วอยซ์ออฟอเมริกา/เดลิสตาร์ - นาซากำลังจริงจังกับความเป็นไปได้จากภัยคุกคามดาวเคราะห์น้อยและดาวหางพุ่งชนโลกมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ด้วยการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ที่เรียกว่า “สำนักงานความร่วมมือป้องกันโลก (PDCO)” เพื่อยกระดับการประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ภายในรัฐบาลสหรัฐฯ
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) เผยว่า หน่วยงานใหม่นี้จะทำหน้าที่ตรวจตราทุกความพยายามของพวกเขาในการค้นหาและระบุลักษณะพิเศษของวัตถุในอวกาศทั้งหมดที่เดินทางเฉียดใกล้โลก นอกจากนี้แล้วก็จะคอยประสานงานความเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งภายในและภายนอกนาซา ที่อาจจำเป็นสำหรับตอบสนองต่อภัยคุกคามใดๆ ของการตกกระทบ
“การตรวจหา ติดตาม และปกป้องโลกของเราเป็นบางอย่างที่นาซา พันธมิตรระหว่างหน่วยงานและประชาคมนานาชาติให้ความจริงจังอย่างมาก” จอห์น กรุนสเฟลด์ เจ้าหน้าที่สำนักอำนวยการปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของนาซา ระบุในถ้อยแถลงของนาซา
กรุนสเฟลด์บอกว่า แม้ตอนนี้ยังไม่มีความเสี่ยงของภัยคุกคามใดๆ แต่เหตุการณ์ต่างๆ อย่างกรณีอุกกาบาตขนาดยักษ์ระเบิดเหนือท้องฟ้าเมืองเชลยาบินสค์ในปี 2013 เช่นเดียวกับเหตุการณ์ดาวหางรูปร่างคล้ายหัวกะโหลกโคจรมาใกล้โลกแถวๆ วันฮัลโลวีนเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ย้อนให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่เราต้องยกการ์ดป้องกันและเฝ้าจับตาบนท้องฟ้า
เหล่านักวิทยาศาสตร์บอกว่าอุกกาบาตที่ระเบิดเหนือท้องฟ้าเชลยาบินสค์ของรัสเซีย มีความกว้าง 17 เมตร และหนัก 10,000 ตัน ขณะที่มีรายงานว่าแรงระเบิดทำให้กระจกหน้าต่างอาคารบ้านเรือนราว 7,000 แห่งในพื้นที่แตกกระจัดกระจาย และทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บถึง 1,700 คน ส่วนใหญ่เกิดจากถูกเศษกระจกบาด
เดิมทีนาซามีการค้นหาและติดตามวัตถุเฉียดใกล้โลกอยู่ก่อนแล้วภายใต้โปรแกรมศึกษาวัตถุใกล้โลก (NASA's Near-Earth Object Program) และเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามนานาชาติในการพัฒนาวิธีการต่างๆ ในการปกป้องโลกจากภัยคุกคามของการตกกระทบ
อย่างไรก็ตาม นาซาระบุว่าสำนักงานความร่วมมือป้องกันโลกจะช่วยปรับปรุงและยกระดับความพยายามประสานงานกับหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ อื่นๆ อย่างเช่น สำนักงานจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ เช่นเดียวกับหน่วยงานลักษณะเดียวกันนี้ของประเทศอื่นๆ
วัตถุใกล้โลกจะถูกพบโดยเหล่านักดาราศาสตร์ที่ใช้กล้องโทรทัศน์ทางภาคพื้นที่มีเครือข่ายทั่วโลก เช่นเดียวกับกล้องโทรทัศน์นีโอไวส์ (NEOWISE) ของนาซา และเมื่อตรวจพบวัตถุหนึ่งๆ ทางศูนย์ศึกษาวัตถุใกล้โลกของนาซา ที่ห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน จะเป็นผู้คำนวณวิถีโคจรที่ของมันและจากนั้นก็จะคอยเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของมันไปตลอด
นาซาเผยว่า ด้วยสามารถค้นพบวัตถุใกล้โลกขนาดใหญ่กว่า 1 กิโลเมตรแล้วมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เวลานี้ทางสำนักงานอวกาศแห่งนี้จึงเบนเป้าค้นหาวัตถุที่มีขนาดราวๆ 140 เมตร (พอๆ กับสนามฟุตบอล) หรือใหญ่กว่านั้น
จนถึงตอนนี้มีการค้นพบวัตถุอวกาศประเภทดาวเคราะห์น้อยและดาวหางที่ใกล้โลก (Near-Earth objects) รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 13,500 ดวง ด้วยในแต่ละปีมีการค้นพบวัตถุอวกาศใกล้โลกประมาณปีละ 1,500 ดวง