เอพี / เอเจนซีส์ / MGR online - อัตราการว่างงานของญี่ปุ่นปรับลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่ถึงกระนั้นอัตราการใช้จ่ายของผู้บริโภคแดนปลาดิบและรายได้ของประชาชนก็ปรับลดลงด้วยเช่นกัน คาดตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ถูกเผยแพร่ออกมาล่าสุดในวันศุกร์ (27 พ.ย.) น่าจะช่วยให้รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เพิ่มแรงกดดันต่อภาคธุรกิจให้ปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานให้สูงขึ้น เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน หวังแก้ปัญหาความซบเซาของเศรษฐกิจญี่ปุ่น
ตัวเลขการว่างงานที่รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันศุกร์ (27) ระบุว่า อัตราการว่างงานในแดนปลาดิบที่ได้ชื่อว่ามีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่ 3 ของโลกและเป็นลำดับที่ 2 ของทวีปเอเชีย ได้ร่วงลงสู่ระดับ 3.1 เปอร์เซ็นต์ในเดือนตุลาคมลดลงจากระดับ 3.4 เปอร์เซ็นต์ในเดือนกันยายน โดยตัวเลขการว่างงานล่าสุดของญี่ปุ่นที่ระดับ 3.1 เปอร์เซ็นต์นั้น ถือเป็นระดับที่ต่ำเตี้ยที่สุดในรอบ 20 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี ค.ศ. 1995 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ดี ตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคในญี่ปุ่นได้ปรับร่วงลง 2.4 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว เช่นเดียวกับรายได้เฉลี่ยของชาวญี่ปุ่นที่ปรับลดลง 0.9 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในเดือนตุลาคมได้ปรับลดลง 0.1 เปอร์เซ็นต์เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน
ที่ผ่านมา ความสำเร็จของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบขนานใหญ่ที่ถูกขนานนามว่า “อาเบะโนมิกส์” ของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ถูกนำไปผูกติดยึดโยงอยู่กับการกระตุ้นให้ผู้บริโภคและบรรดาบริษัทเอกชนเพิ่มการใช้จ่ายเป็นสำคัญ
แต่เมื่อครอบครัวชาวญี่ปุ่นเลือกที่จะ “เก็บออม” มากกว่าใช้จ่าย และบรรดาภาคธุรกิจก็ไม่ยอมปรับขึ้นค่าจ้างแก่พนักงาน นโยบายกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเบะจึงกลายเป็นสิ่งที่ “ไร้ความหมาย” และกลายเป็นความท้าทายสำคัญของรัฐบาลโตเกียวในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ
ในสัปดาห์นี้ นายกรัฐมนตรีอาเบะได้วิงวอนต่อผู้นำภาคธุรกิจให้ปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานภายในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีหน้า เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะยอมตัดลดการเรียกเก็บภาษีจากภาคธุรกิจลงอย่างสำคัญ ท่ามกลางกระแสข่าวที่ระบุว่ารัฐบาลโตเกียวเตรียมปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเฉลี่ยอีก 3 เปอร์เซ็นต์ในปี 2016 จากระดับปัจจุบันที่ 798 เยนต่อชั่วโมง และตั้งเป้าเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นชั่วโมงละ 1,000 เยน ภายในปี ค.ศ. 2020 ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเพิ่ม “กำลังซื้อ” ให้แก่ผู้บริโภค