเมื่อ 12 มกราคมที่ผ่านมา เผยให้เห็นภาพของร่างไร้วิญญาณหลายร่าง นอนกระจัดกระจายเกลื่อนกลาดอยู่บนพื้นภายในจัตุรัสสุลต่านอาห์เม็ต ไม่ไกลจากมัสยิดสีฟ้า (Blue Mosque) และฮาเกีย โซเฟีย เขตท่องเที่ยวสำคัญของนครอิสตันบูล ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดของตุรกีแห่งนี้ ท่ามกลางบทสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่และบรรดาผู้เห็นเหตุการณ์ในจุดเกิดเหตุที่ระบุตรงกันว่า พวกเขาเห็นภาพอันน่าสยดสยองของศพหลายศพและเศษชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์กระจายไปทั่วพื้นที่ จากผลพวงของแรงระเบิดที่นำไปสู่การเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวจำนวนอย่างน้อย 11 ราย
จนถึงขณะนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เหตุสลดที่เกิดขึ้นล่าสุดที่นครอิสตันบูลที่ถือเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของตุรกีเมื่อ 12 มกราคมนั้น เป็นฝีมือของ “มือระเบิดฆ่าตัวตาย”
โดยรายงานซึ่งอ้างผลการสืบสวนเบื้องต้นของรัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงของตุรกียืนยันชัดเจนว่า คนร้ายที่ก่อเหตุโจมตีในนครอิสตันบูลคราวนี้ คือ นาบิล ฟาดลี ซึ่งเป็นพลเมืองสัญชาติซีเรีย แต่ถือกำเนิดในซาอุดีอาระเบีย และยังเป็นสมาชิกระดับปฏิบัติการของกลุ่มนักรบญิฮัดรัฐอิสลาม (Islamic State : IS) ที่มีฐานอยู่ในซีเรีย
หลังเกิดเหตุไม่กี่ชั่วโมง นายกรัฐมนตรีอาห์เม็ต ดาวูโตกลู ของตุรกี ออกโรงยืนยันว่า มือระเบิดฆ่าตัวตายที่มีชื่อว่านาบิล ฟาดลี วัย 28 ปีผู้นี้ ไม่เคยมีรายชื่ออยู่ในบัญชีผู้ก่อการร้ายที่ทางการตุรกีจัดทำขึ้นมาก่อน และเพิ่งข้ามชายแดนจากซีเรียเข้ามายังตุรกีเมื่อไม่นานมานี้ โดยแฝงตัวเข้ามาในฐานะหนึ่งในผู้อพยพชาวซีเรียจำนวน 2.2 ล้านคนที่อพยพหลบหนีภัยสงครามกลางเมืองในประเทศบ้านเกิดที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 5 ปี นับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2011
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของนครอิสตันบูลอย่างจัตุรัสสุลต่านอาห์เม็ตถูกโจมตีจากน้ำมือของสมาชิกกลุ่มก่อการร้าย เพราะหากนับย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 6 มกราคมปี 2015 หรือเมื่อ 1 ขวบปีก่อนหน้านี้ พื้นที่แห่งนี้เพิ่งเผชิญกับการโจมตีของมือระเบิดฆ่าตัวตายที่เป็นผู้หญิงที่มีชื่อว่า ดิอานา รามาซาโนวา ซึ่งถือสัญชาติรัสเซียและมีเชื้อสายเชชเนีย อีกทั้งยังมีประวัติเกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอสในซีเรีย
นอกเหนือจากนครอิสตันบูลแล้ว ในปี 2015 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ตุรกีต้องเผชิญกับเหตุระเบิดโจมตีครั้งเลวร้ายถึง 2 ครั้ง นั่นคือ เหตุโจมตีโดยมือระเบิดฆ่าตัวตายที่เป็นสมาชิกกลุ่มรัฐอิสลามที่หัวเมืองชายแดนอย่าง “ซูรูค” ในเดือนกรกฎาคมที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 33 ราย
