xs
xsm
sm
md
lg

“แมร์เคิล” ประกาศลดจำนวนรับผู้อพยพซีเรียเข้าประเทศ หลังกระแสต้านผู้อพยพลามเข้าโรงเรียน “ต่ำสุด 9 ขวบถึงกับเข้าเฝือก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - “อังเกลา แมร์เคิล” นายกรัฐมนตรีเยอรมนีประกาศล่าสุดต้องการลดจำนวนผู้ลี้ภัยซีเรียเข้าประเทศ แต่ปฏิเสธที่จะประกาศ “ตัวเลขจำกัดจำนวนผู้อพยพ” หลังตกเป็นเป้าโจมตีนโยบายเปิดประเทศรับผู้อพยพที่คาดว่าจะร่วม 1 ล้านคนเข้าประเทศในปีนี้ หลังจากความตึงเครียดต่อต้านการไหลเข้าเยอรมนีลามเข้าสู่รั้วโรงเรียน พบเหยื่อผู้อพยพเด็กอายุต่ำสุด 9 ปีถูกแก๊งเด็กนักเรียนเยอรมันเพื่อนร่วมโรงเรียนรุมทำร้ายจนถึงขั้นต้องเข้าเฝือก

ยูโรนิวส์ รายงานวันนี้ (14 ธ.ค.) ว่า นโยบายการรับผู้อพยพเข้ามาลี้ภัยในเยอรมนี และทำให้คาดว่าภายในปีนี้จะมีจำนวนผู้อพยพเดินทางเข้าสูงถึง 1 ล้านคนซึ่งมากที่สุดในประวัติการณ์

อย่างไรก็ตา มนโยบายเปิดประตูกว้างรับผู้อพยพนี้ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก รวมไปถึงภายในพรรคคริสเตียนเดโมแครตยูเนียน CDU และยังได้รับการต่อต้านจนถึงขั้นเดินขบวนจากกลุ่มขวาจัด จนทำให้แมร์เคิลต้องออกมาประกาศว่าจะหาทางแก้ปัญหาผ่านความร่วมมือจากอียู ซึ่งการประกาศในครั้งนี้เกิดขึ้นล่วงหน้า 2 วันก่อนการประชุมพรรคคริสเตียนเดโมแครตในเมือง Karlsruhe ทางใต้ของเยอรมัน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในวันนี้ (14)

“การลดจำนวนผู้ลี้ภัยเข้าเยอรมันควรผ่านความร่วมมือกับยุโรป และร่วมไปถึงจัดการปัญหาที่เป็นตัวการทำให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ต้องหลบหนีออกจากบ้านเกิด และไม่ใช่เป็นการดำเนินการจากมาตรการของเยอรมันฝ่ายเดียว ซึ่งแน่นอนที่สุดเราต้องมีมาตรการออกมา แต่มาตรการที่ว่านี้ต้องสอดคล้องกับมาตรการของยุโรป” แมร์เคิลกล่าว

ทั้งนี้ ในยุทธศาสตร์การจัดการแก้ปัญหาการไหลเข้าผู้อพยพซีเรียของแมร์เคิล รวมไปถึงความร่วมมือกับตุรกี ประเทศหน้าด่านก่อนข้ามเข้าสู่สหภาพยุโรป ในการต่อต้านกลุ่มลักลอบค้ามนุษย์ ปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่โดยรวมในแคมป์ผู้อพยพที่ตั้งในพรมแดนตุรกี จอร์แดน และเลบานอน รวมไปถึงการมีนโยบายทำให้มีความเข้มงวดในการควบคุมพรมแดนด้านนอกของสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ตาม ผู้นำเยอรมนีประกาศยืนยันเสียงแข็งว่า “ตัวเลขจำกัดจำนวน” ไม่ได้อยู่ในนโยบายของพรรครัฐบาลคริสเตียนเดโมแครตยูเนียน

ยูโรนิวส์รายงานต่อว่า นโยบายรับผู้ลี้ภัยอย่างเปิดกว้างของแมร์เคิลยังรวมไปถึงการรับผู้อพยพเข้าประเทศโดยไม่เลือกว่า ผู้อพยพคนนั้นจะลงทะเบียนเข้าสู่สหภาพยุโรปโดยลงทะเบียนที่ประเทศไหน และทำให้เป็นที่กังวลเป็นอย่างมากในหมู่ประชาชนชาวเยอรมัน

