xs
xsm
sm
md
lg

ฮือฮา!! พบ “ลูกสิงโตถ้ำยูเรเชีย” สูญพันธุ์ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 10,000 ปี สภาพขนยังครบทุกเส้นในไซบีเรียตะวันออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพฟอสซิลลูกสิงโตถ้ำยูเรเชีย (ขอขอบคุณภาพประกอบจากไซบีเรียไทม์ส์)
เอเจนซีส์ – นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิทยาศาสตร์สาธารณรัฐซาฮา(ยาคูตียา)ในไซบีเรียตะวันออกของรัสเซีย เปิดเผยเป็นครั้งแรกในโลกถึงภาพที่น่าตะลึงของฟอสซิลลูกสิงโตถ้ำยูเรเชีย 2 ตัวที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ คาดว่าน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 10,000 ปี อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งมีสภาพคล้ายกับนอนหลับไปเท่านั้น การพบล่าสุดนี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์หวังว่าจะช่วยไขปริศนาลึกลับถึงสาเหตุการสูญพันธุ์ของสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์ประเภทนี้

RT สื่อรัสเซีย รายงานเมื่อวานนี้(27) ถึงการค้นพบเป็นครั้งแรกของโลกถึงฟอสซิลลูกสิงโตถ้ำยูเรเชีย 2 ตัวที่สูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ ที่คาดว่าน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 10,000 ปีอยู่ในสภาพสมบูรณ์ โดยที่มีขนยังติดอยู่โดยนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์สาธารณรัฐซาฮา(ยาคูตียา)ในไซบีเรียตะวันออกของรัสเซีย ซึ่งภาพได้ถูกเผยแพร่อย่างเป็นทางการในวันจันทร์(26)ที่ผ่านมา

สื่อรัสเซียรายงานเพิ่มเติมว่า ฟอสซิลของลูกสิงโตถ้ำยูเรเชียทั้งสองตัวนี้มีกำหนดการที่จะถูกจัดแสดงให้สื่อและทั่วโลกชมพร้อมกับการค้นพบสัตว์ยุคน้ำแข็งอื่นๆในปลายเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้จากความร่วมมือของสถาบันวิทยาศาสตร์สาธารณรัฐซาฮาและสื่อรัสเซีย ไซบีเรียไทม์ส

ทั้งนี้ในการตรวจสอบเบื้องต้นด้านจุลชีววิทยาของซากฟอสซิลทั้งสอง นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบแถลงว่าลูกสิงโตถ้ำยูเรเชียทั้งสองไม่มีเชื้อโรคร้าย เช่น เชื้อแอนแทรกซ์

และการค้นพบครั้งใหม่จะช่วยให้นักโบราณคดียุคก่อนประวัติทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของการสูญพันธุ์ของสิงโตถ้ำยูเรเชีย ซึ่งในปัจจุบันนี้ทฤษฎีที่ใช้อ้างมากที่สุดชี้ว่า การสูญพันธุ์เกิดขึ้นเนื่องมาจากการลดจำนวนอย่างรวดเร็วของกวาง และหมีถ้ำ

สื่อรัสเซียรายงานเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามการค้นพบลูกสิงโตถ้ำยูเรเชียนี้เกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมาในยาคูตียา หรือสาธารณรัฐซาฮา ไซบีเรียตะวันออก ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองที่มีชาวรัสเซียเชื้อสายเอเชียอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นที่สุด

ยาคูตียาถือเป็นดินแดนน้ำแข็งที่หนาวเย็นที่สุดในรัสเซีย โดยมีเมืองยาคุตส์ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่หนาวเย็นที่สุดในโลก โดยมีอุณหภูมิในหนาวต่ำสุดถึง -50 และยังเคยมีการค้นพบซากฟอสซิลลูกช้างแมมมอธที่สมบูรณ์ที่สุดมาแล้ว และได้จัดแสดงซากฟอสซิลลูกช้างแมมมอธในญี่ปุ่นในกลางปี 2013

RT รายงานเพิ่มเติมต่อว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการค้นพบซากบางส่วนของฟอสซิลสิงโตถ้ำยูเรเชียแค่ส่วนกะโหลก หรือกระดูก เท่านั้น แต่กระนั้นการค้นพบซากฟอสซิลเหล่านั้นเกิดขึ้นน้อยครั้งมาก ดังนั้นจึงถือเป็นเรื่องที่น่ามหัศจรรย์ในการค้นพบฟอสซิลสมบูรณ์ของลูกสิงโตถ้ำยูเรเชียโคที่มีสภาพเกือบเหมือนกำลังนอนหลับ

ไซบีเรียไทม์สรายงานว่า สิงโตถ้ำยูเรเชียอยู่ในยุคเดียวกับช้างแมมมอธ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงกลางและปลายในยุคไพลสโตซีน (Pleistocene epoch)ในทวีปยูเรเชียที่จมไปแล้ว หรือนับตั้งแต่หมู่เกาะอังกฤษไปจนถึงเขตปกครองตนเองซูคอตตาทางตะวันออกไกลของรัสเซีย

นอกจากนี้ยังพบว่าสิงโตถ้ำยูเรเชียยังถูกพบในรัฐอะแสกา และทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคนาดา ซึ่งสายพันธุ์ที่ใกล้ชิดมากที่สุดของสิงโตถ้ำยูเรเชียคือ สิงโตแอฟโฟรเอเชียติก(Afro-Asiatic lion)




ภาพช้างแมมอธ(ขอขอบคุณภาพประกอบจากไซบีเรียไทม์ส์)
ภาพจากเอเอฟพี นักวิทยาศาสตร์กำลังตรวจสอบฟอสซิลลูกช้างแมมมอธที่ขุดได้ในไซบีเรีย
กำลังโหลดความคิดเห็น