xs
xsm
sm
md
lg

เผยโฉมสุนัข “หลอดแก้ว” ครอกแรก ปูทางป้องกันโรคจากพันธุกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพถ่ายที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์เผยให้เห็นลูกสุนัขครอกแรกที่เกิดจากเทคนิคการผสมเทียมในหลอดแก้ว โดยลูกสุนัขทั้ง 7 ตัว เกิดเมื่อวันที่ 10 ก.ค. ประกอบด้วย ลูกสุนัขพันธุ์บีเกิล 5 ตัว และพันธุ์ผสมบีเกิล-ค็อกเกอร์สเปเนียล 2 ตัว. -- Reuters/Cornell University/Mike Carroll.</font></b>

เอเจนซีส์ – นักวิจัยอเมริกันเปิดตัวลูกสุนัขครอกแรกที่เกิดจากเทคนิคการผสมเทียมในหลอดแก้ว เชื่อความสำเร็จนี้จะช่วยปูทางในการสงวนพันธุ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ รวมถึงการทำความเข้าใจเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องทางพันธุกรรมอันนำไปสู่การเกิดโรคทั้งในสุนัขและคน

ลูกสุนัขสุขภาพดีทั้ง 7 ตัวลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 10 กรกฏาคมที่ผ่านมา ประกอบด้วยพันธุ์บีเกิล 5 ตัว และพันธุ์ผสมบีเกิล-ค็อกเกอร์อีก 2 ตัว โดยมีการตีพิมพ์ผลการวิจัยในวารสารวิทยาศาสตร์ พลอส วัน ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันพุธ (9)

กระบวนการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (in vitro fertilization) โดยการนำตัวอ่อนที่ได้จากไข่ที่ผสมกับสเปิร์มนอกร่างกาย ไปฝังในมดลูกของเพศหญิงนั้น ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เพื่อช่วยแก้ปัญหาการมีบุตรยาก

แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา นักวิจัยไม่สามารถผลิตลูกสุนัขด้วยเทคนิคนี้สำเร็จ ส่วนหนึ่งนั้นเนื่องจากสุนัขมีวงจรการเจริญพันธุ์ต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ

ดร.อเล็กซ์ เทรวิส หัวหน้าห้องปฏิบัติการเบเกอร์ อินสติติวท์ ฟอร์ แอนิมอล เฮลธ์ จากมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดทำรายงานฉบับนี้ เผยว่า นับจากกลางทศวรรษ 1970 มีคนมากมายพยายามผสมเทียมสุนัขในหลอดแก้ว แต่ไม่สำเร็จ

นักวิจัยจากคอร์แนลล์ในนิวยอร์ก และสถาบันสมิธโซเนียนในวอชิงตัน ทำการทดลองโดยอิงกับความสำเร็จในปี 2012 ที่ทีมห้องปฏิบัติการของเทรวิสสามารถสร้างคลอนไดค์ ลูกสุนัขตัวแรกในซีกโลกตะวันตกที่เกิดจากตัวอ่อนแช่แข็ง

เทรวิสเสริมว่า ในอนาคตอาจนำเทคนิคนี้ไปใช้ในการผสมพันธุ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น หมาป่าแอฟริกัน

เขายังบอกว่า พัฒนาการนี้เปิดประตูสู่การตรวจสอบลักษณะทางพันธุกรรมที่นำไปสู่การเกิดโรคและการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวตั้งแต่ต้น ซึ่งจะเท่ากับการป้องกันการเกิดโรค แทนที่จะหาทางรักษาโรคนั้น

เจนนิเฟอร์ นากาชิมะ ผู้ได้รับทุนวิจัยระดับหลังปริญญาเอกจากสถาบันสมิธโซเนียน คอนเซอร์เวชัน ไบโอโลจี้ และผู้เขียนหลักของรายงานการวิจัยฉบับนี้ เสริมว่า งานวิจัยนี้อาจช่วยไขคำตอบเกี่ยวกับความผิดปกติด้านพันธุกรรมที่ส่งผลต่อทั้งสุนัขและคน

ทั้งนี้ สุนัขมีลักษณะและความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่เหมือนกับมนุษย์กว่า 350 รายการ หรือเกือบสองเท่าของสายพันธุ์อื่นๆ

รายงานการวิจัยระบุว่า ความสำเร็จนี้ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญในวิชาสัตวแพทย์ศาสตร์

ศาสตราจารย์เดวิด อาร์ไกล์ หัวหน้าภาควิชาสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก ที่ไม่ได้ร่วมในการศึกษาด้วย ขานรับว่า เทคนิคใหม่นี้จะช่วยให้เข้าใจโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมทั้งของสุนัขและคนได้ดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น