เอเจนซีส์ / MGR online - มาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) ประกาศจะดำเนินทุกมาตรการที่จำเป็นเพื่อฉุดรั้งเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซน หรือกลุ่ม 19 ประเทศที่ใช้เงินยูโร เป็นเงินตราสกุลหลักร่วมกันให้หลุดพ้นจากภาวะ “เงินฝืด” ตลอดจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เปราะบางและอ่อนเปลี้ยที่สุด นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 เป็นต้นมา
ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในเวทีการประชุม “ยูโรเปียน แบงกิง คองเกรสส์” ที่นครแฟรงก์เฟิร์ต เมืองศูนย์กลางด้านการเงินของเยอรมนี ประธานอีซีบีซึ่งเป็นชาวอิตาลี กล่าวเตือนว่า กลุ่มยูโรโซนกำลังเผชิญความเสี่ยงที่สูงยิ่งหลายประการซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของกลุ่มอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งหนึ่งในความเสี่ยงเหล่านี้ ครอบคลุมถึงภาวะเงินฝืด และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบทุลักทุเลและอ่อนเปลี้ยที่สุดนับตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา
ดรากียอมรับว่าในเวลานี้ตัวเลขเงินเฟ้อของ 20 ประเทศกลุ่มยูโรโซนยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำเตี้ยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ คือ “เฉียด 2 เปอร์เซ็นต์” ถึงแม้ทางอีซีบีจะพยายามแก้ปัญหาด้วยการออกโปรแกรมซื้อพันธบัตร ที่มีมูลค่าสูงถึง “1.1 ล้านล้านยูโร” เพื่อหวังดันดัชนีราคาผู้บริโภคให้พุ่งสูงขึ้นและแก้ปัญหา “เงินฝืด” แล้วก็ตาม
ก่อนหน้านี้ ทางธนาคารกลางยุโรปประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ด้วยการซื้อพันธบัตรในอัตรา “60,000 ล้านยูโรต่อเดือน” แบบต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกันยายนปี 2016 เป็นอย่างน้อย แต่ทว่าตัวเลขเงินเฟ้อของกลุ่มยูโรโซนที่มีการเปิดเผยออกมาล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมยังคงอยู่ในระดับต่ำเตี้ยเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ดับความหวังในการกระตุ้นการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยูโรโซนที่ซบเซามานานจากพิษของปัญหาหนี้สินและการว่างงาน
“ถ้าเราพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรการต่างๆ ที่เป็นผลพวงมาจากนโยบายของเราในขณะนี้ยังไม่เป็นการเพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมาย เราก็พร้อมจะดำเนินทุกมาตรการที่มีความจำเป็นเพื่อเพิ่มระดับของเงินเฟ้อและการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในยูโรโซนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” ดรากี กล่าวเมื่อวันศุกร์ (20 พ.ย.) ที่นครแฟรงก์เฟิร์ต
ท่าทีล่าสุดของประธานธนาคารกลางยุโรปมีขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวลือที่แพร่สะพัดก่อนหน้านี้ว่า ทางอีซีบีเตรียมอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนแบบขนานใหญ่ในการประชุมใหญ่ช่วง “ต้นเดือนธันวาคม” นี้ ซึ่งอาจรวมถึงการหั่นอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมของอีซีบีลงอีก จากระดับปัจจุบันที่ 0.05 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์แล้ว
อย่างไรก็ดี กระแสข่าวเรื่องการอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของทางอีซีบีต่อกลุ่มประเทศยูโรโซนได้รับการท้วงติงจากเยนส์ ไวด์มันน์ ประธานธนาคารกลางของเยอรมนี (บุนเดสบังก์) ที่ระบุว่า ถือเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่งยวดที่ประเทศต่างๆในยุโรป จะปล่อยตัวเองให้ “หลงระเริงและคุ้นชินกับการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ” เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น จนละเลยแนวทางแห่งการปฏิรูปที่มีความจำเป็นต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ทั้งนี้ ปัญหาเงินฝืดกำลังกลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการฟื้นตัวของ 19 ประเทศสมาชิกกลุ่มยูโรโซน ที่ในเวลานี้กำลังต้องการปัจจัยใหม่ๆ เพื่อเร่งฟื้นฟูความต้องการสินค้าและบริการต่างๆ ภายในประเทศ ที่จะนำไปสู่การจับจ่ายใช้สอยเพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาและแก้ปัญหาการว่างงาน