xs
xsm
sm
md
lg

UN เตือน ผลพวงปรากฏการณ์ “เอล นินโญ” จะทำผู้คนในแอฟริกาตะวันออก อดอยากหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ / MGR online – องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกโรงเตือนผ่านรายงานฉบับล่าสุดในวันพฤหัสบดี ( 12 พ.ย.) ระบุ จำนวนของผู้คนที่ต้องเผชิญกับความอดอยาก ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก โดยเฉพาะในดินแดนที่ประสบกับภาวะภัยแล้งซ้ำซากอย่างเอธิโอเปีย มีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างสำคัญ จากผลกระทบที่เกิดจากปรากฏการณ์ “เอล นินโญ” ที่ทำให้ภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงรุนแรงของสภาพอากาศแบบสุดขั้ว ทั้งฝนทิ้งช่วงและภาวะน้ำท่วมฉับพลันในเวลาเดียวกัน

รายงานฉบับล่าสุดของสหประชาชาติระบุว่า ภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารของภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกมีแนวโน้มเลวร้ายลงในช่วงหลายเดือนนับจากนี้ จากผลกระทบของปรากฏการณ์เอล นินโญ โดยประเทศที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ เอธิโอเปีย

รายงานของยูเอ็นระบุว่าภายในช่วงต้นปี 2016 จำนวนของผู้คนในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกที่จะต้องเผชิญกับภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร และจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมคาดว่าจะเพิ่มจำนวนเป็นกว่า 32.1 ล้านคน

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) รายงานว่า จำนวนผู้คนที่ประสบภาวะอดอยากในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก จากผลพวงของการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงของสภาพอากาศมีจำนวนกว่า 18.5 ล้านคน แต่เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านมาอีก 6 เดือน ปรากฏว่า ตัวเลขผู้คนที่อดอยากในภูมิภาคดังกล่าวได้เพิ่มจำนวนสูงขึ้นเป็นกว่า 25.3 ล้านรายแล้ว

ข้อมูลจากรายงานล่าสุดของยูเอ็นยังเตือนว่า ประเทศในแอฟริกาตะวันออกอย่างซูดาน เอริเทรีย เอธิโอเปียและฌีบูติ มีแนวโน้มจะต้องเผชิญกับภาวะความแห้งแล้งที่รุนแรงมากกว่าปกติโดยเฉพาะในเอธิโอเปียที่คาดว่าจะมีผู้คนราว 8.2 ล้านคน ต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินด้านอาหาร

ขณะที่ประเทศร่วมภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกอย่างเคนยา โซมาเลีย และยูกันดา มีโอกาสสุ่มเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วมฉับพลัน รวมถึงดินถล่ม ซึ่งผลกระทบที่ว่านี้ได้เริ่มเกิดขึ้นแล้วในโซมาเลียที่มีประชากรมากกว่า 450,000 ราย ที่ต้องอพยพออกจากบ้านเรือนของตนในปีนี้ เพราะเหตุน้ำท่วม

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์เอล นินโญ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะที่อุณหภูมิผิวน้ำของมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันออกอุ่นขึ้นกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศที่รุนแรงไปทั่วโลก โดยเฉพาะภาวะแล้งจัดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียในปีนี้ สวนทางกับทวีปอเมริกาใต้ที่ต้องเผชิญภาวะฝนตกหนัก