เอเจนซีส์ – ผลการลงคะแนนสภายุโรปในมติ 285 ต่อ 281 มีมติให้คุ้มครองไม่ต้องส่งตัว เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน วัย 32 ปี อดีตนักวิเคราะห์ข้อมูลหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ NSA กลับประเทศบ้านเกิดในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ภายใต้กฎหมายปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้ไม่ผลผูกพันบังคับให้ประเทศสมาชิกในกลุ่มอียูต้องปฎิบัติตามทันที
อัลญะซีเราะฮ์ รายงานเมื่อวานนี้(29)ว่า ในวันศุกร์(29) สภายุโรปได้พิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งต้องการให้มีความคุ้มครอง เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน วัย 32 ปี ที่กำลังหลบหนีการจับกุมตัวกลับสหรัฐฯในความผิดจารกรรมความลับของหน่วยงานต้นสังกัด NSA และนำมาสู่การแฉครั้งประวัติศาสตร์ โครงการปริซึม และรายงานการสอดแนมของสหรัฐฯต่อประเทศต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงผู้นำเยอรมัน อังเกลา แมร์เติล และผู้ฝรั่งเศส ฟร็องซัว ออล็องด์
โดยในที่ประชุมซึ่งจัดขึ้นที่เมืองสตราส์บูร์ก ฝรั่งเศส สมาชิกสภายุโรปได้ลงมติด้วยคะแนนเฉียดฉิว 285-281 เสียงในร่างกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการส่งตัวสโนว์เดนกลับสหรัฐฯในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน
แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้ไม่มีผลผูกพันบังคับประเทศสมาชิกอียูต้องปฎิบัติตามทันที
และนอกจากนี้ สมาชิกรัฐสภายุโรปยังเรียกร้องไปยังประเทศสมาชิกอียูทั้ง 28 ชาติได้มีคำสั่งยกเลิกคดีอาญาของสโนว์เดน และให้ภูมิคุ้มกันแก่สโนว์เดนทางกฎหมายในฐานะผู้เปิดเผยความลับเพื่อประโยชน์สาธารณะและตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยการไม่ต้องถูกส่งตัวไปให้กับประเทศที่ 3
ด้านสโนว์เดนที่ได้ทราบข่าว ได้ทวีตข้อความยินดีกับมติครั้งประวัติศาสตร์ของสภายุโรปล่าสุด โดยกล่าว ถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ซึ่งในขณะนี้ นักแฉวัย 32 ปี กำลังลี้ภัยอยู่ในกรุงมอสโก รัสเซีย
สื่อกาตาร์รายงานเพิ่มเติมว่า ในเดือนนี้ศาลสูงยุโรปได้มีมติว่า การแชร์ข้อมูลร่วมกับสหรัฐฯนั้นไม่มีความชอบธรรม เพราะไม่สามารถคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพพลเมืองอียูได้อย่างสมบูรณ์
ทั้งนี้การแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลที่เรียกว่า “Safe Harbor”ทำให้บริษัทต่างๆในสหรัฐฯ เช่น เฟสบุ๊ก สามารถเก็บข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าในกลุ่มประเทศสมาชิกอียูในแผ่นดินอเมริกาได้
และทำให้ในวันพฤหัสบดี(29)รัฐสภายุโรปได้ออกมาแสดงความเห็นด้วยต่อการตัดสินของศาลยุโรปในครั้งนี้ “คำตัดสินที่ออกมาได้ยืนยันถึงจุดยืนที่แน่วแน่มาอย่างยาวนานของรัฐสภายุโรปที่เห็นว่า ยังไม่มีมาตรการที่รัดกุมมากพอที่จะคุ้มครองสิทธิพลเมืองยุโรปได้”
และรัฐสภายุโรปได้กดดันต่อไปที่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป และผู้บริหารยุโรปให้หามาตรการที่สามารถรับรองว่า ข้อมูลส่วนตัวของพลเมืองอียูที่ถูกเก็บในสหรัฐฯนั้นจะมีความปลอดภัยเทียบเท่ากับที่ใช้ในสหภาพยุโรป