รอยเตอร์ - ชาวตุรกีออกไปใช้สิทธิลงคะแนนวันนี้ (1 พ.ย.) ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาก่อนกำหนดวาระ ภายใต้เงาทะมึนของการนองเลือดภายในชาติซึ่งกำลังแผ่ขยายลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนความวิตกเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงทุกที โดยที่เห็นกันว่าการโหวตคราวนี้อาจเป็นตัวตัดสินทิศทางอนาคต ทั้งของประเทศที่เกิดการแตกขั้วแบ่งแยกอย่างรุนแรงแห่งนี้ และทั้งของประธานาธิบดีทัยยิป เออร์โดกัน
การลงคะแนนคราวนี้เป็นการโหวตเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งที่ 2 ในรอบระยะเวลา 5 เดือน หลังจากการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน พรรคเอเค (AK Party) ซึ่งก่อตั้งโดยเออร์โดกัน ต้องสูญเสียที่นั่งเสียงข้างมากซึ่งเคยครอง อันทำให้สามารถขึ้นปกครองประเทศเป็นรัฐบาลพรรคเดียวมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มขึ้นสู่อำนาจครั้งแรกในปี 2002
มิหนำซ้ำนับตั้งแต่ความเพลี่ยงพล้ำดังกล่าวเป็นต้นมา ปรากฏว่าข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่มหัวรุนแรงชาวเคิร์ดก็ได้พังทลายลง, สงครามในซีเรียที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านยิ่งเลวร้าย และตุรกี ที่มีฐานะเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกองค์การนาโต ก็ถูกเล่นงานด้วยการโจมตีแบบระเบิดฆ่าตัวตายซึ่งเชื่อมโยงกับ “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) 2 ครั้งซ้อน ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 130 คน
พวกนักลงทุนและเหล่าพันธมิตรโลกตะวันตกต่างวาดหวังว่า การเลือกตั้งคราวนี้จะช่วยฟื้นฟูให้ตุรกีกลับคืนสู่เสถียรภาพ และเพิ่มความเชื่อมั่นในเรื่องเศรษฐกิจ รวมทั้งเปิดทางให้กรุงอังการาสามารถแสดงบทบาทอันทรงประสิทธิภาพมากขึ้น ในการสกัดกั้นผู้ลี้ภัยจากชาติเพื่อนบ้านของตุรกีซึ่งเกิดสงครามกลางเมือง มิให้ไหลทะลักเข้าสู่ยุโรป รวมทั้งในการช่วยเหลือทำสงครามกับพวกนักรบหัวรุนแรงไอเอส
การรณรงค์หาเสียงในคราวนี้ แทบไม่ค่อยมีการประดับธงทิว, แผ่นโปสเตอร์, ตลอดจนรถหาเสียงออกแล่นตระเวนไปมาตามท้องถนน เหมือนกับเมื่อช่วงก่อนหน้าการโหวตในเดือนมิถุนายน แต่เออร์โดกัน ก็วางแผนเตรียมการให้การลงคะแนนกันใหม่อย่างหงอยๆ ซึมๆ ครั้งนี้ เป็นโอกาสอันสำคัญในการผลักดันตุรกีคืนกลับสู่การปกครองแบบพรรคเดียวของ AKP หลังจากเผชิญความไม่แน่นอนทางการเมืองมาหลายเดือน
“ในการเลือกตั้งวันนี้เราสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เสถียรภาพนั้นให้ประโยชน์แก่ประเทศชาติของเราขนาดไหน และในวันนี้พลเมืองของเราจะทำการเลือกโดยคำนึงถึงสิ่งนี้” เออร์โดกันกล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังใช้สิทธิของเขาที่หน่วยเลือกตั้งในเขตคัมมิคา ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนที่อยู่ในเอเชียของนครอิสตันบูล
อย่างไรก็ตาม ผู้มีสิทธิออกเสียงคนอื่นๆ ซึ่งให้ความเห็นกับรอยเตอร์ ดูมีทัศนะแตกต่างกันอย่างรุนแรงในเรื่องที่ว่า ปรารถนาจะกลับไปสู่การปกครองแบบพรรคเดียว หรือต้องการรัฐบาลผสม
“สวัสดิการนิดๆ หน่อยๆ, เงื่อนไขชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น, บ้านหลังใหญ่ขึ้น และข้าวของเครื่องใช้น่าตื่นตาตื่นใจมากขึ้นที่พวกเรามีกันอยู่ เราทั้งหมดล้วนเป็นหนี้บุญคุณต่อ AKP และต่อเออร์โดกัน” นูรกัน กุนดุซ วัย 24 กล่าวที่สนามบินในกรุงอังการา
“แล้วดูสิ สภาพของประเทศหลังทราบผลการเลือกตั้ง 7 มิถุนายนแล้ว กระทั่งรัฐบาลผสมเราก็ยังไม่มีด้วยซ้ำ ผมไม่อยากคิดเลยว่าถ้าเกิดมีขึ้นมา อะไรๆ มันจะเลวลงกว่านี้แค่ไหน”
แต่สำหรับ ยาซาร์ วัย 62 ปี ผู้ใช้แรงงานเกษียณอายุซึ่งบัดนี้ทำงานเป็นคนขัดรองเท้าที่บริเวณด้านนอกมัสยิดแห่งหนึ่งในย่านอุสคูดาร์ อันเป็นย่านอนุรักษนิยมของนครอิสตันบูล เขาบอกว่าเขาเปลี่ยนมาลงคะแนนให้พรรค CHP ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านสำคัญที่สุด ด้วยความหวังว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลผสม
