เอพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ผลการศึกษาล่าสุดระบุมหาสมุทรทั่วโลกต้องรองรับ “ขยะพลาสติก” ซึ่งมีปริมาณมหาศาลถึงเกือบ 270,000 ตัน หรือเท่ากับจำนวนรถบรรทุกขยะมากกว่า 38,500 คัน
ผลการศึกษาล่าสุดโดยทีมนักวิจัยจากองค์กร “5 Gyres” ซึ่งมีฐานอยู่ในสหรัฐอเมริกา และมีการตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านวารสารวิทยาศาสตร์ “พลอส วัน” เมื่อวันพุธ (10 ธ.ค.) ที่ผ่านมา ระบุว่าในขณะนี้มีขยะพลาสติกจำนวนสูงถึงเกือบ 270,000 ตันหรือเท่ากับรถบรรทุกขยะ 38,500 คัน ลอยเท้งเต้งอยู่ในมหาสมุทรต่างๆ ทั่วโลก
ทีมวิจัยระบุว่า หากนำขยะพลาสติกจำนวนดังกล่าวมาแยกออกเป็นชิ้นๆ ก็จะได้ขยะที่มีจำนวนมหาศาล “เกินกว่า 5 ล้านล้านชิ้น” โดยมหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ น่านน้ำรอบทวีปแอนตาร์กติกาและมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ ถือเป็นน่านน้ำที่เผชิญกับวิกฤตขยะพลาสติกในระดับที่รุนแรงมากกว่าน่านน้ำส่วนอื่นๆ ของโลก
ด้าน ดร.มาร์คุส เอริคเซน หนึ่งในทีมวิจัยในการศึกษาครั้งนี้เปิดเผยว่า ขยะพลาสติกปริมาณมหาศาลดังกล่าวจะส่งผลกระทบสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทร รวมถึงระบบนิเวศ และ “ห่วงโซอาหาร” ของมนุษย์อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ พร้อมเรียกร้องให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหานี้และเร่งร่วมมือกันหาทางแก้ไข
อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยระบุว่า ปริมาณขยะพลาสติกเกือบ 270,000 ตันในรายงานของพวกเขา นับเฉพาะขยะพลาสติกที่ลอยอยู่บนผิวน้ำเท่านั้น ยังมิได้นับรวมขยะพลาสติกในส่วนที่จมลงสู่พื้นมหาสมุทรไปแล้ว