รอยเตอร์ส—สำนักงานป่าไม้แดนมังกรประกาศห้ามนำเข้างาช้างแอฟริกันที่มาจากการล่าตัดงา เป็นเวลา 1 ปี รับการเดินทางเยือนแดนผู้ดีของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง
คณะบริหารดูแลป่าไม้แห่งรัฐของจีนแถลงในเว็บไซต์ขององค์กรในวันนี้(15 ต.ค.) ห้ามการนำเข้างาช้างแอฟริกาที่ได้จากการล่าตัดงาเป็นเวลา 1 ปี และพักการรับเรื่องขออนุมัติใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง โดยมีผลบังคับใช้ในทันที
ในเดือนมี.ค. เจ้าชายวิลเลียมแห่งอังกฤษเสด็จเยือนจีน และทรงเรียกร้องให้ยุติการค้างาช้างในระหว่างที่ไปเยือนเขตสงวนพันธุ์ช้างที่สิบสองปันนา มณฑลอวิ๋นหนัน (ยูนนาน)
ในสัปดาห์หน้า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็จะเดินทางเยือนอังกฤษเป็นเวลา 5 วัน (19-23 ต.ค.) ระหว่างการเยือนฯสีจะพักที่ห้องรับรองอาคันตุกะพระราชวังแบคกิ้งแฮม ซึ่งเป็นที่ประทับของราชนิกูลแดนผู้ดี
สำหรับการประกาศห้ามนำเข้างาช้างในครั้งนี้ มิได้แจงรายละเอียดใดมากกว่านี้ ขณะที่สำนักข่าวซินหวาเผยว่ารัฐบาลกำลังทบทวนการขยายมาตรการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์งาช้างแกะสลักเป็นเวลา 1 ปี ที่ได้ประกาศในเดือนก.พ. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ในระหว่างเยือนสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังลั่นวาจาจะห้ามการนำเข้าและส่งออกงาช้างเกือบทั้งหมด
ทั้งนี้จีนตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งชี้ว่า เป็นเพราะกระแสนิยมเครื่องประดับงาช้างในประเทศจีน ทำให้ความต้องการงาช้างนำเข้าพุ่งสูง และโหมกระพือการล่าสังหารช้างเพื่อตัดเอางาในกาฬทวีป
ในประเทศจีน การค้าและการขายงาช้างแกะสลักเป็นสิ่งถูกกฎหมาย หากสินค้านั้นนำเข้าในช่วงก่อนหน้าที่จีนเข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora /CITES) เมื่อปี 2524 หรือเป็นสินค้าที่มาจากสต็อกงาช้างดิบ 62 ตัน ที่ซื้อจากกลุ่มชาติแอฟริกา ในปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงยกเว้นครั้งเดียว
ในแต่ละปีรัฐบาลได้จ่ายงาช้างจำนวนหนึ่งจากสต็อกให้แก่โรงงานแกะสลักงาช้าง
พญามังกรยังโชว์ทำลายงาช้างที่ยึดมาได้จากการค้าเถื่อน จำนวน 6.2 เมตริกตัน (6.83 ตัน) เมื่อต้นปีที่แล้ว โดยเป็นครั้งแรกที่จีนทำลายงาช้างต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตาม จีนยังเป็นตลาดงาช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากข้อมูลกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund)
ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลแทนซาเนียระบุการลักลอบล่าช้างเป็นหายนะของชาติ พร้อมกับเรียกร้องให้จีนสกัดความนิยมงาช้าง