xs
xsm
sm
md
lg

รบ.ฟินแลนด์มีแผนจ่ายเงินเลี้ยงชีพพื้นฐาน แก่พลเมืองทุกรายเดือนละ 800 ยูโร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อเล็กซานเดอร์ สตุ๊บบ์ รัฐมนตรีคลังฟินแลนด์
เอเจนซีส์ / MGR online - ทางการฟินแลนด์ตกเป็นข่าวกำลังพิจารณาจ่ายเงินเลี้ยงชีพรายเดือน แบบไม่หักภาษีแก่พลเมืองทุกคนในประเทศของตนเดือนละ 800 ยูโร (ราว 31,065 บาท)

รายงานข่าวระบุว่า แผนการนี้ถูกเสนอโดยสถาบันประกันสังคมแห่งชาติของฟินแลนด์ (Kela) และอเล็กซานเดอร์ สตุ๊บบ์ รัฐมนตรีคลังฟินแลนด์ ที่ระบุ เงินรายได้พื้นฐานประเภทนี้สมควรถูกนำมาใช้แทนที่ระบบการจ่ายผลประโยชน์ด้านสวัสดิการรูปแบบอื่น ๆ ที่มีอยู่ทั้งหมด หวังเป็นแรงกระตุ้นให้ประชาชนฟินแลนด์ที่ว่างงาน ยอมหวนคืนสู่ตลาดแรงงานอีกครั้ง หลังจากที่อัตราการว่างงานในฟินแลนด์พุ่งสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และผู้ว่างงานส่วนใหญ่มักเลือกที่จะรอรับเงินช่วยเหลือหลากหลายรูปแบบจากรัฐบาล หรือหางานพาร์ตไทม์ แทนการขวนขวายกลับไปหางานประจำทำอีกครั้ง

แผนการตัดลดเงินช่วยเหลือรูปแบบอื่น ๆ ทั้งหมด และเหลือเพียงเงินเลี้ยงชีพขั้นพื้นฐาน ที่รัฐบาลจะจ่ายให้เป็นรายเดือนดังกล่าวของรัฐบาลฟินแลนด์ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี จูฮา ซิปิลา มีขึ้นหลังจากที่อัตราการว่างงานโดยรวมของประเทศนี้พุ่งทะลุ 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อัตราว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาวชาวฟินแลนด์ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ล่าสุด พุ่งสูงขึ้นแตะระดับ 22.7 เปอร์เซ็นต์ไปแล้ว

ขณะที่ผลการสำรวจความคิดเห็นเมื่อไม่นานมานี้ในฟินแลนด์โดยสถาบัน Kela พบว่า ประชากรฟินแลนด์เกือบ 69 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยกับรัฐบาลในการกำหนดอัตรารายได้พื้นฐานแห่งชาติดังกล่าว ที่คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2016 เป็นต้นไป ถึงแม้แนวทางนี้จะส่งผลให้รัฐบาลฟินแลนด์ต้องแบกรับภาระด้านงบประมาณสูงถึง 46,700 ล้านยูโร ต่อปี

ก่อนหน้านี้เมื่อ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา อเล็กซานเดอร์ สตุ๊บบ์ รัฐมนตรีคลังฟินแลนด์ ระบุว่า รัฐสภาของประเทศตนจะเปิดการอภิปรายกันในปีหน้านี้ถึงประเด็นร้อนเรื่อง “Fixit” ที่เกี่ยวกับการก้าวออกจากกลุ่มยูโรโซนของฟินแลนด์ ก่อนจะมีการจัดลงประชามติเพื่อให้ประชาชนตัดสินชี้ขาดต่อไป


สตุ๊บบ์ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของฟินแลนด์ระหว่างปี 2014 จนถึงเมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้ เผยว่า รัฐสภาฟินแลนด์จะเปิดการหารือในปี 2016 ว่า ฟินแลนด์ควรก้าวออกจากกลุ่มยูโรโซน และการใช้เงินสกุลยูโรหรือไม่ หลังมีการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมในฟินแลนด์ ในการล่ารายชื่อประชาชนให้ ครบจำนวน 50,000 ราย ภายในเดือนมกราคมปีหน้า เพื่อบังคับให้รัฐสภาเปิดอภิปรายในประเด็นนี้ตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญและจะส่งผลให้ฟินแลนด์กลายเป็นประเทศแรกในจำนวน 19 ชาติสมาชิกของกลุ่มยูโรโซน ที่จะมีกระบวนการเช่นนี้เกิดขึ้น


ความเคลื่อนไหวล่าสุดมีขึ้นหลังจากที่มีการเปิดเผยตัวเลขทางเศรษฐกิจ ซึ่งยืนยันว่าเศรษฐกิจของฟินแลนด์ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ประสบภาวะหดตัว 0.6 เปอร์เซ็นต์ และทำให้เศรษฐกิจฟินแลนด์โดยรวมหดตัวไปแล้วถึง 6 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา สวนทางกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสวีเดน ซึ่งอยู่นอกกลุ่มยูโรโซน และสามารถมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องถึง 8 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาเดียวกัน


ที่ผ่านมา รัฐบาลสายกลาง-ขวา ของฟินแลนด์ ประสบปัญหาเรื้อรังในการสร้างสมดุลการเงินการคลัง รวมถึงล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อส่งออกของประเทศผ่านมาตรการต่าง ๆ ทางด้านแรงงานซึ่งรวมถึงการปรับลดจำนวนวันหยุดพักผ่อน และสวัสดิการต่าง ๆ ของแรงงาน แต่ถึงจะประสบปัญหาในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลฟินแลนด์ยังคงยืนกรานว่า จะยึดมั่นตามพันธะสัญญาของกลุ่มยูโรโซนและว่าจะยืนหยัดใช้เงินสกุลยูโรต่อไป


เมื่อไม่นานมานี้มีรายงานซึ่งจัดทำโดยกลุ่มนักวิชาการซึ่งมีจุดยืนต่อต้านสหภาพยุโรป และกลุ่มยูโรโซน ที่เรียกตัวเองว่า “EuroThinkTank of Finland” ระบุว่า การก้าวออกจากกลุ่มยูโรโซนอาจส่งผลเสียในระยะสั้น ๆ ให้ฟินแลนด์ต้องเผชิญกับภาวะของความไม่แน่นอนทางการเงิน โดยเฉพาะการที่ต้องละทิ้งเงินสกุลยูโรและการหวนกลับไปใช้เงินสกุลดั้งเดิมอย่างเงิน “มาร์กกา” แต่ในระยะยาวแล้วน่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของฟินแลนด์มากกว่า โดยนักวิชาการกลุ่มนี้เชื่อว่า การหันหลังให้ยุโรป น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของฟินแลนด์กลับไปสู่เส้นทางแห่งการเติบโตอย่างยั่งยืน ได้อีกครั้ง


ทั้งนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นที่มีการเปิดเผยเมื่อต้นเดือนนี้โดยสำนักวิจัย “Eurobarometer” ระบุว่า ชาวฟินแลนด์ 64 เปอร์เซ็นต์ ในเวลานี้ ยังคงหนุนหลังการใช้เงินสกุลยูโรและการเป็นสมาชิกของกลุ่มยูโรโซนต่อไป ลดลงจาก 69 เปอร์เซ็นต์ที่เห็นด้วยกับเรื่องเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น