รอยเตอร์ / เอเจนซีส์ / MGR Online - มาร์ติน ค็อบเลอร์ ทูตพิเศษด้านลิเบียคนใหม่ขององค์การสหประชาชาติออกโรงเรียกร้องในวันอาทิตย์ (22 พ.ย.) ให้คู่ขัดแย้งในลิเบียเร่งให้ความเห็นชอบต่อการตั้ง “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” ตามข้อตกลงสันติภาพที่มีการเจรจากันไว้ก่อนหน้านี้
ทูตพิเศษด้านลิเบียคนใหม่ขององค์การสหประชาชาติซึ่งใช้เวลาตลอดช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาในการเดินสายเจรจากับคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายในลิเบียระบุว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลทั้งสองชุดในลิเบีย คือ รัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาชุดที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติซึ่งปัจจุบันย้ายไปปักหลักอยู่ทางตะวันออกของประเทศ กับรัฐบาล-รัฐสภาอีกชุดหนึ่งที่อ้างความชอบธรรมของตัวเองและเข้าครองอำนาจในกรุงตริโปลี จะต้องหันหน้าเข้าหากัน เพื่อปูทางไปสู่การตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติซึ่งจะเป็น “ก้าวแรก” ของกระบวนการสร้างสันติภาพที่ถาวรในลิเบียยุคหลังสิ้นสุด “ระบอบกัดดาฟี”
ความเคลื่อนไหวล่าสุดมีขึ้นหลังจากที่องค์การสหประชาชาติยืนยันเมื่อ 4 พ.ย. โดยระบุว่า มาร์ติน ค็อบเลอร์ นักการทูตชาวเยอรมัน จะเข้ารับหน้าที่ทูตพิเศษคนใหม่ของยูเอ็นด้านลิเบีย แทนที่เบร์นาร์ดิโน เลออน เจ้าของตำแหน่งคนเดิมซึ่งเป็นชาวสเปน ที่ตัดสินใจมุ่งหน้าสู่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เพื่อไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของวิทยาลัยการทูตเอมิเรตส์ที่อาบูดาบี ในเดือนธันวาคมนี้ ท่ามกลางกระแสข่าวเกี่ยวกับการขัดกันของผลประโยชน์ที่ระบุว่า เลออน ตัดสินใจยอมรับข้อเสนอที่มีค่าตอบแทนสูงลิ่วของทางการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในการเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของวิทยาลัยการทูตเอมิเรตส์ ตั้งแต่ที่เขายังทำหน้าที่ผลักดันกระบวนการสันติภาพในลิเบีย
ทั้งนี้ ลิเบียได้ถลำเข้าสู่ความวุ่นวายหลังเกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างหนัก ระหว่างรัฐบาลชุดที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติและสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งฝ่ายหนึ่ง กับอีกฝ่ายหนึ่ง คือ คณะผู้บริหารอีกชุดซึ่งอ้างว่าตนเองมีความชอบธรรมและเข้ายึดกรุงตริโปลี โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับการหนุนหลังทั้งจากกองกำลังชนเผ่า หรือกลุ่มนักรบอิสลามิสต์ที่แตกออกเป็นฝักฝ่าย
หลังการเจรจานานหลายเดือน เบร์นาร์ดิโน เลออน ในฐานะทูตพิเศษด้านลิเบียของยูเอ็น ได้เสนอแผนร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเพื่อความเป็นเอกภาพระหว่างคู่ขัดแย้งฝ่ายต่างๆ ในลิเบีย แต่ทว่าข้อเสนอนี้ได้รับการคัดค้านจากพวกที่มีแนวคิดสุดโต่งในรัฐบาลทั้งสองชุดที่ไม่ยอมรับข้อตกลงในการแชร์อำนาจ ส่งผลให้กระบวนการสันติภาพในลิเบียต้องหยุดชะงัก แม้เลออนจะย้ำว่า กระบวนการปรึกษาหารือระหว่างคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายยังคงดำเนินต่อไป
ความขัดแย้งที่กลายเป็นวิกฤตทางการเมือง ที่ทำให้อดีตดินแดนที่มั่งคั่งไปด้วยทรัพยากรน้ำมันทางตอนเหนือของทวีป แอฟริกาแห่งนี้สุ่มเสี่ยงต่อการล่มสลาย มีต้นตอมาจากการที่ระบอบการปกครองที่เข้มแข็งของมูอัมมาร์ กัดดาฟีที่เป็นฝ่ายกุมอำนาจในลิเบียมายาวนาน ถูกโค่นอำนาจลงเมื่อปี 2011 โดยความเคลื่อนไหวที่มีสหรัฐฯ และชาติตะวันตกหนุนหลัง ส่งผลทำให้กลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์กลุ่มต่างๆ ได้ฉวยโอกาสแผ่ขยายอิทธิพลเข้าแทนที่
ทั้งนี้ มาร์ติน ค็อบเลอร์ จากเยอรมนีไม่ถือเป็นคนแปลกหน้าแต่อย่างใดสำหรับภารกิจสุดหินขององค์การสหประชาชาติ เนื่องจากที่ผ่านมานักการทูตอาวุโสจากเมืองเบียร์ผู้นี้เคยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำภารกิจรักษาสันติภาพของยูเอ็น ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกมาแล้ว ตลอดจนเคยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ทูตพิเศษของยูเอ็นด้านอิรัก และผู้ช่วยผู้แทนพิเศษของยูเอ็นในอัฟกานิสถานมาก่อน