xs
xsm
sm
md
lg

In Pics : บราซิลสั่งปิดเหมืองแร่ต้นตอ “เขื่อนแตก” ท่วมชุมชน-ชาวบ้านยังสูญหายอีก 20 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ทางการบราซิลมีคำสั่งเมื่อวันจันทร์ (9 พ.ย.) ให้ปิดเหมืองแร่เหล็กที่เป็นกิจการร่วมทุนระหว่าง 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ บีเอชพี บิลลิตัน และวาเล หลังเขื่อนซึ่งใช้กักเก็บน้ำเสียและกากแร่จากเหมืองแห่งนี้แตกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

หน่วยกู้ภัยพบผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 4 ราย สูญหายอีกราวๆ 20 คนที่หมู่บ้านเบนโตโรดริเกวซ หลังกำแพงเขื่อนของเหมืองซามาร์โกแตกทลาย ปลดปล่อยน้ำโคลนสีแดงไหลลงมาท่วมทับหมู่บ้านเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (5)

โฆษกหญิงของสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งรัฐมินาสเกไรส์ (Minas Gerais) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิล ระบุว่า เหมืองซามาร์โกซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนระหว่างบริษัท วาเล ของบราซิล และ บีเอชพี บิลลิตัน สัญชาติออสเตรเลีย “จะกลับมาดำเนินงานได้อีกก็ต่อเมื่อกระบวนการสอบสวนสิ้นสุด และมีมาตรการซ่อมแซมความเสียหายแล้วเท่านั้น”

เจ้าหน้าที่ประจำรัฐสั่งปิดเหมืองตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้ว (6) เนื่องจากอุบัติเหตุครั้งนี้สร้างความเสียหายร้ายแรง อีกทั้งต้องมีการสอบสวนเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่

“ซามาร์โกได้รับอนุญาตให้ใช้มาตรการฉุกเฉิน เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาเขื่อนพัง และป้องกันมิให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติมเท่านั้น” สำนักงานสิ่งแวดล้อมแถลง

ราคาหุ้น 2 บริษัทเหมืองยักษ์ใหญ่ดิ่งรูดลงทันทีหลังเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันขึ้น

แม้จะเน้นหนักในเรื่องความปลอดภัย แต่คนงานเหมืองของบีเอชพีก็เสียชีวิตไปถึง 5 รายในรอบ 1 ปีจนถึงเดือนมิถุนายนปีนี้ ซึ่ง แอนดรูว์ แม็กเคนซี ซีอีโอของบีเอชพี ได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ไว้ในรายงานประจำปีที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ว่า “เป็นเรื่องน่าผิดหวัง”

นักวิเคราะห์จากธนาคารดอยช์แบงก์ เตือนว่า หายนะครั้งนี้อาจทำให้เหมืองซามาร์โกถูกปิดนานถึง 10 ปี และมีค่าใช้จ่ายในการเก็บกวาดฟื้นฟูชุมชนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“ผลกระทบที่มีต่อพนักงานและผู้รับเหมาของซามาร์โก ตลอดจนครอบครัวของพวกเขาและชุมชนโดยรอบ ไม่อาจบรรยายเป็นคำพูดได้” แจ็ก นัสเซอร์ ประธานบีเอชพี แถลง

“เราขอส่งความห่วงใยไปยังพนักงานเหมืองซามาร์โก รวมถึงชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และชาวบราซิลทุกๆ คนด้วย”

แม็กเคนซีประกาศจะเดินทางไปบราซิลในสัปดาห์นี้ “เพื่อรับทราบความเสียหายที่เกิดกับประชาชน สิ่งแวดล้อม และการดำเนินงานของเหมืองด้วยตนเอง”

เหมืองซามาร์โกซึ่งเป็นผู้ส่งออกแร่เหล็กอันดับ 10 ของบราซิล มี บีเอชพี และ วาเล ถือหุ้นอยู่บริษัทละ 50%

เหมืองแร่แห่งนี้ไม่ได้ติดตั้งไซเรนเพื่อเตือนคนในชุมชนให้ทราบเมื่อเกิดอุบัติเหตุ อย่างเช่นกรณีเขื่อนแตกครั้งนี้

โฆษกฝ่ายบริหารรัฐมินาสเกไรส์ ระบุว่า เหตุการณ์เขื่อนแตกทำให้ชาวบ้านกว่า 600 คนต้องไร้ที่อยู่อาศัย ขณะที่สื่อบราซิลรายงานว่าโคลนกากแร่ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองอาจส่งผลให้ประชากรกว่า 500,000 คนที่ใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคได้รับอันตรายจากสารพิษปนเปื้อน








กำลังโหลดความคิดเห็น