นอกจากนี้ นักวิจารณ์สายอนุรักษ์ของเยอรมนีที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายนี้ เรียกร้องให้แมร์เคิลลดจำนวนผู้ลี้ภัยที่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศลง โดยต้องการให้ลดลงก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นประจำรัฐ 3 รัฐที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ ทั้งนี้ การชาวซีเรียอพยพเข้าสู่เยอรมนีทำให้มีการต่อต้านจากกลุ่มขวาจัดในเยอรนีเริ่มขยายเป็นวงกว้าง ซึ่งนอกจากการประท้วง ลอบเผาศูนย์ผู้อพยพแล้ว การต่อต้านยังลามเข้าไปภายในรั้วโรงเรียนเยอรมนีแล้ว โดยจากการรายงานของดิอินดีเพนเดนต์ สื่ออังกฤษในวันศุกร์ (11) พบว่า ล่าสุดตำรวจเยอรมันกำลังสอบสวนเหตุเหยื่อเด็กผู้อพยพถูกเพื่อนร่วมโรงเรียนชาวเยอรมันรุมทำร้าย และร้ายแรงจนถึงขั้นกระดูกหัก

โดยสื่ออังกฤษอ้างอิงจากการรายงานของสื่อเยอรมนี “เดอะ โลคัล” ว่า การรุมทำร้ายเด็กผู้อพยพในรั้วโรงเรียนพบในโรงเรียนแห่งหนึ่งใกล้กับเมืองไลป์ซิก (Leipzig) ในเดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่กลุ่มผู้อพยพเด็กถูกส่งมาที่โรงเรียนแห่งนี้เพื่อเรียนภาษาเยอรมันเป็นภาษาที่ 3 โดยเด็กเหล่านี้ได้เข้าเรียนร่วมกับเพื่อนนักเรียนชาวเยอรมันในพื้นที่

สื่อเดอะโลคัลรายงานต่อโดยอ้างจากการแถลงของตำรวจไลป์ซิกว่า มีการพบเด็กนักเรียนเยอรมันอายุราว 13-14 คนได้รุมทำร้ายนักเรียนผู้อพยพเหล่านี้ ที่มีการกระทำตั้งแต่ถ่มน้ำลายใส่ ขว้างหิน ปิดประตูกระแทกหน้า ไปจนถึงขั้นการรุมทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งทางตำรวจไลป์ซิกระบุว่า พบว่าเหยื่อผู้อพยพที่ถูกทำร้ายมีอายุต่ำสุดอยู่ที่ 9 ขวบซึ่งเป็นเด็กหญิง และได้รับบาดเจ็บจนถึงขั้นต้องถูกส่งโรงพยาบาลเพราะกระดูกแตกและได้รับการพยาบาลทำการดามเฝือก และอีกรายเป็นเด็กอายุ 14 ปีถูกรุมทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บจนถึงขั้นส่งโรงพยาบาลเช่นกัน

หลังจากมีการรุมทำร้ายเกิดขึ้นทำให้โรงเรียนแห่งนี้กำลังหาทางมีมาตรการปกป้องเด็กผู้อพยพเพื่อให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และยังอยู่ในระหว่างการวินิจฉัยว่าควรจะลงโทษนักเรียนเยอรมันเหล่านี้ที่ลงมือรุมทำร้ายอย่างไร

ทั้งนี้ สื่อเยอรมนีระบุว่า คดีรุมทำร้ายร่างกายขั้นร้ายแรงเหล่านี้เป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของการเมืองกลุ่มขวาจัดในนโยบายต่อต้านผู้อพยพเข้าเยอรมนี ซึ่งก่อนหน้านั้นในวันพฤหัสบดี (10) กลุ่มชาวเยอรมันจำนวนราว 30 คนเข้าโจมตีรถบัสขนผู้อพยพใกล้เมืองไลป์ซิก


กำลังโหลดความคิดเห็น