เอเอฟพี / เอเจนซีส์ / MGR online - ผู้คนจำนวนหลายพันคนร่วมเดินขบวนในวันเสาร์ (28 พ.ย.) ในกรุงมาดริด เมืองหลวงของสเปนเพื่อต่อต้านการที่รัฐบาลสเปน อาจตัดสินใจใช้มาตรการทางทหารกับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในซีเรีย เพื่อเป็นการตอบโต้กลุ่มสุดโต่งนี้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุก่อวินาศกรรมกลางกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศสเมื่อ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นความท้าทายทางการเมืองครั้งสำคัญสำหรับนายกรัฐมนตรีมาริอาโน ราฮอย ผู้นำรัฐบาลแดนกระทิงดุที่กำลังจะต้องลงสู้ศึกเลือกตั้งใหญ่ในเดือนธันวาคมนี้ ถึงแม้เจ้าตัวจะย้ำว่ายังไม่มีการตัดสินใจใดๆ ในเรื่องนี้
รายงานข่าวซึ่งอ้างคณะผู้จัดการประท้วง ระบุว่า ผู้คนจากหลากหลายสาขาอาชีพจำนวนกว่า 6,000 คนได้เข้าร่วมการเดินขบวนต่อต้านสงครามในครั้งนี้ที่จัดขึ้นบริเวณด้านนอกพิพิธภัณฑ์เรนา โซเฟียในกรุงมาดริด โดยผู้ประท้วงส่วนใหญ่ต่างตะโกนข้อความ “No to war” เพื่อแสดงจุดยืนปฏิเสธสงครามและการใช้กำลังทหารของสเปนต่อสถานการณ์ในซีเรีย
ในความเป็นจริงแล้วมีรายงานว่า การรวมตัวประท้วงต่อต้านสงครามใจกลางเมืองหลวงของสเปนในคราวนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากกระแสการล่ารายชื่อประชาชนบนโลกออนไลน์จำนวนหลายหมื่นคนของบรรดาศิลปินและคนดังในแดนกระทิงดุหลายรายก่อนหน้านี้เพื่อแสดงการคัดค้าน หากรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีราฮอย ตัดสินใจเปิดการแทรกแซงทางทหารต่อกลุ่มรัฐอิสลามในซีเรีย
ประเด็นความขัดแย้งในซีเรียกำลังกลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าสำหรับรัฐบาลสายอนุรักษนิยมของราฮอยที่กำลังจะต้องลงสู้ศึกเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ โดยที่ล่าสุดนายกรัฐมนตรีราฮอย เองออกมาเปิดเผยว่า ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆในเรื่องนี้ และว่าการตัดสินใจต่างๆ ในเรื่องนี้จำเป็นต้องผ่านกระบวนการคิดพิจารณาอย่างดีและรอบคอบในทุกๆ มิติขณะที่รัฐบาลสเปนกำลังติดต่อประสานงานอย่างใกล้ชิดกับบรรดาชาติพันธมิตร เกี่ยวกับการกำหนดท่าทีและแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนต่อกลุ่มรัฐอิสลามในซีเรีย
ในอดีตสเปนเคยตกเป็นเป้าของการก่อวินาศกรรมโดยผู้ก่อการร้ายอิสลามิสต์มาแล้วเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2004 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปถึง 191 รายจากเหตุระเบิดรถไฟในกรุงมาดริด โดยเหตุนองเลือดในคราวนั้นถูกระบุว่า เป็นการตอบโต้ของกลุ่มก่อการร้ายต่อการที่รัฐบาลสเปนในยุคของนายกรัฐมนตรีโฮเซ มาเรีย อัซนาร์ ให้การสนับสนุนสหรัฐอเมริกาอย่างแข็งขันในสงครามบุกอิรักเมื่อปี 2003 ทั้งที่สาธารณชนชาวสเปนส่วนใหญ่แสดงจุดยืนคัดค้านในเรื่องนี้ และเป็นเหตุให้อัซนาร์ต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งทั่วไปในแดนกระทิงดุในเวลาต่อมา