เอเอฟพี/รอยเตอร์ - น้ำมันเมื่อวันจันทร์ (11 ม.ค.) ขยับลงต่ำกว่า 32 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี ท่ามกลางสัญญาณว่าอิหร่านจะได้รับอนุญาตให้เพิ่มการส่งออกภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ปัจจัยราคาพลังงานฉุดให้วอลล์สตรีทปิดในกรอบแคบๆ ขณะที่ทองคำปรับลด 2 วันติดต่อกัน
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 1.75 ดอลลาร์ ปิดที่ 31.41 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2003 ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน ลดลง 2.00 ดอลลาร์ ปิดที่ 31.55 ดอลาร์ต่อบาร์เรล ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2004
ราคาน้ำมันดิ่งลงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน ชาติผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่ของโลก
แม้นักวิเคราะห์ยังคงชั่งน้ำหนักระหว่างเค้ารางความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ในนั้นรวมถึงเหตุพิพาทระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน ทว่าตลาดกังวลต่อภาวะอุปทานล้นความต้องการมากกว่า เนื่องจากมีแนวโน้มอุปทานใหม่จากอิหร่านกำลังเข้าสู่ตลาด ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกใกล้ยกเลิกแล้ว
เฟเดริกา โมเกรินี หัวหน้าฝ่ายกิจการต่างประเทศของสหภาพยุโรปเผยในวันจันทร์ (11ม.ค.) คาดหมายว่าข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านจะมีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้ ด้วยเตหะรานอยู่บนเส้นทางของการทำตามคำสัญญาระงับโครงการนิวเคลียร์แลกกับการยกเลิกการคว่ำบาตร ในนั้นรวมถึงมาตรการห้ามนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันจันทร์ (11 ม.ค.) ปิดในกรอบแคบๆ จากแรงฉุดหุ้นกลุ่มไบโอเทคและพลังงาน ขณะที่นักลงทุนระมัดระวังก่อนเข้าสู่ฤดูกาลเผยแพร่ผลประกอบการของบริษัทต่างๆ
ดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 52.12 จุด (0.32 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 16.398.57 จุด เอสแอนด์พีเพิ่มขึ้น 1.64 จุด (0.09 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,923.67 จุด แนสแดคลดลง 5.64 จุด (0.12 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,637.99 จุด
ภาคพลังงานของเอสแอนด์พีปรับลด 2.8 เปอร์เซ็นต์ ตามหลังราคาน้ำมันดิ่งลงแรงอีกครั้ง ขณะที่คาดหมายว่าหุ้นกลุ่มพลังงานและวัสดุจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักอยู่เบื้องหลังที่ฉุดให้ผลประกอบการของบริษัทต่างๆ ของสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยไตรมาส 4 จากการที่มีกำไรลดลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน
ส่วนราคาทองคำในวันจันทร์ (4 ม.ค.) ปิดลบ 2 วันติดของการซื้อขาย หลังความพยายามดีดตัวทะลุแนวต้าน 1,100 ดอลลาร์ล้มเหลว หลังสัปดาห์ที่แล้วขยับขึ้นถึงเกือบ 4 ดอลลาร์ โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ ลดลง 1.70 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,096.20 ดอลลาร์ต่อออนซ์