“ผมไม่เอาแล้วพรรค AKP” เขากล่าว “พรรคที่ซื่อสัตย์จริงใจคือ CHP ประเทศชาติต้องการเยียวยาบาดแผลของตนเอง และรัฐบาลผสมคือหนทางที่ดีที่สุด”
ชาติพันธมิตรตะวันตกบางราย, รวมทั้งนักลงทุนต่างชาติและชาวเติร์กบางส่วน ก็มองเห็นว่า การจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่าง AKP กับ CHP เป็นความหวังที่ดีที่สุด ในการลดทอนความแตกแยกภายในตุรกี และในการทัดทานสัญชาตญาณมุ่งเป็นเผด็จการรวบอำนาจของเออร์โดกัน
การลงคะแนนในวันนี้เริ่มต้นทางภาคตะวันออกของตุรกีในเวลา 07.00 น. (ตรงกับ 11.00 น. เวลาเมืองไทย) และอีก 1 ชั่วโมงถัดมาก็มีการเปิดให้ลงคะแนนในท้องที่อื่นๆ ทั่วประเทศ โดยที่หน่วยเลือกตั้งทุกแห่งปิดลงในเวลา 17.00 น. (21.00 น.เวลาเมืองไทย) ตามกฎหมายนั้นห้ามประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งครอบคลุมถึงการทำเอ็กซิตโพลด้วย ไปจนกว่าจะถึงเวลา 21.00 น. (01.00 น.วันจันทร์ เวลาเมืองไทย) ทว่าปกติแล้วคณะกรรมการการเลือกตั้งมักยกเลิกการห้ามนี้ก่อนถึงเวลาที่กำหนด
การเลือกตั้งคราวนี้ต้องรีบจัดขึ้นมาเมื่อพรรค AKP ไม่สามารถหาพรรคที่ได้คะแนนรองๆ ลงมาในการเลือกตั้งเดือนมิถุนายน เข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสม แต่พวกที่คอยวิพากษ์วิจารณ์เออร์โดกันมองว่า มันเป็นเกมการพนันของผู้นำที่กำลังถูกโจมตีจากหลายๆ ด้านผู้นี้ ด้วยความหวังที่จะอาศัยภาวะไม่ค่อยมีเสถียรภาพ มาทำให้ผู้ออกเสียงเปลี่ยนใจ หันกลับมาลงคะแนนให้พรรค จนกวาดเสียงสนับสนุนคืนมาอย่างเป็นกอบเป็นกำ กระทั่งในท้ายที่สุดจะได้สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้ประธานาธิบดีอย่างเขามีอำนาจบริหารเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย
อย่างไรก็ตาม ผลโพลหลายๆ ครั้งบ่งชี้ว่า ขณะที่ AKP ซึ่งมีรากเหง้าแบบอิสลามิสต์แต่ปัจจุบันมีแนวทางแบบกลาง-ขวา อาจจะได้เสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทว่า ผลเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ก็ไม่น่าแตกต่างอะไรมากจากในเดือนมิถุนายน ซึ่งพรรคนี้ได้คะแนนโหวต 40.9%
กระนั้นก็ตาม มีผลโพลเจ้าหนึ่งที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันพฤหัสบดี (29 ต.ค.) บ่งชี้ว่า AKP ได้คะแนนนิยมพุ่งขึ้นมาในตอนท้ายๆ และอาจได้เสียงโหวตถึง 47.2% ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็น่าจะเท่ากับพรรคจะได้ที่นั่งเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน 550 ที่นั่งในรัฐสภาอย่างสบายๆ
แต่ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร การแตกแยกแบ่งขั้วในตุรกี ระหว่างพวกอนุรักษนิยมเคร่งครัดศาสนา ซึ่งมองเออร์โดกันว่าเป็นฮีโร่ของชนชั้นผู้ใช้แรงงาน กับพวกนิยมรัฐฆราวาสแบบตะวันตกซึ่งระแวงความเป็นเผด็จการและอุดมคติแบบอิสลามิสต์ของเขา ก็ยังน่าที่จะดำรงอยู่ต่อไป
เห็นกันว่าหาก AKP ประสบความล้มเหลวอีกครั้งในการครองเสียงข้างมากในรัฐสภา ก็คงถูกบีบบังคับให้กลับเข้าสู่โต๊ะเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมกับ CHP ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านสายฆราวาสนิยม หรือไม่ก็พรรค MHP ที่เป็นพวกชาตินิยม
สำหรับพรรค HDP ที่เป็นพรรคโปรชาวเคิร์ด ซึ่งสามารถเข้าสู่รัฐสภาในฐานะของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งได้เป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน ได้ลดขนาดการรณรงค์เลือกตั้งของตนลงมา ภายหลังกลุ่มผู้สนับสนุนของตนตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีด้วยระเบิดฆ่าตัวตายในกรุงอังการา 2 ครั้งซ้อนๆ ทำให้มีผู้ถูกสังหารไปกว่า 130 คน
ในเวลาเดียวกัน ความรุนแรงระหว่างกองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลกับพวกหัวรุนแรงชาวเคิร์ด ก็ได้เข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเคิร์ด นับแต่ที่ข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดล้มคว่ำลงในเดือนกรกฎาคม ทว่า สำหรับในวันเลือกตั้งครั้งนี้ ยังไม่มีรายงานว่าภูมิภาคนี้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