เอเอฟพี - พรรคยุติธรรมและการพัฒนา (AKP) ของประธานาธิบดีรีเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน แห่งตุรกี คว้าชัยชนะถล่มทลายในศึกเลือกตั้งรัฐสภาครั้งที่ 2 ในรอบ 5 เดือนเมื่อวานนี้ (1 พ.ย.) โดยสามารถกวาดที่นั่ง ส.ส. ได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาแบบหักปากกาโพลแทบทุกสำนัก
ผลการนับคะแนนที่เสร็จสิ้นเกือบทุกหน่วยเลือกตั้งพบว่า พรรคเอเคพีของ เออร์โดกัน ได้คะแนนเสียงราว 49.4% กวาดที่นั่ง ส.ส.ได้ถึง 316 จากทั้งหมด 550 ที่นั่งในรัฐสภา ซึ่งมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว
“วันนี้คือวันแห่งชัยชนะ” นายกรัฐมนตรีอาเหม็ต ดาวูโตกลู แห่งตุรกี กล่าวต่อบรรดาผู้สนับสนุนซึ่งส่งเสียงเชียร์ด้วยความดีอกดีใจ พร้อมทั้งวิงวอนให้ทุกฝ่ายสมัครสมานสามัคคีกันในยามที่พวกเคิร์ดและนักรบญิฮาดก่อเหตุโจมตีหนักข้อขึ้น ตลอดจนร่วมกันฝ่าฟันปัญหาเศรษฐกิจ และกระแสวิจารณ์เรื่องการใช้อำนาจแบบเผด็จการของเออร์โดกัน
ผลการนับคะแนนที่ออกมาสร้างความตกตะลึงไม่น้อย เพราะโพลหลายสำนักก่อนหน้านี้บ่งบอกไปในทางเดียวกันว่า พรรคเอเคพีน่าจะได้คะแนนเสียงเพียงราวๆ 40% ไม่แตกต่างจากผลเลือกตั้งเมื่อเดือนมิถุนายนมากนัก มิหนำซ้ำอาจสูญเสียที่นั่งส่วนใหญ่ในสภาเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี
ผลการเลือกตั้งวานนี้ (1) ยังถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่สำหรับ เออร์โดกัน วัย 61 ปี ซึ่งต้องการขยายบทบาทหน้าที่ของตนให้มีอำนาจครอบคลุมคล้ายกับประธานาธิบดีของสหรัฐฯ
นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ชาวตุรกีส่วนใหญ่ตัดสินใจไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครจากพรรคชาตินิยมและพรรคของพวกเคิร์ด
“เออร์โดกันอาศัยช่วงเวลาที่ตุรกีเผชิญเหตุโจมตีบ่อยครั้งผลักดันตนเองให้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง” ไอกัน เออร์เดมีร์ นักวิเคราะห์จากมูลนิธิเพื่อกลาโหมและประชาธิปไตย (FDD) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และอดีต ส.ส.ฝ่ายค้านตุรกีกล่าว
ระหว่างการหาเสียง เออร์โดกันประกาศว่าตนและนายกรัฐมนตรีอาเหม็ต ดาวูโตกลู เท่านั้นที่จะสามารถรับรองความมั่นคงของตุรกีได้ พร้อมเผยแพร่สโลแกนที่ว่า “จะเอาผม หรือจลาจล” (It’s me or chaos.)
สถาบันคลังความคิดบรุกกิงส์เตือนว่า ไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะ “ตุรกีก็กำลังเผชิญความสุ่มเสี่ยงเพิ่มขึ้นทุกวัน” พร้อมชี้ว่า วิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับชาวเคิร์ด ปัญหาเศรษฐกิจ และผลกระทบจากสงครามกลางเมืองในประเทศเพื่อนบ้านอย่างซีเรีย คือปัญหาใหญ่ที่สุดที่จะต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว
ความแตกแยกทางเชื้อชาติและศาสนาที่รุนแรงขึ้นส่งผลให้ภูมิทัศน์การเมืองของตุรกีเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีนี้ ขณะที่การโจมตีของกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ก็ยิ่งทำให้กรุงอังการาถูกดึงเข้าไปพัวพันกับปัญหาซีเรียอย่างยากที่จะเลี่ยง ทั้งในด้านการรองรับผู้ลี้ภัยกว่า 2 ล้านคน และความไม่ลงรอยกับชาติพันธมิตรนาโตอื่นๆ