ขณะที่ในเดือนสิงหาคม ได้เกิดการโจมตีของมือระเบิดฆ่าตัวตาย 2 รายที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส บริเวณสถานีรถไฟหลักของกรุงอังการา เมืองหลวงของตุรกี ระหว่างที่มีการเดินขบวนเรียกร้องสันติภาพ เป็นเหตุให้มีผู้ที่ต้องสังเวยชีวิตจากผลพวงของแรงระเบิดไปอีกมากกว่า 100 ราย และถือเป็นการโจมตีจากผู้ก่อการร้ายที่ได้ชื่อว่า นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของตุรกี
ล่าสุดสื่อหลายสำนักในตุรกีพากันรายงานประโคมข่าวในวันพุธ (13 ม.ค.)ว่าทางการตุรกีสามารถจับกุมชาวรัสเซีย 3 รายที่ต้องสงสัยว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มรัฐอิสลาม หลังเกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในอิสตันบูลที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิต 11 รายซึ่งในจำนวนนี้มีนักท่องเที่ยวจากเยอรมนีรวมอยู่ด้วยถึง 10 ราย
จากการรายงานของสำนักข่าวอาร์ไอเอ ซึ่งอ้างการยืนยันของสถานกงสุลใหญ่ของรัสเซียในเมืองอันตัลยาของตุรกี ระบุว่า ชาวรัสเซียทั้ง 3 รายถูกเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของตุรกีควบคุมตัวไปสอบสวนเนื่องจากต้องสงสัยว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส ถึงแม้จะยังไม่อาจชี้ชัดฟันธงได้ว่าทั้งหมด มีความเกี่ยวข้องกับเหตุโจมตีล่าสุด ในนครอิสตันบูลหรือไม่ และอย่างไร
ตลอดระยะเวลากว่า 1 ขวบปีมานี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ตุรกีที่เป็นชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และเป็นหนึ่งในชาติพันธมิตรสำคัญของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้ ได้กลายเป็นเป้าหมายของกลุ่มไอเอส อย่างต่อเนื่อง และปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นเดียวกันว่า รัฐบาลอังการา ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเรเซ็ป ตายยิป เออร์โดกัน และนายกรัฐมนตรีอาห์เม็ต ดาวูโตกลูกำลังเผชิญกับ “บททดสอบกึ๋น” ครั้งสำคัญ ว่ารบ.ตุรกีจะ “สอบตก” หรือ “สอบผ่าน” ในการรับมือภัยคุกคามของลัทธิก่อการร้าย ตลอดจน การปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากการโจมตีของพวกผู้ก่อการร้ายอย่างกลุ่มสุดโต่งไอเอส ที่ไม่พอใจในบทบาทของรัฐบาลตุรกีในการเป็นลิ่วล้อให้กับสหรัฐฯและโลกตะวันตกในสงครามซีเรีย และยังเป็นฐานให้โลกตะวันตกใช้เปิดการโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มไอเอสในซีเรียอีกด้วย
แน่นอนว่า เหตุโจมตีโดยมือระเบิดฆ่าตัวตายล่าสุดที่เกิดขึ้นใจกลางนครอิสตันบูลในครั้งนี้ คงจะ “ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย” ถึงแม้รัฐบาลตุรกี และประชาชนในประเทศของตนจะภาวนาให้เหตุสลดเช่นนี้ไม่เกิดขึ้นอีก และนับจากนี้ คงต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดต่อไปถึงบทบาทของรัฐบาลตุรกีต่อการปราบปรามกวาดล้างกลุ่มไอเอส และการรับมือภัยคุกคามของลัทธิก่อการร้ายที่กลายเป็นมฤตยูมืดสำหรับชาวตุรกี นอกเหนือจากภัยคุกคามจากความพยายามแยกตัวของชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดและกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดทางภาคใต้ของประเทศ